02 149 5555 ถึง 60

 

เครียด ซึมเศร้า หมดไฟ ปัญหาทางใจยุคโควิดระบาด

“MIND” ISSUES ON COVID-19 เครียด ซึมเศร้า หมดไฟ ปัญหาทางใจยุคโควิดระบาด

เรื่องโดย ศิริกร โพธิจักร

นอกเหนือจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ณ ขณะนี้คนไทยและผู้คนทั่วโลกก็กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนักหน่วง ชีวจิต ขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจสถานการณ์ทั่วโลกและในไทย ก่อนจะนำเสนอวิธีรับมือกับผลกระทบทางใจจากวิกฤติโควิดค่ะ

RESULT FROM 1,000 STUDIES ข้อค้นพบจากงานวิจัยทั่วโลก

รองศาสตราจารย์ลารา แอคคิน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัย

ไซมอน เฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา และประธานด้านสุขภาพจิตและสุขภาวะในช่วงโควิดระบาดของวารสาร The Lancet ซึ่งเป็นวารสารการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อธิบายถึง 4 สาเหตุสำคัญที่โควิดส่งผลกระทบรุนแรงจนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตไว้ดังนี้

⚫ การอนุมัติของโรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

⚫ คนทุกกลุ่มทั่วโลกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ทั้งหมด

⚫ ขาดการทำกิจกรรมพบปะสังสรรค์กันเหมือนเคย

⚫ เกิดความสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจ ก่อปัญหาทางการเงินในระดับครอบครัวและระดับประเทศ

รองศาสตราจารย์ลาราอธิบายต่อว่า ทีมวิจัยของเธอช่วยกันศึกษางานวิจัยเกือบ 1,000 ฉบับจากกลุ่มตัวอย่างนับแสนคนจากเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับโรควิตกกังวล ซึมเศร้าการฆ่าตัวตาย และความพึงพอใจในการใช้ชีวิต โดยระบุถึงข้อค้นพบในครั้งนี้ว่า

“เราพบสิ่งที่คล้ายคลึงกันจากการศึกษาข้อมูลทั่วโลก นั่นคือในระยะแรกของการระบาด ประชาชนจะมีความเครียดสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แล้วค่อยๆลดลงแม้ยังอยู่ในช่วงการระบาด”

15 WARNING SIGNS สัญญาณเตือนความเครียดสูง

ข้อมูลจากศูนย์การแพทย์ Cleveland Clinic รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา

ระบุถึงสัญญาณเตือนภาวะเครียดสะสม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่ม 1 อาการทางกาย ได้แก่

รู้สึกถูกกดทับที่อกหนักอึ้ง ชีพจรเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก

หายใจไม่เต็มอิ่ม หายใจได้ไม่ลึก

ปวดเกร็งบริเวณคอ บ่า ไหล่ และรู้สึกเจ็บปวดตามร่างกาย

กัดฟัน บดกราม

วิงเวียน เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ทั้งๆที่ไม่ได้ทำกิจกรรมออกแรงใดๆ

น้ำหนักขึ้นหรือลดมากผิดปกติ

นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ

ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องเสีย

มีกิจกรรมทางเพศลดลงจากปกติหรือหมดสมรรถภาพทางเพศ

กลุ่มที่ 2 อาการทางอารมณ์และพฤติกรรมได้แก่

รู้สึกอ่อนไหวทางอารมณ์ง่ายกว่าปกติ

รับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆ มากกว่าเดิม

มีปัญหาเรื่องความทรงจำ

ตัดสินใจในเรื่องทั่วๆไปได้ยากกว่าปกติ

ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมปกติได้

หันไปใช้สารเสพติด เช่น สุรา บุหรี่ หรือ สารเสพติดอื่นๆ

ทั้งนี้หากมีอาการตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป โดยเป็นต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์และส่งผลต่อกิจวัตรประจำวัน ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาต่อไป

PSYCHOLOGICAL IMMUNE SYSTEMระบบภูมิคุ้มกันด้านจิตวิทยา ตัวช่วยฝ่าวิกฤติ

รองศาสตราจารย์ลาราระบุถึงความลับที่ช่วยให้คนเราผ่านความยากลำบากมาได้ แม้ต้องเผชิญกับปัญหาที่ดูเหมือนไม่มีทางออกไว้ว่า

“ข้อค้นพบจากการศึกษาขนาดใหญ่ครั้งนี้นำไปสู่บทสรุปที่นักจิตวิทยาทราบดี นั่นคือคนเรามีความยืดหยุ่นและฟื้นตัวกลับสู่สภาวะเดิมได้ดีกว่าที่ตนเองคิด

“คุณอาจไม่ทราบว่าเราทุกคนมีสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่าระบบภูมิคุ้มกันด้านจิตวิทยา (Psychological Immune System) ซึ่งเป็นความสามารถในกระบวนการคิดที่จะนำพาเราไปสู่ทางออก แม้ขณะตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ดังเช่นที่เกิดขึ้นในผู้ที่ต้องเผชิญกับการบาดเจ็บสาหัสหรือคนที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม”

อย่างไรก็ตาม เธออธิบายว่า แม้ข้อค้นพบนี้จะเป็นเรื่องดี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเมื่อระยะเวลาในการระบาดเกิดขึ้นยาวนานเกือบ 2 ปี ทำให้เกิดปัญหาแบบ “ซึมลึก” ใน 3 ข้อหลักๆ ได้แก่

1.เกิดความรู้สึกเจ็บปวดที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนาน

2.มีการสูญเสียคนรัก สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนฝูง

3.ปัญหาด้านการเงินที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ลาราระบุว่า ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบจนทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องตกอยู่ในความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า และนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุดมี 4 กลุ่มได้แก่

⚫ผู้ที่มีปัญหาด้านการเงิน

⚫ผู้หญิงหรือผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กเล็ก

⚫ผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด

⚫ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทางกายและทางจิตก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาด

ทางทีมวิจัยระบุว่า ในภาวะโรคระบาด ผู้คนใน 4 กลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มเปราะบางที่ภาครัฐและภาคประชาสังคมจำเป็นต้องหันมาเอาใจใส่และให้ความช่วยเหลือทั้งทางการเงินและดูแลสุขภาพกาย เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวและฟื้นฟูสุขภาพใจให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 550 ปีที่ 23 1 กันยายน 2564

15 October 2564

By STY/Lib

Views, 6367

 

Preset Colors