02 149 5555 ถึง 60

 

รักษาใจเด็ก ผู้ใหญ่ วัยสูงอายุและอาชีพเสี่ยงป่วยยุคโควิดครองเมือง

COVID-19 HURTS US ALL รักษาใจเด็ก ผู้ใหญ่ วัยสูงอายุและอาชีพเสี่ยงป่วยยุคโควิดครองเมือง

เรื่องโดย ศิริกร โพธิจักร

ข่าวจากสื่อต่างๆ ที่ทุกท่านพบเห็นตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีของการแพร่ระบาดโควิด-19 เผยให้เห็นปัญหาสำคัญว่าวิกฤติสุขภาพครั้งนี้ส่งผลทั้งต่อร่างกายและจิตใจของผู้คนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ

ชีวจิต รวบรวมข้อมูลในการรับมือปัญหาสุขภาพใจสำหรับคนทุกกลุ่มในช่วงระยะเวลาอันยากลำบากเช่นนี้ เราขอนำเสนอข้อมูลสุขภาพและมอบกำลังใจส่งต่อให้ทุกท่านได้มีวิธีรับมือและก้าวข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปพร้อมๆกันค่ะ

CHILDREN ON FOCUS ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กยุคโควิด

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริไชย หงษ์สงวนศรี จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายถึงแนวทางดูแลสุขภาพใจเด็กในสถานการณ์โควิดระบาดว่า

“กรณีของเด็กเล็ก เป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมาก เนื่องจากพัฒนาการด้านการรับรู้และการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ยังไม่เต็มที่นัก ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางความคิด ทักษะการเรียนรู้ และทักษะทางสังคม

“กรณีของเด็กโต เช่น เด็กมัธยม แม้ว่าต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตก็จะเข้าใจและยอมรับสถานการณ์ต่างๆได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่ขาดไปคือการพัฒนาทักษะทางสังคมเช่นกัน จากปกติจะได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ”

นายแพทย์ศิริไชยอธิบายว่า พ่อแม่ควรให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพและฝึกให้เด็กแบบพอดีๆ ไม่ควรรู้สึกกังวลจนเกินไป เพระเด็กจะรับรู้ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ของผู้ปกครอง และส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้

การเรียนออนไลน์อาจมีส่วนทำให้เด็กรู้สึกเครียดและกดดัน ไปจนถึงปฏิเสธการเรียนและมีอารมณ์เชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นวิตกกังวล ซึมเศร้าหรือมีการแสดงออกที่ก้าวร้าว

สิ่งที่ควรทำคือ ผู้ปกครองควรช่วยจัดสรรเวลาให้เด็กได้พักผ่อนตามสมควร อย่าให้เด็กต้องตรากตรำกับการเรียนหน้าจอนานเกินไป และสนับสนุนให้ทำกิจกรรมเสริมที่สร้างสรรค์ เช่น ทำงานบ้าน ทำอาหาร เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำงานศิลปะ เล่นดนตรี ไม่ควรตามใจหรือปล่อยให้เด็กอยู่กับโทรศัพท์มือถือหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ควรพาเด็กออกไปยืดเส้นยืดสายและทำกิจกรรมที่ได้ออกกำลังกายบ้างอย่างน้อยวันละ 30 นาที

WORKING AGE ดูแลสุขภาพใจคนวัยทำงาน

นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเศรษฐกิจในยุคโควิดที่ถดถอยลงส่งผลให้คนวัยทำงานหลายคนได้รับผลกระทบ เช่น ค้าขายฝืดเคืองรายได้ลดลง ถูกเลิกจ้าง ทำให้ขาดความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและจิตใจ ส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า เพิ่มความเสี่ยงฆ่าตัวตายได้

นายแพทย์วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ ระบุตรงกันว่า ในยุคโควิดระบาดต่อเนื่องยาวนานเกือบ 2 ปีเช่นนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด โดยอธิบายจากข้อมูลที่ได้จากแบบประเมิน Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิตว่า

“ข้อมูลแบบประเมินของเราพบว่า ผู้ที่ตอบแบบประเมินจำนวน 45,000 คนแจ้งว่าตนเองเป็นผู้มีรายได้น้อย ตกงาน และธุรกิจประสบปัญหามีความเครียดสูงสุดประมาณร้อยละ 23 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 30 โดยในประชากรกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตายสูงกว่าประชาชนทั่วไป 3 เท่า”

ดังนั้นหากจะนำไปปรับใช้ในการสอดส่องดูแลจิตใจคนใกล้ตัว มีเกณฑ์ในการพิจารณาง่ายๆ ว่าถ้าเขาเป็นผู้ที่ประสบปัญหาด้านรายได้ เราควรใส่ใจและรับฟังเขาให้มากขึ้น

ทั้งนี้นายแพทย์วรตม์อธิบายต่อว่า

“ข้อมูลที่เก็บจากประชาชนทั่วไป เราเก็บ 3 ส่วน คือ เครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย ส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และ อสม.เราเก็บข้อมูลเรื่องภาวะหมดไฟ จริงๆเริ่มใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มีการประชาสัมพันธ์ให้ใช้มากขึ้นตั้งแต่ 1 มกราคม ปีนี้ จนถึง ณ ขณะนี้มีการเข้าสู่ระบบเพื่อทำแบบประเมิน 1,330,000 ครั้ง

“ในการทำแบบประเมิน จุดมุ่งหมายคือเราอยากให้ประชาชนเข้าถึงแบบประเมินได้ง่ายละอยากให้เขาเข้ามาใช้บ่อยๆ จึงไม่ได้บังคับให้ใส่เลขประจำตัว 13 หลัก เน้นการให้ข้อมูลในการดูแลจิตใจหลังประเมิน

“กรณีที่มีความเสี่ยงซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย เราจะมีช่องให้กรอกเบอร์โทรศัพท์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ติดต่อให้คำแนะนำเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ได้เป็นการบังคับนะครับ”

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 550 1 กันยายน 2564

27 October 2564

By STY/Lib

Views, 771

 

Preset Colors