02 149 5555 ถึง 60

 

“วัคซีน COVID-19” ลดความเสี่ยงช่วยห่างไกลโควิด

“วัคซีน COVID-19” ลดความเสี่ยงช่วยห่างไกลโควิด

เรื่องโดย ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูรณ์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก (SICRES) และอาจารย์สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

“วัคซีนป้องกัน COVID-19 ทุกชนิดปลอดภัย ซึ่งมีประสิทธิภาพและจำเป็น ต้องรีบฉีดให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย”

ในขณะนี้ใครๆ ก็พูดถึงแต่เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 สำหรับประเทศไทย ณ ปัจจุบัน (พ.ค. 64) ประเทศไทยใช้วัคซีนที่ผลิตจากบริษัท AstraZeneca และวัคซีนที่ผลิตจาก บริษัท Sinovac ซึ่งวัคซีนทั้งสองมีประสิทธิภาพดีทั้งคู่ แต่วัคซีนทั้งสองยี่ห้อนี้ก็อาจทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ หรืออาการข้างเคียงภายหลังจากการฉีดวัคซีนได้

อาการข้างเคียงภายหลังจากการฉีดวัคซีนแบ่งเป็น 2 ประเภทอาการ คือ

1.อาการข้างเคียง ที่คาดเดาได้

อาทิ อาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด หรือ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ อาการคล้ายหวัด คลื่นไส้อาเจียน ชา อ่อนแรง และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่จะมีอาการข้างเคียงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีร่างกาย ไม่พร้อมอยู่ก่อน เช่น ไม่สบาย อดนอน หรือมีความเครียดสูง จะทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนมากขึ้น เช่น เพลียมาก เดินไม่ไหว ชามาก แต่ไม่ว่าจะมีอาการข้างเคียงน้อยหรือมากก็จะหายเป็นปกติ ส่วนใหญ่หายภายใน 1-3 วัน แต่บางคนอาจจะหายช้ากว่านี้ได้ โดยไม่มีอะไรรุนแรงหรืออันตราย เมื่อมีอาการให้รักษาตามอาการ เช่น ให้ทานยาลดไข้ พาราเซตามอลตามปกติเมื่อมีไข้

2.อาการแพ้วัคซีน เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดกับใคร

พบไม่บ่อย ประมาณ 1 ในแสนโดส เหมือนกับที่เราพบในผู้ที่แพ้ยาหรืออาหาร ผู้ที่แพ้รุนแรงจะแสดงอาการภายใน 30 นาทีภายหลังการได้รับวัคซีน ซึ่งอาการแพ้รุนแรงมีได้หลายแบบ เช่น หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น แน่นหน้าอก หรืออาจมีอาการหายใจไม่ออก มีผื่นคล้ายลมพิษขึ้นบริเวณใบหน้าใบหน้าบวม ปากบวม คลื่นไส้อาเจียน ส่วนอาการแพ้ที่เกิดช้าหลัง 30 นาที มักจะไม่ค่อยรุนแรง เช่น เป็นผื่นลมพิษ เป็นต้น

นั่งพักเพื่อสังเกตอาการ 30 นาที จำเป็นอย่างไร

จำเป็นอย่างมาก หลังจากที่ท่านได้รับการฉีดวัคซีนฉีดป้องกัน COVID-19 จะต้องนั่งพักเพื่อรอสังเกตอาการ 30 นาที ณ สถานที่ที่ฉีดวัคซีนแห่งนั้น เนื่องจากหากพบว่ามีอาการข้างเคียง หรืออาการ “แพ้วัคซีน” หรือ “แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน” ก็จะได้รับการรักษา/ฉีดยาแก้แพ้ได้ทันท่วงที ก็จะหายอย่างรวดเร็ว เมื่อกลับไปที่บ้านแล้วยังคงต้องเฝ้าสังเกตอาการต่ออีกสักระยะหนึ่ง เพื่อสังเกตอาการแพ้ไม่รุนแรงซึ่งอาจเกิดขึ้นภายหลัง อย่างไรก็ตามควรต้องสังเกตอาการและทำการบันทึกอาการผิดปกติทุกอย่างที่พบภายหลังจากฉีดวัคซีนลงใน Application หมอพร้อม และหากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ก็สามารถโหลด Application หมอพร้อม ไว้ก่อนได้เลย ซึ่งจะทำให้ท่านเข้าถึงการนัดหมายเพื่อรับการฉีดวัคซีน COVID-19 ค่ะ

ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยา/วัคซีน สามารถรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้หรือไม่

ไม่ว่าจะมีประวัติการแพ้อะไรก็ตาม สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้ตามปกติ สำหรับผู้ที่มีประวัติการแพ้มากๆ ก็อาจมีโอกาสแพ้วัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้มากกว่าคนที่ไม่มีประวัติการแพ้ใดๆ ได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีประวัติการแพ้ต่างๆ จะสามารถฉีดวัคซีน COVID-19 ได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หากท่านเป็นผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาง่าย ก่อนที่จะไปรับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ท่านสามารถกินยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ทำให้ง่วงนอนกันไว้ก่อนประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ก็จะสามารถบรรเทาอาการแพ้เล็กๆ น้อยๆ ไปได้

ถ้ามีโรคประจำตัว สามารถรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้หรือไม่

หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือด โรคปอด โรคหัวใจ ฯลฯ ยิ่งสมควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แต่สิ่งสำคัญหากท่านมีอาการคงที่ สงบดี ไม่มีปัญหาโรคกำเริบเร็วๆนี้ สามารถฉีดวัคซีนได้เลย แต่หากท่านมีอาการไม่คงที่ โรคยังเป็นมาก กำเริบหรือรุนแรง กินยากดภูมิมากๆ ควรต้องรับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนว่าพอที่จะรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้หรือไม่ และถ้าหากได้รับคำวินิจฉัยว่าฉีดได้ ก็ไม่ควรลังเลที่จะมารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยเร็วที่สุด

วัคซีนป้องกัน COVID-19 กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดอะไรก่อน

ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมๆ กับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในขณะนี้ จนกว่าจะมีข้อมูลทางการแพทย์มากขึ้น ควรเว้นระยะอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ท่านยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้ในขณะนี้ก็ควรรีบไปรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน

หญิงตั้งครรภ์รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้หรือไม่

ควรพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่เสี่ยงหรือที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรฉีดหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์

วัคซีนป้องกัน COVID-19 สำหรับเด็กมีหรือไม่ อย่างไร

ขณะนี้วัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่มีใช้ยังไม่สามารถใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปีได้ จนกว่าจะมีข้อมูลทางการแพทย์มากกว่านี้

สำหรับผู้สูงอายุ มีข้อพึงระวังอะไรเป็นพิเศษหรือไม่

ผู้สูงอายุที่มีแผนจะฉีดวัคซีน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม พักผ่อนนอนหลับให้พอ กินยารักษาโรคประจำตัวให้ดีแล้วจากนั้นก็สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19

การเตรียมร่างกายก่อนรับการฉีด

ทำร่างกายและจิตใจให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ เชื่อมั่นในวัคซีนป้องกัน COVID-19 ว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เราสามารถฉีดได้ก่อน ฉีดก่อนป้องกันก่อน ไม่คุ้มที่จะไปรอวัคซีนหมายปอง เมื่อฉีดแล้วเราจะปลอดภัยจากโรคโควิด 19 การฉีดวัคซีนจะทำให้เราปลอดภัย สังคมปลอดภัย และประเทศปลอดภัยค่ะ

วารสารศิริราชประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ปีที่ 33 ฉบับที่ 443 มิถุนายน 2564

29 June 2564

By STY/Lib

Views, 11143

 

Preset Colors