02 149 5555 ถึง 60

 

สองเซลล์ สามกลไก สี่หลักการ ต้านโควิด (ด้วยตนเอง) (ตอนที่ 4 จบ)

สองเซลล์ สามกลไก สี่หลักการ ต้านโควิด (ด้วยตนเอง) (ตอนที่ 4 จบ)

ก้าวทันสุขภาพ เรื่องโดย... นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน “ในเซลล์” อย่างไร ที่ทำได้ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

การสร้างภูมิคุ้มกัน “ในเซลล์” จากองค์ความรู้ตะวันตกที่มีในปัจจุบัน ได้แก่

เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ สร้างภูมิคุ้มกันแต่กำเนิดชนิดสายกรดอะมิโนต้านจุลินทรีย์ AMP ซึ่งทำหน้าที่ 4 อย่าง คือ

①เจาะรูเชื้อโควิด-19 และเชื้อถูกทำลายไป

②จับกับโปรตีนหนามของเชื้อและตัวรับบนเซลล์เยื่อบุหลอดลม ทำให้เชื้อโควิด-19 เกาะผิวและเข้าสู้เซลล์ไม่ได้

③ยับยั้งการแบ่งตัว ออกลูกออกหลานของเชื้อโควิด-19 “ในเซลล์”

④ควบคุมการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันแบบปรับตัวให้เหมาะสม สมดุล โดยหลักการ “ขับออก” ทางน้ำมูก น้ำตา นำลาย เสมหะ เหงื่อ ดังนั้น อาหาร เช่น พริก น้ำชาร้อน หรือกิจกรรมทางกาย เช่น ออกกำลังกาย ซาวน่าแห้ง (dry sauna) ที่ทำให้หลักการขับออกทำได้ดีขึ้น มากขึ้น ก็ส่งผลให้ AMP เพิ่มภูมิคุ้มกันในเซลล์ได้มากขึ้น

เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ เยื่อบุหลอดเลือด และเซลล์ภูมิคุ้มกันโรค สร้างภูมิคุ้มกันในเซลล์โดยกลไกการซ่อมแซมที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้เชื้อไม่สามารถแบ่งตัวและถูกย่อยสลายไป รีไซเคิลให้เซลล์กลับมาปกติ (autophagy) ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดได้ด้วยการอดอาหาร-เครื่องดื่ม 10-18 ชั่วโมงต่อวัน (fasting or time restricted feeding)

เซลล์ดังกล่าว สร้างภูมิคุ้มกันในเซลล์ได้โดยการย่อยสลายเซลล์ที่ถูกเชื้อโควิด-19 ทำลายจนกำลังจะตาย ไม่ให้ตายโดยการอักเสบ แต่ตายโดยการถูกสลายไปโดยไม่อักเสบ ด้วยกลไกที่เรียกว่า apoptosis ซึ่งสามารถถูกกระตุ้นให้เกิดได้ด้วยการใช้ความร้อนทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นในระหว่าง 38-40 องศาเซลเซียส ไม่ว่าด้วยการมีไข้สูงหรือซาวน่าแห้ง

แม้ว่า การสร้างภูมิคุ้มกันแบบปรับตัว (เฉพาะโรค) ในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ เพื่อไม่ให้เชื้อโควิด-19 ขยายพันธุ์แพร่เชื้อต่อไปได้ สามารถเกิดขึ้นได้โดยการกินสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร หรือกินยาต้อนไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ แต่เราไม่สามารถกินสมุนไพรหรือยาดังกล่าวได้ทุกคน ทุกวัน ตลอดไป

แต่การปฏิบัติตามธรรมศาสดา เช่น การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก มีอยู่หลายพระสูตร (คำสอนฯ) ที่มีผลการศึกษาทางการแพทย์ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า ช่วยให้มีการเพิ่มภูมิคุ้มกันแต่กำเนิดในเซลล์ดังกล่าวขึ้นได้ ในทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

ดังนั้น ชาวพุทธผู้เชื่อมั่น เลื่อมใส ศรัทธา ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็สามารถพึ่งตน พึ่งธรรม นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และส่งผลต้านภัยโควิด-19 ได้อีกด้วย เช่น

1. สองมื้อ หมายถึง กินอาหารที่ “ย่อยง่ายไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น เว้นกินกลางคืน เจ็ดหมื่นสองพันมื้อ”

1.1 ย่อยง่าย...ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุยืน คือ...บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย...ธรรมเป็นเหตุให้อายุสั้น คือ...บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก... อาหารย่อยง่ายที่มีความสัมพันธ์กับการลดการป่วยและการตายจากโควิด-19 ได้แก่ อาหารเมดิเตอร์เรเนียน ผัก กาแฟดำ (2.3 แก้ว/วัน) ส่วนการกินเนื้อสัตว์ปรุงแต่ง (Processed meat) >0.43 ส่วน/วัน สัมพันธ์กับ “เพิ่ม” การตรวจพบโควิด-19 ร้อยละ 12-14 ประเภทอาหารที่สัมพันธ์กับลดการตายจากโรคทางเดินหายใจ เช่น พริกสด ถั่วลิสง ข้าวกล้อง ปลา และชาเขียว

1.2 ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น...ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างไร...เราจักบริโภคอาหาร เพื่อกำจัดเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น หมายถึง กินอาหารแต่พอให้หายหิว ไม่กินจนอิ่มแปล้ อิ่มจนอึดอัด อิ่มเกินไป การกินอิ่มเกินไปเป็นปัจจัยกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้

1.3 เว้นกินกลางคืน...ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อเธอทั้งหลายฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสีย จักรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่ามีกำลัง และอยู่สำราญ หมายถึง ไม่กินอาหารหลังพระอาทิตย์ตกในเวลากลางคืน จะเจ็บป่วยน้อย โรคน้อยสมองกระปรี้กระเปร่า มีเรี่ยวมีแรงและอยู่สบาย ไม่เครียด

1.4 เจ็ดหมื่นสองพันมื้อ...ภิกษุทั้งหลาย...ในปัจจุบันนี้ คนที่มีอายุอยู่ได้นาน ก็เพียงร้อยปีหรือน้อยกว่านั้นบ้าง เกินกว่าบ้าง...คนที่มีอายุอยู่ถึง 36,000 ราตรี ย่อมบริโภคอาหาร 72,000 เวลา หมายถึง ในสมัยสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อน คนอายุ 100 ปี กินอาหารวันละ 2 มื้อ ซึ่งการกิน 2 มื้อ/วัน ช่วงเวลาอดอาหาร 10-18 ชั่วโมง ก็ดื่มแต่น้ำเปล่า จิบน้ำร้อน อิ่มน้ำอุ่น มีการศึกษาสัมพันธ์กับการเพิ่มกลไกภูมิคุ้มกันภายประเภทในเซลล์ ชนิดกลไกซ่อมแซม/รีไซเคิลเซลล์ (รายละเอียดอ่านใน หมอชาวบ้าน ฉบับ 495 ก.ค.2563 เรื่อง อ.อดและอิ่มอย่างไรฯ) ตัวอย่างเช่น กินมื้อเช้าตอนเก้าโมงเช้า และมื้อบ่ายตอนบ่ายสามโมง หลังจากนั้นก็ดื่มน้ำอุ่น จิบน้ำร้อน ชาเขียวร้อน บรรเทาความหิว ไม่ดื่มน้ำผลไม้ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่ให้พลังงานอื่น เพราะจะลดกลไกการซ่อมแซม/รีไซเคิลตัวเองของเซลล์

2. หมื่นก้าว...ภิกษุทั้งหลาย...เราทั้งหลาย...จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นเครื่องกีดกั้น ด้วยการจงกรม และการนั่งตลอดวัน...ตลอดปฐมยามแห่งราตรี

หมายถึง ชำระใจให้บริสุทธิ์โดยการละนิวรณ์ห้า (เครื่องกางกั้นใจไม่ให้ได้สมาธิและปัญญา 5 ประการ) ด้วยการเดินจงกรมและนั่งตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าถึงสี่ทุ่ม

การศึกษาผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น 168 คน ที่เดินมากกว่า 4340 ก้าว/วัน สัมพันธ์กับการเพิ่มการสร้างสายกรดอะมิโนต้านจุลินทรีย์ (AMP ที่ชื่อว่า defensins) ในน้ำลายได้สูงกว่าเดินน้อยกว่านี้ แนะนำให้เดินมากกว่า 7000 ก้าว/วัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแต่กำเนิดในระบบทางเดินหายใจ

การเดินวันละหมื่นก้าวประมาณเท่ากับการมีกิจกรรมทางกาบปานกลาง 150 นาทีต่อสัปดาห์ สัมพันธ์กับการลดโอกาสนอนโรงพยาบาลจากโควิด-19

3. ซาวน่า...ภิกษุทั้งหลาย...เราอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟฯ

เรือนไฟ หรือเทียบเคียงได้กับซาวน่าแห้งในปัจจุบัน เป็นการใช้ความร้อนกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานประเภทเซลล์ ชนิดการสลายเซลล์พร้อมเชื้อโควิด-19 โดยไม่เกิดการอักเสบหรือ apoptosis (รายละเอียดอ่านได้ นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับ 497 ก.ย.2563 เรื่อง อ.อยู่ในเรือนไฟ ซาวน่าอย่างไรฯ)

การทำซาวน่าแบบแห้งที่บ้านด้วยการอบความร้อนจากเตาไฟฟ้าปิ้งย่างไร้ควัน ครั้งละ 20 นาที ไม่เกินครึ่งชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละอย่างน้อย 4 วัน มีการศึกษาพบว่า สัมพันธ์กับหารลดการเกิดปอดบวมและโรคทางเดินหายใจ

นอกจากนี้ การขับเหงื่อ น้ำตาไหล ขับเสมหะ ด้วยความร้อน เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันแต่กำเนิดชนิดสายอะมิโนต้านจุลินทรีย์ AMP และความร้อนที่ทำอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส ในช่วงที่เว้นกินกลางคืน ยังช่วยให้อิ่มรู้สึกหายหิวได้อีกด้วย

สรุป

การดูแลตนเองให้มีภูมิคุ้มกันที่ดีในการรับมือโควิด-19 ด้วยแนวทางสองเซลล์ สามกลไก สี่หลักการ แม้ว่า ในทางการแพทย์ยังไม่เป็นที่ยอมรับเป็นมาตรฐานในการป้องกันโรค เหมือนอย่างวัคซีน ยาต้านไวรัส หรือการแพทย์แผนตะวันตก

แต่การพึ่งตน ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของตนเอง ด้วยวิถีไทย วิถีธรรม ตามแนวทางความพอเพียง ภูมิคุ้มกันที่ดี มีเหตุมีผล พึ่งตน พึ่งธรรม ก็เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนสามารถเลือกมาใช้ได้ ตามความเชื่อ และศรัทธา โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นหรือปัจจัยภายนอกที่ไม่แน่นอนและไม่ยั่งยืน

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 514 เดือนกุมภาพันธ์ 2565

9 March 2565

By STY/Library

Views, 607

 

Preset Colors