02 149 5555 ถึง 60

 

อัพเดตการสร้างสุขภาพวะสู้โรคระบาดและโรคเรื้อรัง (ตอนที่2)

29 WELLNESS TIPS อัพเดตการสร้างสุขภาพวะสู้โรคระบาดและโรคเรื้อรัง (ตอนที่2)

เรื่องพิเศษ... โดย... พรอรุณ อินชูเดช, ปกวิภา

BE POSITIVE, STAY HEALTHYมองแง่บวก พร้อมทำกิจวัตรสร้างสุขภาพทุกวัน

ครูเปิ้ล-สุปรียา ยงกาญจนากร ครูโยคะและคอลัมนิสต์ประจำ ชีวจิต เห็นว่าการระบาดของโรคไวรัสโควิดทำให้การดำเนินชีวิตของคนทั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงอยากจะฝากวิธีดูแลสุขภาพไว้ 8 ข้อ ดังนี้

ข้อที่ 1 มองเห็นข้อดีของการอยู่บ้าน

“เมื่อทุกคนอยู่บ้านมากขึ้น ออกนอกเคหสถานเท่าที่จำเป็น ลดการพบปะสังสรรค์อยู่คนเดียวมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มว่าพฤติกรรมเหล่านี้ยังอยู่กับเราไปอีกนาน”

“การ Word from Home ในยุคนี้หลายบริษัทมีการพัฒนาเทคโนโลยีมาช่วยให้เราทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นคนเริ่มมองว่าทำงานที่บ้านก็ได้ผลดีไม่ต่างจากไปทำงาน ก็เริ่มอยากอยู่บ้าน เพราะนอกจากมีเวลาไปจัดการกับเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีกับสภาพแวดล้อมอีกด้วย เพราะเมื่อการเดินทางลดลง การใช้น้ำมันก็ลดลงมลภาวะเป็นพิษต่างๆ ก็ลดลงตามไปด้วย”

ข้อที่ 2 พึงระวังผลเสียเมื่อร่างกายเคลื่อนไหวน้อยลง

“ช่วงเวลาแบบนี้ร่างกายของเราเคลื่อนไหวน้อยลง แต่กินอาหารมากขึ้น เนื่องจากการเติบโตของช่องทางออนไลน์ ทำให้เราสามารถซื้ออาหารได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการไม่ต้องพบปะผู้คนทำให้เราไม่ใส่ใจกับการรักษาภาพลักษณ์ภายนอก การพักผ่อนก็ไม่ตรงเวลา ทำให้เวลาชีวิตของเราแปรปรวน ทางโยคะถือว่าสิ่งนี้มีผลกระทบโดยตรงกับระบบการทำงานของร่างกาย”

“จากพฤติกรรมข้างต้นส่งผลให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายมีประสิทธิภาพลดลงโดยเฉพาะระบบการไหลเวียนของเลือด เพราะเรานั่งอยู่กับที่โดยไม่เคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานานเมื่อเคลื่อนไหวน้อยลงยังส่งผลให้ระบบการเผาผลาญร่างกายแย่ลง เกิดภาวะโรคอ้วน ความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อต่อลดลง มวลกระดูกจึงลดลงตามไปด้วย”

ข้อที่ 3 หมั่นสังเกตอาการทางใจ

“ในด้านสุขภาพจิต เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องการความรัก การดูแลเอาใจใส่ได้พบปะพูดคุยสังสรรค์ แต่เพราะโรคระบาดทำให้ไม่ค่อยได้เจอใคร ก็จะเกิดความเหงา ถ้าสะสมมากๆ อาจกลายเป็นซึมเศร้า แม้จะดูเหมือนว่าเทคโนโลยีทำให้เราใกล้กันมากขึ้น แต่แท้จริงแล้วมนุษย์ยังต้องการความรักจากการสัมผัส การพบหน้าค่าตา การกอด เมื่อทำไม่ได้จิตใจก็เศร้าหมอง”

ข้อที่ 4 ไม่ฝืนร่างกาย

“เราต้องพึ่งตนเองให้มากขึ้น ต้องสังเกตและรับฟังร่างกายของเรามากขึ้น เพื่อจะได้รู้ว่าควรต้องดูแลตัวเองอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าง่วงเราควรทำอย่างไร คนที่บอกว่าง่วงก็นอน เป็นคำตอบที่ฟังร่างกายตัวเอง เพราะนอนแล้วหายง่วง ตื่นขึ้นมาก็ทำงานต่อได้ แต่บางคนบอกว่าง่วงก็ดื่มกาแฟ เพราะฉันยังมีงานต้องทำ ในกรณีนี้เขาสามารถทำงานต่อไปได้ แต่อีกสักพักร่างกายก็จะบอกว่าฉันปวดหัวแล้วนะ เพราะการที่เราปวดศีรษะถ้าเกิดจากสาเหตุที่เราเหนื่อยล้า ไปนอนก็หายแล้ว”

“ถ้าไม่ฟังสัญชาตญาณของร่างกาย ใช้วิธีสะดวกคือ กินยาให้หายปวดแล้วไปนั่งทำงานต่อ เมื่อทำแบบนี้นานๆ เข้า สุดท้ายก็กลายเป็นปวดหัวเรื้อรัง พอไปหาหมอก็ต้องกินยาแรงขึ้น ถ้าแต่แรกปวดหัวก็นอน แค่พักผ่อนก็หายแล้ว”

ข้อที่ 5 ฝึกโยคะ

“ปัจจุบันการฝึกโยคะถูกพูดถึงอย่างมาก เพราะส่งผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอาการออฟฟิศซินโดรม พบว่าโยคะช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่ต้องทำให้ถูกวิธี เพราะการฝึกโยคะต้องทำด้วยสติ ไม่เร่ง ไม่ฝืนร่างกายจนเกินไป”

“ในต่างประเทศมีการนำการฝึกโยคะมาช่วยลดอาการซึมเศร้า ซึ่งเหมาะกับยุคปัจจุบันที่มีแนวโน้มว่าคนเราจะเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น ท่าโยคะที่นิยมนำมาใช้กับผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามักเป็นท่าที่เปิดหน้าอก ท่าที่แอ่นอก ยึดอกขึ้นเยอะๆ เพื่อให้หายใจเอาออกซิเจนเข้าร่างกายได้มากขึ้น”

“ลองสังเกตคนที่มีอาการซึมเศร้าร่างกายจะห่อตัวลงเรื่อยๆ หลังก็จะค่อม การฝึกโยคะเปิดหน้าอก ออกซิเจนก็จะเข้าไปซ่อมแซมระบบต่างๆ ของร่างกายได้ดีขึ้นค่ะ”

ข้อที่ 6 ฝึกล้างจมูก ลดอาการคั่งของน้ำมูก

“การล้างจมูก โยคีใช้กาล้างจมูก (กาเนติ-Neti Pot) โดยเทน้ำลงในรูจมูกด้านขวาแล้วเอียงมาด้านซ้าย น้ำก็จะไหลออกมาจากจมูกด้านซ้าย ถ้าเทียบกับการล้างจมูกโดยใช้ซีรินจ์แบบในปัจจุบัน การใช้กาช่วยให้น้ำไหลตามธรรมชาติดีกว่า เพราะไม่มีแรงอัดจากกระบอก ซึ่งจะไม่ไปทำร้ายอวัยวะข้างในโพรงจมูก”

“นอกจากนั้น ตามแนวทางโยคะจะไม่ล้างจมูกตอนกลางคืน เพราะน้ำอาจตกค้างอยู่ในโพรงจมูก แต่จะล้างตอนเช้า แล้วไปทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติ น้ำที่หลงเหลืออยู่ก็จะไหลออกตามแรงโน้มถ่วงของโลก หรือไม่ก็แห้งไปเอง”

ข้อที่ 7 กิจวัตรประจำวันเสริมภูมิคุ้มกัน

“ตื่นเช้าขึ้นมาจะฝึกโยคะท่าง่ายๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง โดยจะนั่งสมาธิฝึกทุกครั้ง เพราะจะช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการฝึก หลังการฝึกโยคะเสร็จก็ปิดท้ายด้วยการฝึกหายใจเข้าออกจากจมูกทีละข้างหลังฝึกก็ดื่มน้ำมากๆ”

“เนื่องจากอายุที่มากขึ้นอาจทำให้ระบบเมแทบอลิซึมถดถอย การฝึกโยคะอย่างเดียวยังไม่พอ จึงหันมามองเรื่องอาหาร ก็ไปพบสูตรกรีนสมู้ตตี้ ปรากฏว่าได้ผลดี ขับถ่ายดี ไม่มีปัญหาเรื่องท้องผูกอีกเลย เคยลองหยุด ปรากฏว่าปัญหากลับมา ตอนนี้เลยกินเป็นประจำ”

“เรื่องสูตรกรีนสมู้ตตี้ก็ไม่ยากค่ะ มีผักใบเขียว เช่น เคล ผักโขม ขึ้นฉ่าย ปวยเล้ง ผลไม้รสหวานที่มีกาก เช่น แอ๊ปเปิ้ล สัปปะรด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่นิดหน่อย เพื่อเพิ่มรสชาติ รวมกันให้ได้ 2 ถ้วยตวง โยเกิร์ตรสธรรมชาติ 1 ถ้วย ใส่น้ำผึ้ง 1-2 ช้อนชา ปั่นรวมกับน้ำแข็งเล็กน้อย”

“ส่วนอาหารเช้าก็แล้วแต่วัน แต่จะต้องมีไข่ต้ม 1 ฟอง กรีนสมู้ตตี้ น้ำมันมะพร้าว”

ข้อที่ 8 เคล็ดไม่ลับ ช่วยนอนหลับลึก

“ก่อนนอนก็ฝึกโยคะเบาๆ เช่น ทำท่า Butterfly ค้างไว้ 5-10 นาที หรือทำ Forward Bend ยามเวลาที่เรามี มากน้อยไม่สำคัญ แต่จะไม่งดทำ ต้องมีเวลาอย่างน้อย 30 นาที ท่าที่ทำเป็นท่าง่ายๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย หลับสบาย”

“ถ้าพอมีเวลาก็จะกดจุดสะท้านฝ่าเท้าของตัวเองซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก เป็นศาสตร์ที่มีมานานแล้วแต่เปิ้ลเพิ่งมาเริ่มศึกษา เพราะอยากมากดกระตุ้นความจำคุณพ่อ เพราะคุณพ่อเริ่มลืมมากขึ้น โดยทดลองกับตัวเองก่อน ปรากฏว่ามันช่วยได้จริงๆ เห็นชัดว่านอนหลับลึกขึ้น”

(อ่านต่อตอนหน้า•)

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 553 เดือนตุลาคม 2564

28 December 2564

By STY/Lib

Views, 454

 

Preset Colors