02 149 5555 ถึง 60

 

สะสมองค์ความรู้ สู่การรับมือในอนาคต

LESSON FOR THE BETTER FUTURE สะสมองค์ความรู้ สู่การรับมือในอนาคต

เรื่องโดย ศิริกร โพธิจักร

ในอีกด้านหนึ่งทีมวิจัยของเธอได้นำเสนอข้อค้นพบว่าการระบาดที่เกิดยาวนานเช่นนี้ได้มาตรฐานในการใช้ชีวิตแบบใหม่ และพบว่าผู้คนทั่วโลกปรับตัวได้ดี เช่น การทำงานที่บ้าน งดการเดินทางหรือเดินทางเท่าที่จำเป็น การปรับมาใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารเพื่อทดแทนการเดินทาง

นอกจากนี้ยังเกิดแนวคิดในการดูแลสุขภาพที่สำคัญนั่นคือประชาชนหันมาเรียนรู้ที่จะดูแลสุขภาพตนเองโดยการกักตัวที่บ้านหรือ Home lsolation อย่างไรก็ตาม วิธีนี้จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีระบบสาธารณสุขและเครือข่ายการสื่อสารที่รัฐให้การสนับสนุนที่ดีพอที่จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถติดตามผลและให้คำแนะนำแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

รองศาสตราจารย์ลารากล่าวว่า ทีมวิจัยของเธอมีข้อเสนอว่า บทเรียนที่ผู้คนทั่วโลกได้รับในครั้งนี้จะนำไปสู่การแบ่งปันและทำงานร่วมกัน เพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ๆมาใช้ในการรับมือกับโรคระบาดครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

“พวกเราเชื่อมั่นว่าผู้คนทั่วโลกไม่ใช่เหยื่อ แต่พวกเขาตะหนักในความสามารถที่ตนเองมีอยู่และนำมาใช้ในการปรับตัว จนสามารถฟื้นฟูสุขภาพกายและใจของตนเองคนรอบข้าง และสังคมที่พวกเขาเป็นสมาชิกอยู่ ให้ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปด้วยกันได้ดีที่สุด”

เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า ในสายตาของนักวิทยาศาสตร์แน่นอนว่าโควิดไม่ใช่โรคระบาดโรคสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในโลกนี้ แต่เป็นแบบฝึกหัดที่ดีที่สุดที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์และผู้คนทั่วโลกหันมาค้นหาศักยภาพและองค์ความรู้ที่จำเป็นจะต้องใช้เป็นบันไดขั้นต่อไปในการมีชีวิตรอดในโลกศตวรรษที่ 22

OUR “MIND” ON PROLONGED COVID-19 สุขภาพใจคนไทยหลังเผชิญโควิดเกือบ 2 ปี

ด้านข้อมูลในประเทศไทยนั้น ชีวจิตได้รับเกียรติจาก ดอกเตอร์ นายแพทย์วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิตและนักวิชาการ สำนักวิชาการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้เพื่อจะได้ทำความเข้าใจว่าการระบาดของโควิดที่ต่อเนื่องยาวนาน นับตั้งแต่การพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทยที่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันรวมเวลาเกือบ 2 ปีนั้น ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพจิตของคนไทยและเราจะหาทางออกร่วมกันได้อย่างไรบ้าง โดยนายแพทย์วรตม์ เริ่มต้นจากการอธิบายว่า

“ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่าการระบาดของโควิดเป็นวิกฤติด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุด ก่อนหน้านี้ปี พ.ศ.2546 เราเคยเจอปัญหาการระบาดของโรคซาร์ส ปี พ.ศ.2558-2562 เป็นการระบาดของโรคเมอร์ส

“ขณะที่วิกฤติอื่นๆ ในรอบ 30 ปีก็มี เช่น ปี พ.ศ. 2540 เรามีวิกฤติเศรษฐกิจหรือเรียกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ตัววิกฤติเองดำเนินอยู่ประมาณ 5-6 เดือน ขณะที่สภาพจิตใจคนกว่าจะฟื้นตัวตามก็ใช้เวลารวมประมาณ 5 ปี

“ถัดมาปีพ.ศ.2547 เรามีวิกฤติจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างสึนามิ และในปี พ.ศ.2554 เป็นเรื่องน้ำท่วมใหญ่ แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นและจบลงในระยะเวลาไม่นาน”

นายแพทย์วรตม์อธิบายเพิ่มเติมโดยชี้ให้เห็นว่า โควิดส่งผลแตกต่างจากวิกฤติที่ผ่านมาอย่างไร

“ตอนที่โควิดระบาดใหม่ๆ ทีมในกรมสุขภาพจิตประเมินว่าผลกระทบทางจิตใจและระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวอาจจะคล้ายๆกัน เพราะครั้งนี้ก็มีปัญหาเศรษฐกิจด้วย ส่งผลให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและปัญหาการฆ่าตัวตายตามมา

“แต่มาจนถึง ณ ขณะนี้ สถานการณ์แตกต่างไป โดยความแตกต่างของวิกฤติโควิดอยู่ที่คีย์เวิร์ดสำคัญคือ จุดสิ้นสุดเนื่องจากทุกวิกฤติที่ผ่านมามีจุดสิ้นสุดชัดเจน ในขณะที่การระบาดของโควิดครั้งนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่”

BURNOUT SYNDROME CHECKLISTเช็ก “ภาวะหมดไฟ” รู้เร็ว แก้ไขทัน

เราจะรู้ได้อย่างไร ว่ากำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟ

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ปัญหานี้เป็นปัญหาที่บุคลากรทางการแพทย์หลายๆคนกำลังประสบอยู่ในช่วงเวลาที่โควิดกำลังระบาดหนัก เนื่องจากต้องทำงานต่อเนื่องโดยไม่ได้พักและต้องเผชิญกับการเสียชีวิตของผู้ป่วยซ้ำๆ เนื่องจากขาดแคลนทรัพยากรในการดูแลผู้ป่วย

นอกจากนี้เรายังพบว่าผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็กเล็กขณะที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านเป็นระยะเวลานานๆก็พบปัญหานี้ได้เช่นกัน

ข้อมูลจาก The United States National Library of Medicine สหรัฐอเมริกา ระบุถึงอาการบ่งชี้ว่ากำลังเกิดอาการหมดไฟ 5 ข้อดังนี้

⚫หมดแรง รู้สึกว่ากำลังวังชาลดวูบลง เช่นเดียวกับกำลังใจก็ลดลงไม่แพ้กัน ไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์หรือแก้ปัญหาอย่างที่เคยทำได้

⚫ความสนใจในงานลดลง เริ่มมีปัญหาขาด ลา มาสาย แยกตัวออกจากเพื่อนร่วมงาน ขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงานให้เสร็จตามปกติ

⚫ผลงานแย่ลง เริ่มส่งงานช้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง

⚫ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับงานที่ทำอยู่ได้ ขาดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการทำงานเมื่อเทียบกับที่เคยทำได้ก่อนหน้านี้

⚫มีปัญหาเรื่องระบบย่อย เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ปวดท้อง

ทั้งนี้ความแตกต่างระหว่างภาวะหมดไฟกับโรคซึมเศร้าคือ ภาวะหมดไฟจะมีอาการหลักๆ ได้แก่ รู้สึกหมดแรงและขาดความสดชื่นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

ขณะที่โรคซึมเศร้ามีอาการหลักคือ รู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง และมีความคิดเกี่ยวกับความตายผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 550 ปีที่ 23 1 กันยายน 2564

18 October 2564

By STY/Lib

Views, 597

 

Preset Colors