02 149 5555 ถึง 60

 

Burnout Syndrome ภาวะหมดไฟในการทำงาน

Burnout Syndrome ภาวะหมดไฟในการทำงาน

โควิด-19 อาจจะมีข้อดีตรงที่คนส่วนใหญ่ไม่ต้องเดินทางออกจาบ้าน หันมาเรียนออนไลน์ WFH 100% ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการเผชิญมลพิษทางอากาศ ลดการความเสี่ยงในการรับเชื้อโรค

แต่ขณะเดียวกัน การอยู่ในสภาวะแวดล้อมเดิมเป็นเวลานับปีในขณะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น มีการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหมวดหมู่ มิได้ใช้ชีวิตอยู่เพียงคนเดียวตามลำพังแต่อย่างใด ต้องทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ดลอดเวลา เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในที่จำกัด ซ้ำไม่มีเวลาเริ่มงานหรือเลิกงานเป็นเวลาเพราะนายจ้างคิดว่าอยู่บ้าน จะคุยงานเมื่อไหร่ก็ได้ ประชุมงานถึงกี่โมงก็ได้ พร้อมทำงานได้ตลอดเวลา ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Burnout Syndrome หรือหมดไฟ ในการทำงาน นั่นเอง

Burnout Syndrome ภาวะหมดไฟคืออะไร

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรืออาการ Burnout Syndrome ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผลจากความเครียดเรื้อรัง ในสถานที่ทำงาน ซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางก่อนจุรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต ภาวะนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียด จนบางครั้งรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ เบื่อหน่าย ไม่หยิบจับทำอะไร รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ มองงานที่กำลังทำอยู่ในเชิงลบขาดความสุข สนุกในเนื้องาน หมดแรงจูงใจประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง บางรายอาจรู้สึกเหินห่างจากเพื่อนร่วมงาน จนทำให้มีความรู้สึกหมดเรี่ยวแรงในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

อาการเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มอาการไม่รุนแรงเท่ากับโรคซึมเศร้า แต่หากปล่อยไว้และอยู่ในสภาพแวดล้อม และสภาพอารมณ์ลักษณะนี้เดิมๆ อาจส่งผลต่อการทำงานเช่น ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาอออกในที่สุด หรือนานวันเข้าก็อาจเกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

ทั้งนี้ภาวะหมดไฟในการทำงานยังส่งผลถึงร่างกายด้วยเช่นกัน เช่น นอนไม่หลับ กังวลใจทุกครั้งที่ต้องทำงาน รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อาจมีอาการปวดศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน รวมถึงปวดเมื่อยร่างกาย และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

ในบางรายอาจมีอารมณ์แปรปรวน รู้สึกสิ้นหวัง ล้มเหลวในการทำงาน หงุดหงุดจนแสดงออกด้วยการทะเลาะเบาะแว้งในที่ทำงาน หากเป็นมากขึ้นอาจปิดกั้นตนเองจากเพื่อนร่วมงาน พูดน้อยลง ขาดสมาธิและความคิดเริ่มสร้างสรรค์

ใครบ้างที่เสี่ยง Burnout Syndrome

โรคนี้ไม่ได้เกิดกับวัยรุ่นทำงาน หนุ่มสาวออฟฟิศ หัวหน้างาน หรือผู้บริหารที่แบกรับหน้าที่หนักจนเกิดนไปเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วยังสามารถเกิดได้ทุกวัย ทุกเพศ เช่นนักเรียนนักศึกษาที่ต้องอยู่กับการเรียนออนไลน์ทุกวัน แม่บ้านที่ต้องดูแลบ้าน เลี้ยงลูกใช้ชีวิตอยู่ในรูปแบบเดิมๆ รวไปถึงที่จริงจังเกินไป ขาดความยืดหยุ่น ก็อาจเกิดอาการเล่านี้ได้เช่นกัน

รู้ตัวเองก่อน ป้องกันได้

สังเกตตัวเองให้ดี เมื่อพบว่าอยู่ในข่ายภาวะหมดไฟในการทำงาน ควรเริ่มปรับสมดุลให้ชีวิตดังนี้

นอนหลับพักผ่อนให้เป็นเวลา อย่าเสียเวลาไปกับความกังวลในเรื่องงาน และพยายามพัฒนาทักษะในการจัดการปัญหา

รับประทานอาหารให้ครบ 5หมู่ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเปล่ามากๆ

ปรับทัศนคติในการทำงาน ทำความเข้าใจในเนื้องาน และองค์กรที่ทำงานด้วย

เปิดใจคนรอบข้าง อย่าลังเลที่จะปรึกษาเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน หลีกเลี่ยงคนที่มีความคิดในแง่ลบ ยอมรับความแตกต่างของคน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกัน

หากทำได้ ลาพักร้อน เพื่อห่างไกลจากงานสักพัก

สร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน จัดระเบียบการทำงานให้ลุล่วงตามลำดับความสำคัญ

กำหนดเวลาการทำงานให้เหมาะสมในแต่ละวัน ไม่เสียเวลาจัดการงานที่ทำไม่ ได้หรือติดขัดนานเกินไป จนส่งผลให้ทำงานไม่สำเร็จสักชิ้นเดียว

หากิจกรรมผ่อนคลายทำในช่วงวันหยุด

ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์

ลดการสื่อสารและเสพข่าวในโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ใข่ว่าทุกคนจะสามารถปรับตัวในสิ่งที่เคยเป็นมาตลอดชีวิต หรือสามารถสร้างสมดุลและระเบียบให้ตัวเองได้ทันที อาจมีหลากหลายปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ หากรู้สึกว่ามีอาการรุนแรงจนส่งผลถึงร่างกายและจิตใจอย่างมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขได้ ควรปรึกษาและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที่

อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กจนปล่อยปละละเลยเป็นเวลานาน ความเบื่อหน่ายการงานและภาวะหมดไฟในการทำงานอาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าที่รักษายากและซับซ้อนขึ้นก็เป็นได้

วารสารเพื่อเยาวชนของมูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ

ปีที่12ฉบับที่ 46 เดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2564

7 December 2564

By STY/Lib

Views, 3602

 

Preset Colors