02 149 5555 ถึง 60

 

10 Q&A คู่มือป้องกันโควิด-19 เพื่อแม่ท้อง & หลังคลอด แม่ลูกปลอดภัย ไม่ซึมเศร้า

10 Q&A คู่มือป้องกันโควิด-19 เพื่อแม่ท้อง & หลังคลอด แม่ลูกปลอดภัย ไม่ซึมเศร้า

เรื่องโดย ชัญวลี ศรีสุโข

สถานการณ์โควิดในประเทศไทย ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 (ขณะเขียนต้นฉบับ) มีผู้ป่วยกว่า 7 หมื่นราย เสียชีวิต 276 ราย มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิดทั้งหมด 60 ราย เสียชีวิต 1 ราย ขณะตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6 เดือน

A:ในเมืองไทยยังไม่มีข้อมูล แต่จากงานวิจัยพบว่า ร้อยละ 10 ของคนตั้งครรภ์ทั่วโลกติดเชื้อโควิด เพื่อป้องกันโรคโควิด หญิงตั้งครรภ์ทุกคนต้องป้องกันการติดเชื้อตามมาตรฐาน ได้แก่ อยู่ห่างผู้อื่นสองเมตร ไม่ไปในที่ที่มีคนหมู่มากหรือท้องถิ่นที่มีการระบาด สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ กินอาหารสุกสะอาด ไม่ใช้ช้อนร่วมกับผู้อื่น

หากมีเด็กอยู่ในบ้าน ต้องระมัดระวังไม่ให้ไปเล่นกับเด็กอื่น เพราะอาจจะเป็นพาหะนำเชื้อมาให้ เนื่องจากเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีก็อาการน้อยมาก และปัจจุบันยังไม่มีการให้วัคซีนในเด็ก

ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือลักษณะงานมีความเสี่ยงสูงที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดอาจพิจารณาหยุดงานหรือเปลี่ยนงาน

Q:หญิงตั้งครรภ์ติดโควิดแล้วมีผลต่อสุขภาพและทารกในครรภ์อย่างไร

A:ข้อมูลจากงานวิจัยในหญิงตั้งครรภ์กว่าสองหมื่นรายทั่วโลก สรุปได้ว่า

ทารกพิการในครรภ์ ไม่พบความเสี่ยงมากขึ้นกว่าคนทั่วไป

ทารกตายในครรภ์ งานวิจัยทั่วโลกไม่พบความเสี่ยงมากขึ้นกว่าคนทั่วไป แต่ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 2-6 เท่า เชื่อว่าเพราะมาตรการการฝากครรภ์ที่ต้องอาศัยการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ทำให้การตรวจจับภาวะแทรกซ้อน รวมถึงความรุนแรงของโรคต่างๆในขณะตั้งครรภ์ช้าไป

การแท้งลูก งานวิจัยทั่วโลกไม่พบความเสี่ยงมากขึ้นกว่าคนทั่วไป

ทารกคลอดก่อนกำหนด งานวิจัยทั่วโลกไม่พบความเสี่ยงมากขึ้นกว่าคนทั่วไป แต่งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาสูงขึ้น เชื่อว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดที่เกิดจากเหตุผลทางการแพทย์

ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการติดเชื้อโควิดรุนแรงแพทย์มักจะให้คลอด 32-35 สัปดาห์ จึงเพิ่มอัตราคลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 95 ของทารกที่คลอดจากหญิงติดเชื้อโควิดแข็งแรงปลอดภัย

พบอัตราติดเชื้อโควิดในทารกที่คลอดจากมารดาติดเชื้อโควิดร้อยละ 2-5 ส่วนใหญ่ทารกเจ็บป่วยไม่รุนแรง

Q:คุณแม่ท้องสามารถฉีดวัคซีนได้ไหม หรือควรฉีดช่วงใด

A:สำหรับวัคซีนโควิด ข้อมูลในหญิงตั้งครรภ์ยังมีอยู่น้อยต้องติดตามต่อไป

แต่ทางการแพทย์แนะนำว่า หากมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด ควรฉีดวัคซีนหลังตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์

ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีวัคซีนโควิดสามชนิดได้รับอนุญาติแบบฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ ไบโอเอ็นเทค (BioNTech),โมเดอร์นา (Moderna) และจอห์นสัน&จอห์นสัน (Johnson&Johnson)

ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่า หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดให้นมลูกสามารถฉีดวัคซีนได้โดยสมัครใจ ขณะท้องแนะนำให้ฉีดซิโนแวค (Sinovac) เพราะเป็นวัคซีนเชื้อตาย ผลข้างเคียงน้อยกว่าแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ในเรื่องของการมีไข้

ปัจจุบันแม้มีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน แต่พบว่าผลข้างเคียงในคนท้องเป็นเช่นเดียวกับประชากรทั่วไป

ยังไม่พบอันตรายของวัคซีนต่อแม่และลูก หาก แม่ตั้งครรภ์ฉีดไปแล้วหนึ่งเข็มก่อนการตั้งครรภ์ สามารถฉีดเข็มสองตอนตั้งครรภ์ได้ นอกจากนั้นยังพบภูมิต้านทานโควิดในเด็กบางรายที่คลอดออกมาเมื่อแม่ฉีดวัคซีนด้วย

เช่นเดียวกับเหตุผลความปลอดภัยต่อแม่และลูกของวัคซีนโควิด หญิงที่เตรียมตัวท้องสามารถฉีดวัคซีนได้

Q:มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนโควิดไหม

A:แพ้ส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง หรือมีอาการแพ้รุนแรงเมื่อฉีดเข็มที่ 1

ไม่นะนำให้ฉีดในผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการไม่คงที่ และโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคระบบประสาทรุนแรงฯลฯ

Q:ผลข้างเคียงของวัคซีนโควิดมีอะไรบ้าง

A:มีผลข้างเคียงมากกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีนไบโอเอ็นเทค โมเดอร์นาและจอห์นสัน&จอห์นสัน พบอาการข้างเคียงไม่รุนแรงมาก ที่พบบ่อยได้แก่ ปวดที่ฉีด อาการอื่นๆ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รู้สึกหนาว เป็นไข้ บวม ปวดข้อ คลื่นไส้ โดยเข็มที่สองเป็นมากกว่าเข็มหนึ่ง

สำหรับวัคซีนแอสตราเซเนกา เกิดอาการข้างเคียงถึงร้อยละ 50 โดยเข็มที่หนึ่งเป็นมากกว่าเข็มที่สอง

ส่วนอาการแพ้รุนแรงพบได้ 3-10 ต่อล้านโดส (โมเดอร์นา 3 ไบโอเอ็นเทค 5 แอสตราเซเนกา 10 ต่อล้านโดส) ซึ่งสูงกว่าวัคซีนอื่นๆ รวมถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่แพ้รุนแรงเพียง 1 ล้านโดส

การแพ้รุนแรงทำให้เกิดปัญหาต่อระบบหลอดเลือดและระบบประสาท คนฉีดมักมีอาการไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออกตามตัว ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนไม่หยุด ชัก หมดสติ

อาการมักจะเกิดภายใน 30 นาทีหลังฉีด แต่บางรายอาจเกิดได้หลายวันหลังฉีด เมื่อมีอาการผิดปกติต้องพบแพทย์ทันที

ส่วนการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด ส่วนใหญ่อธิบายว่าเป็นสาเหตุจากโรคเรื้อรังที่เป็นมาก่อน

Q :ถ้าติดโควิคแล้ว หญิงตั้งครรภ์จะดูแลตัวเองอย่างไร

A :หญิงตั้งครรภ์ต้องป้องกันติดเชื้อโควิดอย่างเคร่งคัด หากติดเชื้อโควิดจะเกิดอันตรายมากกว่าคนทั่วไป

หากคนท้องมีอาการไข้หวัดหรือเป็นหวัด ร่วมกับเดินทางไปแหล่งเสี่ยงหรือมีคนติดเชื้อโควิดมาสัมผัส ต้องตรวจคัดกรองหาเชื้อ

ในบางโรงพยาบาล คนตั้งครรภ์ที่มาคลอดจะได้รับการคัดกรองหาเชื้อโควิดทุกราย

ปัจจุบันในประเทศไทยแพทย์แนะนำให้คนติดเชื้อโควิดทุกรายรวมถึงคนตั้งครรภ์ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

สถิติการรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด ที่มีอาการรุนแรงและวิกฤติมีดังนี้

รับไว้รักษาในไอซียู 1,000 ละ 15 (คนทั่วไป 1,000 ละ 1.1)

ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1,000 ละ 2.9 (คนทั่วไป 1,000 ละ 1.1)

ใช้เครื่องหัวใจ-ปอดเทียม (ECMO) 1,000 ละ 0.7 (คนทั่วไป 1,000 ละ 0.3)

เสียชีวิต 1,000 ละ 1.5 (คนทั่วไป 1,000 ละ 1.2)

การดูแลรักษามักเป็นไปตามระดับอาการความรุนแรง แบ่งเป็น 5 ระดับ ดังนี้

-ไม่มีอาการ แพทย์รับไว้ในโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel เฝ้าติดตามในระยะกักตัวและหลังกักตัวจนกว่าไม่พบเชื้อ

-อาการน้อย มีการปวดหัว เมื่อยตัว ไอ ฯลฯ แต่ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ เอกซเรย์ปอดปกติ

แบบนี้แพทย์รับไว้ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel เฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

รักษาตามอาการจนกว่าจะไม่พบเชื้อ

-อาการปานกลาง เอกซเรย์ปอดผิดปกติ แต่ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดเกินร้อยละ 95

แพทย์รับไว้รักษาในโรงพยาบาลจนกว่าจะหาย

-อาการรุนแรง หายใจหอบมากกว่า 30 ครั้งต่อนาที มีรอยโรครุนแรงที่ปอด ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าร้อยละ 95 แบบนี้ต้องรับไว้ในโรงพยาบาลอย่างรีบด่าน รักษาจนกว่าจะหาย

-อาการวิกฤติ การหายใจล้มเหลว อวัยวะต่างๆไม่ทำงานหรือทำงานไม่ปกติ ติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะช็อก แบบนี้เป็นภาวะวิกฤติ ต้องรักษาในไอซียู มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาและสหสาขาดูแล ใช้เครื่องมือช่วยหายใจหรือใช้เครื่องหัวใจ-ปอดเทียม (ECMO) มีโอกาศเสียชีวิตร้อยละ 37-90

Q:ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อโควิดกับการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง

A: หญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด ร้อยละ 73 ไม่มีอาการ ร้อยละ 27 มีอาการและมีความเลี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี มีโรคประจำตัวได้แก่ อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นโรคปอด ภูมิแพ้ ดังนี้

-มีปัญหาระบบหายใจ ปอดบวม การหายใจล้มเหลว เกิดวิกฤติของระบบหายใจ (ARDS)

-หัวใจเต้นผิดปกติ เส้นเลือดหัวใจอุตตัน หัวใจวาย

-เกิดภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ ลิ่มเลือดอุตตันสมอง หัวใจ

-ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำสอง ติดเชื้อในกระแสเลือด

-ไตวาย

-มีปัญหาระบบประสาท ไม่ได้กลิ่น ไม่รับรส ปวดหัว ชัก หมดสติ อ่อนแรง เป็นอัมพาต

-มีผื่นผิวหนัง

-กระเพาะอาหารและลำไส้ผิดปกติ ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน

-การทำงานของตับผิดปกติ ตับวาย

-มีอาการทางจิต เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ วิตกกังวล มีภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD)

Q: อาการของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิดเป็นอย่างไร

A: พบว่า หญิงตั้งครรภ์อาการไม่ต่างจากคนทั่วไป เรียงลำดับจากพบมากไปหาน้อย ดังนี้

-ไม่มีอาการ หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแต่ตรวจพบเชื้อ

-ไอ เป็นอาการที่พบมากที่สุด พบเกินครึ่งหนึ่งของคนที่ติดเชื้อโควิด

-ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ พบร้อยละ 32- 42

-เจ็บคอ หายใจไม่อิ่ม จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส พบร้อยละ 21- 38

-อื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ท้องเสีย น้ำมูกไหล คัดจมูก พบน้อยกว่าร้อยละ 10

อาการติดเชื้อโควิดในหญิงตั้งครรภ์บางอย่างจะเหมือนอาการตั้งท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ท้องเสีย คัดจมูก ทำให้หญิงตั้งครรภ์หลายคนละเลยที่จะมาพบแพทย์

อาการแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์อีกหลายอย่างก็เหมือนการติดเชื้อโควิด เช่น อาการครรภ์เป็นพิษ ที่ทำให้ปวดหัว จุกแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ซึ่งต้องระวัง การมาพบแพทย์ช้าอาจจะเป็นอันตรายต่อมารดาและทารก

Q: การเลือกช่องทางคลอดในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิดทำอย่างไร

A: จากบทเรียนการดูและเคสคนท้องที่ผ่านมา ปัจจุบันสรูปได้ว่า ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ว่าคลอดเองตามธรรมชาติหรือผ่าคลอด แบบไหนแม่ลูกจะปลอดภัยกว่า อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศอัตตราการผ่าคลอดหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิดจะสูงกว่าการคลอดของคนทั่วไปหลายเท่า

ช่วงที่หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 ในระยะต้น ๆ ไม่มีข้อมูลเพียงพอ การคลอดมักใช้วิธีผ่าตัดคลอด

โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง วิกฤติ

ส่วนในรายที่มีอาการน้อย ปานกลาง ก็นิยมผ่าตัดคลอดเช่นกัน เพราะทรัพยากรในการป้องกันตนเองและจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการเฝ้าคลอด ขณะที่การผ่าคลอดสามารถจำกัดเวลาและจำกัดคนช่วยได้

Q: หลังคลอดสามารถให้นมลูกได้ไหมและควรเลี้ยงลูกอย่างไร

A: ลูกจะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดหลังคลอด 24 ชั่งโมง หากผลเป็นลบจะทำซ้ำอีกครั้งหลังคลอด

48 ชั่วโมง

สำหรับการให้นมลูกในมารดาที่ติดเชื้อ แม้ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันได้ว่าเชื้อโควิดไม่ออกในน้ำนม แต่ทางการแพทย์เชื่อว่าการให้นมลูกมีผลดีมากกว่าผลเสีย ในบางรายแม่สามารถส่งผ่านภูมิต้านทานโควิดให้ลูกทางน้ำนมได้ แต่ต้องมีการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรฐาน เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ให้นม ล้างมือบ่อยๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ควรงดให้นมในมารดาที่ป่วยรุนแรงไม่สามารถดูแลลูกได้ หรือทารกมีเชื้อโควิดมีความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรง หรือป่วยรุนแรงจากการคลอดก่อนกำหนด การติดเชื้อ มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ โรคปอด เป็นต้น

โดยทั่วไปมารดามีโอกาสต่ำที่จะแพร่เชื้อให้ลูกกรณีที่ป้องกันตามมาตรฐาน โดยเฉพาะมารดาที่

-อาการของการติดเชื้อโควิดหายไป 10 วันในกรณีเป็นน้อย หรือหายไป 20 วันกรณีที่เป็นรุนแรง

-ไม่มีไข้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง

-อาการที่เคยเป็น เช่น เมื่อยตัว หายใจไม่อิ่ม ปวดศรีษะ ฯลฯ หายไป อาการทั่วไปเป็นปกติ

สรุป การระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังรุนแรงทั่วโลก ในหญิงตั้งครรภ์การติดเชื้อโควิดมีผลกระทบกับทารกไม่สูงมาก แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพของแม่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์อย่างมาก หญิงตั้งครรภ์ จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและรับมือหากติดเชื้อโควิด รวมถึงการฉีดวัคซีนเพื่อสุขภาพที่ดีของมารดาและทารก

มารดาไม่ควรหวาดวิตกจนเกินไป หากวิตกควรปรึกษาคนในครอบครัว สายด่วนสุขภาพจิต จิตแพทย์

และ/หรือแพทย์ผู้รับฝากครรภ์

มารดาควรเชื่อมั่นในการแพทย์ เพราะองค์ความรู้และประสบการณ์รับมือกับโควิดมีประสิทธิภาพขึ้นกว่าตอนระบาดใหม่ ๆ

มองโลกในทางบวก โควิดก็เหมือนโรคระบาดอื่นๆ เมื่อมีมาก็ต้องมีจาก เพียงแต่ต้องป้องกันตัวเองยกการ์ดสูงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจนพ้นช่วงระบาด

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 545 ปีที่ 23 16 มิถุนายน 2564

24 August 2564

By STY/Lib

Views, 435672

 

Preset Colors