02 149 5555 ถึง 60

 

ปอดและอาการ LONG COVID ที่ควรรู้ (ตอนที่ 1)

LUNG & LONG COVID SYNDROME

ปอดและอาการ LONG COVID ที่ควรรู้ (ตอนที่ 1)

เรื่องพิเศษ เรื่องโดย... ศิริกร โพธิจัทร

ตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลโควิดระบุว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อโควิดสะสมรวมประมาณ 2.4 ล้านทั่วประเทศ ในจำนวนนี้หลายท่านอาจไม่ทรายว่าตนเองมีอาการหลังติดเชื้อโควิดหรือ Long COVID Syndrome

ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านที่อาจจะเป็นคนกลุ่มนี้หรือกำลังดูแลคนใกล้ตัวที่เป็นคนกลุ่มนี้อยู่ ชีวจิต ขอนำเสนอข้อมูลที่รวบรวมจากการพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งแผนปัจจุบัน แผนไทยและแผนจีนมาฝากค่ะ

DATA FROM THAI PATIENTS

ข้อมูลผู้ป่วยโควิดปอดอักเสบในไทย

แพทย์หญิงเปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลในการรักษาโควิดระลอกแรกของกลุ่มคนไข้ที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงพบว่า เมื่อผ่านไป 6 เดือน - 1 ปีจะเหลือรอยโรคที่ปอดประมาณร้อยละ 5-10 โดยไม่มีผลต่อการทำงานของปวด ร่างกายยังทำงานได้ปกติ

ต่อมาในการเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยโควิดที่มีอาการปอดอักเสบในการระบาดระลอกที่ 2 พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงใกล้เคียงกันกับกลุ่มแรก ปอดจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยระยะเวลาที่สั้นเกินไป จึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าร่องรอยของพังผืดจะหลงเหลืออยู่มากขนาดไหนหลังจากผ่านไปแล้ว 1 ปี

ทั้งนี้แพทย์หญิงเปี่ยมลาภอธิบายว่า อาการอักเสบข้างต้นไม่เรียกว่าเป็นภาวะ Long COVID เพราะภาวะนี้ไม่ได้ทำให้ปอดอักเสบเพิ่มขึ้น

ส่วนการป้องกันภาวะ Long COVID ทำได้โดยออกกำลังกายเบาๆ หลีกเลี่ยงความเครียด ส่วนแนวทางการรักษาจะเป็นการรักษาไปตามอาการ

นอกจากนี้อาการได้รับวัคซีนตามที่แพทย์แนะนำจะช่วยลดโอกาสติดเชื้อ หรือเมื่อติดเชื้อโควิด อาการไม่รุนแรง ไม่มีภาวะปอดอักเสบ และลดโอกาสรับยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสภาวะ Long COVID ได้

แพทย์หญิงเปี่ยมลาภทิ้งท้ายว่า ในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเก็บข้อมูล โดยที่ผ่านมาพบว่าอาการที่ผู้ป่วยโควิดที่รักษาหายแล้วมักจะมาปรึกษาแพทย์ ร้อยละ 20-30 ระบุว่ายังมีอาการอ่อนเพลียอยู่

MEET THE LUNG EXPERT

คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า ถ้าผู้ที่หายป่วยจากโควิดมีอาการเหนื่อย เพลีย ล้า โดยที่ไม่ได้ออกแรงทางกายมาก อยากให้ลองมาพบแพทย์และแจ้งว่าตนเองเคยติดเชื้อโควิด เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด

“สาเหตุเพราะเราจะได้รู้แน่ชัดว่านี่คืออาการเหนื่อยหรืออาการที่เกิดจากสมรรถภาพปอดผิดปกติ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการ Long COVID Syndrome

“ปัจจุบันเรากำลังรวบรวมข้อมูลในประเทศไทยอยู่ แต่ถ้าไปดูข้อมูลในต่างประเทศจะพบว่าผู้ที่มีความผิดปกติที่ปอดหลังหายป่วยจากการติดเชื้อโควิดมีปริมาณไม่มาก ส่วนใหญ่พบในกลุ่มที่เข้าห้องไอซียูและกลุ่มที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ High Flow (High Flow Nasal Cannula)

“ที่ผ่านมาเรามีผู้ป่วยโควิดที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประมาณร้อยละ 1-2 ของผู้ป่วยโควิด อีกข้อหนึ่งคือ หากผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบากหลังหายจากโควิดภายใน 3 เดือนและไม่มีอาการอื่นจากนั้นอีก ถือว่ายังไม่เข้าเกณฑ์ผู้ที่มีอาการ Long COVID

“เมื่อพิจารณาจาก 2 ปัจจัยที่ระบุไปแล้ว เราจึงพบว่าคนไข้ที่มีอาการ Long COVID ที่ปอดจริงๆ เช่น มีเนื้อปอดเสียหาย ปอดเป็นพังผืด พบประมาณ 1 ใน 10,000 คนของผู้ที่ป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการรุนแรง

“ดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ ตอนนี้อยู่ที่ 2 ล้านเศษๆ ถ้าคิดเป็นตัวเลขกลมๆ คือ 3 ล้าน ดังนั้นจะมีผู้ป่วย Long COVID ที่มีอาการที่ปอดประมาณ 300 คน”

LOOK CLOSELY

เจาะลึกความเสียหายที่ปอด

เกิดอะไรขึ้นกับปอดในผู้ป่วย Long COVID ที่มีอาการรุนแรง รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์ตอบคำถามนี้ว่า

“เมื่อเกิดการอักเสบรุนแรงที่ปอด เนื้อปอดจะกลายเป็นพังผืน ดังนั้นเนื้อที่ของปอดที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์จึงลดลง มีตั้งแต่ร้อยละ 20 ร้อย 30 ร้อยละ 40 ร้อยละ 50 หรือมากกว่านั้น

“ถ้าพื้นที่ปอดลดลงถึงร้อยละ 50 จะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เดินไปเดินมาในบ้าน เดินขึ้นบันไดแค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว สังเกตได้ว่าเขาต้องหยุดพักและมีอาการหายใจแรง

“ลองใช้ที่วัดออกซิเจนปลายนิ้ววัดดูก็ได้ครับ ในคนไข้กลุ่มนี้ กรณีที่เนื้อปอดยังไม่เสียหายมาก เมื่อนั่งอยู่เฉยๆ แล้ววัดความอิ่มตัวของออกซิเจนปลายนิ้วอาจยังไม่ต่ำ

“แต่ถ้าเป็นรายที่เนื้อปอดเสียหายมาก เช่น ปอดเสียหายไปร้อยละ 60 เพียงแค่นั่งเฉยๆ ปริมาณออกซิเจนก็ต่ำแล้ว”

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์อธิบายเพิ่มเติมว่า

“ในกรณีที่ปอดเสียหายร้อยละ 50 ถ้าคุณอยู่เฉยๆ ปริมาณออกซิเจนยังไม่ต่ำ แต่ถ้าเดินนิดหน่อย ใช้แรงเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดต่ำลงได้แล้ว ออกแรง 1-2 นาที ออกซิเจนจะตกจนรู้สึกเหนื่อยมากขึ้นอีก

“จากการประเมินข้างต้นที่เราระบุว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีประมาณ 300 คน แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจมีการเสียชีวิตได้ เพราะผลจากความเสียหายของเนื้อปอดที่เกิดขึ้น ทำให้มีอาการปอดอักเสบแทรกซ้อนและติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย จึงป่วยง่ายขึ้น

“กรณีที่เนื้อปอดเสียหายร้อยละ 70 ขึ้นไปถือว่าเป็นบุคคลทุพพลภาพ เพราะต้องใช้ออกซิเจนตลอดเวลา เดินเองไม่ไหว จึงอาจต้องนั่งรถเข็น กรณีแบบนี้ที่ผมและทีมดูแลอยู่มีประมาณ 2-3 ราย”

(อ่านต่อตอนหน้า☺)

ชีวจิต ปีที่ 24 ฉบับที่ 561 เดือน 16 กุมภาพันธ์ 2565

25 March 2565

By STY/Library

Views, 819

 

Preset Colors