02 149 5555 ถึง 60

 

คู่มือฉีดวัคซีนสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้องรัง

HOW TO คู่มือฉีดวัคซีนสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้องรัง

เรื่องโดย ชวลิดา เชียงกูล

ชีวจิต เชื่อว่าผู้ที่มีโรคประจำตัวส่วนหนึ่งยังคงกังวลใจกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่าจะมีผลต่ออาการของโรคที่เป็นอยู่หรือไม่

ทั้งนี้ พลอากาศโท นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตกล่าวว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัวไม่ได้มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป แต่ปัญหาคือเมื่อติดแล้วจะเกิดอาการรุนแรงมีโอกาสที่ปอดจะอักเสบและเสียชีวิตได้ จึงควรได้รับการฉีดวัคซีน ในต่างประเทศที่มีการฉีดกันมากนั้น ไม่พบว่าทำให้โรคประจำตัวกำเริบมากขึ้น ค่อนข้างชัดเจนว่าผลดีจากการฉีดวัคซีนนั้นมีมากกว่า เพราะวัคซีนจะช่วยป้องกันในเรื่องการเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม เรารู้ดีว่าความกังวลใจเหล่านี้คงไม่สามารถหมดไปง่ายๆ จึงได้รวบรวมคำตอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา เพื่อคลายข้องใจเรื่องการฉีดวัคซีนกับผู้ป่วยโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาทต่างๆ รวมไปถึงโรคมะเร็งมาฝากกันค่ะ

ผู้ป่วยโรคไต

สำหรับผู้ป่วยโรคไต พลอากาศโท นายแพทย์อนุตตรแนะนำว่า “จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับวัคซีน ยกเว้นว่าผู้ป่วยเพิ่งได้รับการปลูกถ่ายไตในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ยังอยู่ในช่วงที่ได้ยากดภูมิจำนวนมาก ควรปรึกษาหมอเลื่อนวันฉีดวัคซีนอกไปก่อน เพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“ประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกาที่ให้วัคซีนในผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตไม่พบว่ามีการสลัดไต

(ภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยไม่สามรถรับไตใหม่ได้) เพิ่มมากขึ้นกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีน ข้อแนะนำของทางสมาคมโรคไตและผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต คนไข้ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ปลูกถ่ายและฟอกไตทางช่องท้อง ถ้าผ่านช่วงที่ปลูกถ่ายไตไปแล้วระยะหนึ่งควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล และสามารถให้วัคซีนได้”

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

ร้อยเอก นายแพทย์สุรชา ลีลายุทธการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ป้องกัน กล่าวว่า “สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง มีรายงานว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนมีความดันขึ้นนิดหน่อย แต่ไม่มาก ส่วนใหญ่พักแล้วก็จะหาย บางคนเครียดและกลัวโดนเข็มก็อาจความดันขึ้นนิดหน่อย ถ้าความดันเกิน 160 ก็จะไม่ฉีด แม้จะยังไม่มีข้อมูลว่าฉีดในคนไข้ที่ความดันเกิน 160 แล้วจะมีปัญหาหรือไม่ โดยตอนนี้สมาคมแพทย์โรคหัวใจกำลังปรับเกณฑ์นี้อยู่”

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้น ร้อยเอก นายแพทย์สุรชา ยืนยันว่า “กรณีผู้ป่วยเบาหวานก็สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้ ยกเว้นกรณีเดียวคือ วันที่มาฉีดแล้วเกิดอาการของโรคกำเริบเฉียบพลัน เช่น วันที่มาฉีดแล้วความดันเพิ่มขึ้นไป 180 ที่เรียกว่าสภาวะความดันวิกฤติ หรือเกิดภาวะฉุกเฉินของเบาหวาน น้ำตาลขึ้น 500-600 ก็คงไม่เหมาะที่จะฉีดวัคซีน”

นอกจากนี้ แพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย แนะนำว่า “นอกจากจะอยากให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนเข้ารับวัคซีนแล้ว สิ่งที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นวัยสูงอายุก่อนที่จะไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้นก็คือ จะต้องไม่มีไข้สูง

ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่สำคัญผู้ป่วยโรคเบาหวานมักจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วย จึงทำให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ค่อนข้างสูง

“ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นโรคมะเร็งร่วมด้วย จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาโรคมะเร็งเป็นหลัก เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น แพทย์จะให้ยากดภูมิภายในระยะเวลาที่กำหนดดังนั้นจึงจำเป็นต้องรอให้ปริมาณยารักษาโรคมะเร็งอยู่ในระดับที่เหมาะสมก่อน จึงต้องปรึกษาคุณหมอโรคมะเร็งก่อนฉีดวัคซีนร่วมด้วย”

ผู้ป่วยโรคระบบประสาท

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ เทียมเก่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ข้อมูลสำหรับผู้ป่วยโรคระบบประสาทว่า

“ผลของการฉีดวัคซีนที่ทำให้เกิดอาการที่ระบบประสาทนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนได้ไม่นาน โดยมักจะเกิดในช่วง 5-15 นาทีแรก ส่วนใหญ่เป็นอาการรู้สึกชา เจ็บแปลบๆในตำแหน่งที่ฉีด แล้วจะเริ่มมาที่นิ้วมือ ที่แขนส่วนปลายของข้างที่ฉีดวัคซีน สักพักจะไปที่เท้าและขาข้างเดียวกับที่ฉีด โดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการพูดไม่ชัด ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท จะมีแต่อาการทางด้านความรู้สึก ส่วนอาการอ่อนแรงแทบจะเรียกได้ว่าไม่อ่อนแรงเลย สามารถยกแขนขาทำกิจกรรมต่างๆได้”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ยืนยันว่า “ในช่วงแรกของการฉีดวัคซีนต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้รับวัคซีน ในสัปดาห์แรกที่เริ่มระดมฉีดนั้นพบว่ามีผู้ป่วยอาการแบบนี้เป็นระยะ โดยสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทยได้ทำการเก็บข้อมูลทั้งหมด ซึ่งทุกรายได้มีการตรวจ MRI Lสมอง-หลอดเลือด ไม่พบความผิดปกติ เมื่อติดตามอาการคนไข้ไป พบส่วนใหญ่จะหายดีภายในเวลา 72 ชั่วโมง แต่มีบางรายยังคงมีอาการยุบยิบที่ปลายนิ้วมือเล็กน้อย เพราะฉะนั้นโดยสรุปคือ เกิดขึ้นได้จริงแต่ไม่ใช่อาการของโรคอัมพาตหรือหลอดเลือดสมอง เราเรียกว่าเป็นอาการความผิดปกติทางระบบประสาทแบบชั่วคราวและหายได้เอง

“คนทั่วไปก็มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้อยู่แล้ว ในประเทศไทยพบ 340 คนต่อประชากร 100,000 คน เกิดขึ้นในทุกๆวันและในทุกๆจังหวัด เพราะฉะนั้นเวลาที่เราฉีดวัคซีนเสร็จก็ต้องมาเฝ้าระวังอาการเหล่านี้ ติดตามอาการอยู่ประมาณ 30 นาที ส่วนเกิดขึ้นได้อย่างไร ในปัจจุบันยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่เป็นความผิดปกติที่พบได้จริง ที่ผมดูแลอยู่ก็พบได้ประมาณ 5 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ส่วนใหญ่หายได้เองทั้งหมด”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวอีกว่า “วัคซีนไม่ได้มีผลต่อระบบประสาท แต่หากคนไข้มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคอัมพาตจากลิ่มเลือดหัวใจได้ ยิ่งถ้าหากมีความระแวงหรือหวาดกลัวก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน ระบบประสาทอัตโนมัติจะหลั่งสารเคมีออกมามากขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้นโอกาสที่หัวใจจะเต้นผิดจังหวะก็สูงมากขึ้น ความดันสูงมากขึ้นก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดอัมพาตได้ ดังนั้นคนไปฉีดวัคซีนควรพยายามผ่อนคลาย ใช้ชีวิตตามปกติ และพักผ่อนให้เพียงพอ”

ทั้งนี้ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์เปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนโควิดยังไม่มีผลทางการแพทย์ใดยืนยันว่าส่งผลข้างเคียงต่อการรักษาโรคทางระบบประสาททุกชนิด ทั้งหลอดเลือดสมองที่พบบ่อย หรือโรคลมชัก

ผู้ป่วยโรคลมชัก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวว่า “ผมขอเน้นย้ำเรื่องโรคลมชักเพราะมีข้อสงสัยว่าคนที่เป็นโรคอยู่บ้าง เดือนละ 1-2 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งนั้น สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ยืนยันว่าฉีดได้ เมื่อเรารู้ผลกระทบบางส่วนที่จะเกิดขึ้นกับคนไข้ได้บ่อยก็คือ มีไข้หลังจากฉีดวัคซีน เพราะฉะนั้นในกรณีของคนไข้โรคลมชักอาจจะต้องแนะนำว่าขอดูประวัติเก่าๆ เวลาฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆที่ฉีดกันอยู่แล้วว่าคนไข้เคยมีอาการผิดปกติหรือไม่ เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางส่วนหนึ่ง”

ผู้ป่วยโรคหัวใจ

ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจที่รับประทานอยู่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์และร้อยเอก นายแพทย์สุรชา แนะนำตรงกันว่า ให้รับวัคซีนได้ตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยา เพียงแต่ต้องแจ้งให้พยาบาลหรือแพทย์ทราบว่าทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่หรือไม่ เนื่องจากหลังการฉีดจะต้องใช้สำลีแห้งกดไว้นานกว่าปกติเล็กน้อย ประมาณ 1-2 นาที และไม่มีการนวดคลึง

ทั้งนี้ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวเสริมว่า “คนไข้ที่เป็นหลอดเลือดสมองจากลิ่มเลือดของหัวใจต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือด เช่น วอร์ฟาริน หรือกลุ่มยาต้านลิ่มเลือดใหม่ๆ แพทย์จะแนะนำว่าห้ามฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ เพราะอาจจะเกิดก้อนเลือด แต่ฉีดวัคซีนได้ แม้จะเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเหมือนกัน แต่การฉีดวัคซีนใช้เข็มเล่มเล็กมาก ซึ่งจะไม่เกิดเลือดออก จึงจะสามารถฉีดได้ ไม่มีข้อห้ามหรือต้องหยุดยาใดๆ ถ้าผลการตรวจเลือดครั้งสุดท้ายไม่ได้สูงเกิน 3 เท่า ถ้าเกิน 3 เท่า หมอก็จะปรับยาละลายลิ่มเลือดลง และถ้าหมอไม่ได้แนะนำเพิ่มเติมก็สามารถฉีดได้”

ผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชวลิต เลิศบุษยานุกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็งกับการฉีดวัคซีนว่า ผู้ป่วยมะเร็งควรรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน ฉีดทันทีที่มีโอกาส โดยให้พิจารณาตามข้อมูลดังต่อไปนี้

สาเหตุที่ผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน

● ร่างกายของผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำกว่าคนทั่วไป

● เป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หากได้รับเชื้อโรคโควิด-19 อาการของโรคจะรุนแรงมากกว่าปกติ

● เชื้อโรคโควิด-19 มีโอกาสอยู่ในร่างกายนานกว่าคนทั่วไป

ผู้ป่วยมะเร็งที่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้

● ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการติดตามผลการรักษา

● ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาฮอร์โมนหรือภูมิคุ้มกันบำบัด

● ผู้ป่วยที่กำลังรับการฉายรังสี

● ผู้ป่วยมะเร็งที่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

● ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก

● ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังจะได้รับการผ่าตัด

● ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัด

คำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์

ผู้ป่วยมะเร็งสามารถฉีดวัคซีนได้ทุกยี่ห้อที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19

ฉีดวัคซีนแล้วทำให้โรคมะเร็งแย่ลงหรือไม่

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยืนยันคำตอบว่า “มีผลน้อยมาก เพราะภูมิคุ้มกันที่จะไปต่อต้านตัวไวรัสไม่มีปฏิกิริยาอะไรกับโรคมะเร็ง มั่นใจได้เลยว่าฉีดวัคซีนไม่ทำให้โรคมะเร็งแย่ลงแน่นอน

“ส่วนใหญ่คนไข้กลัวโรคมะเร็งมากกว่าโควิด กลัวว่ารับวัคซีนไปแล้วจะทำให้อาการโรคมะเร็งแย่ลง มะเร็งที่พบในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นมะเร็งปอด ซึ่งเป็นอวัยวะเป้าหมายของโควิดเหมือนกัน มีผู้รวบรวมข้อมูลทางยุโรปและอเมริกาพบว่า ผู้ที่เป็นมะเร็งปอดแล้วแล้วติดโควิด โอกาสตายสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าถ้าเป็นมะเร็งและได้รับเชื้อโควิด-19 ด้วยจะอันตราย แต่คนไข้มะเร็งอื่นๆ ไม่ได้เสียชีวิตจากโควิดมากนัก ถ้าไม่ได้มีการแพร่กระจายของเชื้อเข้าปอด”

-ข้อสงสัยว่าผู้ป่วยมะเร็งฉีดวัคซีนแล้วจะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิโรจน์กล่าวว่า “ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันโดยรวมของร่างกาย เช่น รับยาเคมีบำบัด ฉายรังสี หรือ ปลูกถ่ายไขกระดูก สิ่งเหล่านี้จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ในขณะเดียวกันถ้าเรารับการฉีดวัคซีน เราต้องมีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ดีพอเพื่อจะสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต่อต้านเชื้อโควิด-19 ฉะนั้นควรฉีดวัคซีนก่อนที่จะเริ่มการรักษาเหล่านี้

“อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรับยา ต้องประเมินความเสี่ยงของโรคมะเร็งกับความเสี่ยงของโควิด การฉีดวัคซีนให้คนไข้ที่รับยาเคมีบำบัดเชื่อว่ามีประโยชน์แน่ ผลข้างเคียงของวัคซีนก็น้อยและไม่มีผลต่อโรค แต่ในคนไข้ที่ปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเป็นมะเร็งโรคเลือดบางอย่างที่ได้รับยาบางตัว ซึ่งไปกวาดล้างเซลล์ที่สร้างภูมิต้านทาน ต้องระวังและควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อน”

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 546 ปีที่ 23 วันที่ 1 กรกฏาคม 2564

15 February 2565

By STY/Library

Views, 1059

 

Preset Colors