02 149 5555 ถึง 60

 

สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโควิด-19

สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโควิด-19

เรื่องโดย. ศิริพร โกสุม (กองบรรณาธิการ)

โควิด-19 เป็นโรคภัยที่นำอันตรายมาสู่สุขภาพของคนไทยและคนทั่วโลก เป็นโรคที่สร้างความหวั่นวิตกต่อคนเราอย่างมาก ก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมทั้งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันแม้จะมีการพัฒนาวัคซีนออกมาหลากหลาย และวัคซีนก็เป็นความหวังในการสู้โควิด-19 แต่คนไทยทุกคนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน เพราะฉะนั้น การป้องกันจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ก็ทราบเป็นอย่างดี และพยายามสรรหาสารพันอาหารและยา ตลอดจนวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเองให้ห่างไกลโควิด

แต่จากการที่ปัจจุบันเป็นโลกของสังคมออนไลน์จึงมีการกระจายข้อมูลที่หลากหลายทั้งที่เป็นความจริง และไม่จริง หรือเป็นความจริงแต่เป็นความจริงไม่ทั้งหมด ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นนอกจากจะไม่ช่วยสนับสนุนการป้องกันโรคแล้วยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจนถึงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ดังนั้น จึงควรมาทำความเข้าใจโรคโควิด-19 และกลไกร่างกายของเราเพื่อรู้ทันข้อมูลป้อกันโควิด-19 ที่มีแพร่กระจายอย่างหลากหลาย

โภชนาการดีมีส่วนเสริมภูมิคุ้มกัน

การสร้างร่างกายให้แข็งแรงมีภาวะโภชนาการที่ดีนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอไอ สำนักงานใหญ่ กรุงโรม อิตาลี และอดีตผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า

“คนที่มีภาวะโภชนาการที่ดี สุขภาพร่างกายแข็งแรง ระบบต่างๆ ของร่างกายก็จะแข็งแรง เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ระบบต่างๆ ก็จะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปทำอันตราย และทำลายเชื้อโรค โดยขับเยื่อเมือกออกมาในระบบทางเดินหายใจเพื่อจับเชื้อโรค แล้วไอออกมา หรือถ้าเชื้อโรคลงสู่กระเพาะอาหาร กรดและน้ำย่อยต่างๆ ที่อยู่ในกระเพาะอาหารก็จะทำลายเชื้อโรค แล้วร่างกายยังมีระบบเซลล์ต่างๆ รวมถึงเซลล์เม็ดเลือดขาวหลายๆ ชนิดที่ช่วยฆ่าเชื้อโรค ภูมิต้านทานหรือภูมิคุ้มกันภายในร่างกายเหล่านี้มี 2 ชนิด

ชนิดที่ 1 เป็นภูมิคุ้มกันที่ทุกคนมีเหมือนกัน คือมีมาตั้งแต่เกิด

ชนิดที่ 2 เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นเมื่อคนเรามีภาวะโภชนาการดี ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนเรากินอาหารได้ครบถ้วนเพียงพอ มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมีจิตใจที่ผ่อนคลายไม่เครียด มีการนอนที่พอเพียง คนที่มีภาวะโภชนาการที่ดี ร่างกายแข็งแรง ความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคจะน้อยกว่าคนที่มีภาวะโภชนาการไม่ดี

นอกจากนี้หากติดโรคแล้ว อาการจะรุนแรงน้อยกว่าคนที่มีภาวะโภชนาการไม่ดี ซึ่งเป็นเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมผู้สูงอายุที่อายุเกิน 80 ปี เสียชีวิตกว่า 10% และเมื่อติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง ผู้ที่มีอายุระหว่าง 7.-79 ปีเมื่อติดเชื้อจะเสียชีวิต 8% และอายุ 59-69 ปี เสียชีวิตประมาณ 1.2% อายุต่ำกว่า 50 ปี จะเสียชีวิตต่ำกว่า 1%

ทั้งนี้สาเหตุที่ผู้สูงอายุเสียชีวิตมากกว่าวัยอื่นๆ เพราะคนเราเมื่ออายุมากขึ้น สังขารหรืออวัยวะต่างๆ เสื่อมลง ระบบภูมิคุ้มกันก็เสื่อมไปด้วย และขณะเดียวกันผู้สูงอายุมักจะขาดวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ด้วย คนที่มีปัญหาเรื่องปอด ปอดก็จะเสื่อมและอ่อนแอ เมื่อได้รับเชื้อโรคปอดก็จะติดเชื้อ ร่างกายพยายามต่อสู้ บางกรณีภูมิคุ้มกันสู้มากไปจนเกิดผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง ทำให้เลือดออกมาก ยิ่งทำให้ปอดทำงานมากขึ้น

ส่วนผู้ที่เป็นโรคต่างๆ เช่น อ้อน เบาหวาน มะเร็ง เป็นต้น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีการใช้พลังงานในเซลล์ไม่ได้ ระบบกลไกในการสร้างเม็ดเลือดขาวหรือสร้างสารภูมิคุ้มกัน (antibody) ได้น้อย โอกาสติดเชื้อจึงง่ายและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้นก่อนที่จะไปขวนขวายหาสารพัดอาหารหรือสารพัดวิธี (ที่ไม่รู้ว่าถูกต้องหรือไม่) มาป้องกันโควิด-19 มาให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันภายในซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของร่างกายในการป้องกันโรคโควิด-19 ดีกว่า”

อยู่อย่างไรไม่ติดเชื้อโควิด-19

ในโลกปัจจุบัน เป็นเรื่องยากที่เราจะหนีไกลโควิด-19 จากการติดตามข่าวสารต่างๆ ทุกวัน จะพบว่าอุบัติการณ์ติดเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นรอบๆตัวเรา

สิ่งที่ทำได้คือ จะอยู่อย่างไรจึงจะไม่ติดเชื้อโควิด-19??

สิ่งสำคัญที่สุดที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ได้เน้นย้ำบ่อยๆ นั้นก็คือ

ต้องสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเราให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลากหลาย ครบถ้วน และเพียงพอ ไม่กินมากเกินไปจนทำให้อ้วน เน้นพืชผักสมุนไพรโดยกินในรูปของอาหาร

เพราะการกินในรูปของอาหารจะไม่ทำให้ได้สารอาหารและสารที่ไม่ใช่อาหารแต่มีประโยชน์เพียงพอไม่มากจนเกิดอันตราย เพราะกระเพาะอาหารมีขนาดจำกัด และหากจะกินสมุนไพรในรูปของสารสกัด ก็ควรต้องหาข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนก่อนซื้อหามากิน เมื่อภูมิคุ้มกันภายในดีแล้ว ก็จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย หรือเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคลง

นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเสริมให้ร่างการมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น แต่การฉีดวัคซีนไม่ได้ช่วยให้เราไม่ติดโควิด-19 ได้ 100% แต่จะช่วยให้ลดโอกาสในการติดเชื้อ ถ้าติดเชื้อความรุนแรงของโรคจะลดน้อยลง และช่วยลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย

ในสถานการณ์เช่นนี้ มีข้อแนะนำว่า ไม่ควรเลือกหรือรอชนิดวัคซีนที่เราต้องการ เพราะมีความเสี่ยงมากเกินไป ควรฉีดวัคซีนยี่ห้อหรือชนิดใดก็ได้ที่มีอยู่ แล้วเมื่อวัคซีนมีปริมาณมากจนเกินพอความต้องการประชาชนทุกคน ค่อยเลือกฉีดวัคซีนอื่นเพื่อเป็นการกระตุ้นเสริมภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องปฏิบัติควบคู่กันไป เพื่อร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย คือ

การสวมใส่หน้ากากตลอดเวลาเมื่อจำเป็นต้องออกไปที่สาธารณะ

เมื่ออยู่ในที่สาธารณะควรอยู่ห่างคนอื่นๆ อย่างน้อย 1 เมตร

หมั่นล้างมือบ่อยๆ

หากไม่จำเป็นไม่ควรออกไปในที่ชุมชน

ผู้ที่สูบบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงหรือสูบ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ปอดอ่อนแอ และเป็นอันตรายได้ง่ายเมื่อติดเชื้อ

ตลอดจนการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ แล้วเราจะผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 510 เดือนตุลาคม 2564

4 November 2564

By STY/Lib

Views, 3068

 

Preset Colors