02 149 5555 ถึง 60

 

การตีตราทางสังคม ต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 กับการปกปิดข้อมูลสำคัญทางการแพทย์

การตีตราทางสังคม ต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 กับการปกปิดข้อมูลสำคัญทางการแพทย์

เรื่องโดย อ.นพ.พร ทิสยากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

จากกรณีผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลายรายปกปิดข้อมูลประวัติการเดินทางของตนเอง (Timeline) เนื่องจากเกรงจะถูกสังคมประณาม อาจมีส่วนทำให้สถานการณ์การแพร่เชื้อกระจายไปในวงกว้าง ส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนสูงขึ้นมาตลอดเดือนเมษายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา การตีตราทางสังคม (Social Stigma) ให้แก่ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นประเด็นสำคัญที่ อ.นพ.พร ทิสยากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจิตเวชศาตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยหยิบยกมาพูดคุยในคอลัมน์ “บ้านเลขที่ 1873” ฉบับนี้

ไม่ผิดที่จะกังวล แต่จะจัดการความกังวลอย่างไร

เป็นเรื่องปกติที่ผู้เสี่ยงติดเชื้อ รวมถึงผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะเกิดความเครียดและวิตกกังวลเนื่องจากการติดเชื้อนั้นนอกจากจะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเองแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบไปสู่คนรอบข้างและชุมชนได้ด้วย

อ.นพ.พร เผยว่า เมื่อแต่ละคนทราบว่าตนเองเป็นผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อย่อมเกิดความสับสน เกิดความเครียดความกังวลจากหลายเรื่องอาทิ ความเครียดว่าตนเองจะติดเชื้อหรือเจ็บป่วยรุนแรง ความสับสนว่าจะจัดการหรือสื่อสารกับผู้คนรอบข้างอย่างไร รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับงานที่ต้องรับผิดชอบ แต่สิ่งเหล่านี้เราสามารถเริ่มต้นรับมือได้ด้วยตนเองตั้งแต่ระยะแรก โดยเมื่อสังเกตได้ถึงอาการวิตกกังวลมากเกินไปหรือไม่ และความกังวลที่เกิดขึ้นนี้มีประโยชน์หรือไม่ จะได้แยกแยะและเลือกวิธีจัดการความกังวลที่เหมาะสมได้ต่อไป

ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : การเปิดเผยข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

การตีตราทางสังคมแก่ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจสะท้อนให้เห็นได้จากการแสดงความเห็นด้านลบเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อผ่านทางคำพูดและบนสื่อสังคมออนไลน์ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อ เกิดความกลัวที่คนอื่นจะรู้ข้อมูลส่วนตัวของตนและจะตกเป็นจำเลยของสังคม จึงเลี่ยงที่จะเปิดเผยประวัติการเดินทางของตนเอง หรือแม้แต่ไม่ยอมแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าตนเองเสี่ยงติดเชื้อ อันจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ แต่แพทย์ก็อยากแนะนำและขอร้องให้ผู้ที่มีความเสี่ยงพิจารณาเปิดเผยประวัติการเดินทางของตนเองและให้ข้อมูลด้านความเจ็บป่วยต่างๆ อย่างครบถ้วน เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อตนเองที่แพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคได้โดยละเอียดรวดเร็วและให้การรักษาได้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคในระดับชุมชนและสังคม

เปลี่ยนการตีตราทางสังคมเป็นการขอบคุณและร่วมมือ

ในด้านของชุมชนและสังคมซึ่งนับว่าเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งที่จะมีผลต่อการสร้างค่านิยมที่เหมาะสมและลดการตีตราทางสังคม อ.นพ.พร กล่าวว่า ถ้าทุกภาคส่วนในสังคมจะมีส่วนร่วมช่วยกันเปลี่ยนความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องไปสู่ความเข้าใจ เห็นใจ และเคารพในความเป็นมนุษย์ต่อผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ ทั้งหมดนี้ค่อยๆ เริ่มจากการตระหนักว่าตัวเราเองก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเหมือนกัน แล้วก็ฝึกระมัดระวังคำพูดและการกระทำของตนเองที่อาจเพิ่มการตีตราขึ้นไป ทั้งนี้อาจมองสถานการณ์ได้หลายระดับ คือ

ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อสงสัยว่าตนเองติดเชื้อ ควรพิจารณาที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองและเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างทันท่วงที โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและสังคมสูงสุด

บุคลากรทางการแพทย์ ควรปฏิบัติตามแนวทางวิธีการซักประวัติและตรวจประเมินอย่างเป็นมืออาชีพ และควรคำนึงถึงเรื่องการรักษาความลับของผู้ป่วย ขณะเดียวกันในฐานะผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพย่อมต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้มารับบริการอย่างเต็มที่

กลุ่มจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ที่มีบทบาทในการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ป่วยควบคู่ไปกับการรักษา รับฟังผู้ป่วยอย่างเข้าใจ พร้อมให้แนวทางในการบรรเทาความวิตกและความเครียดอย่างเป็นขั้นตอน รวมถึงติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

บุคลากรระดับนโยบายของสังคม ในฐานะที่เป็นผู้มีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อในสังคม ควรนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยแบบจำเพาะเจาะจง ไม่กล่าวโทษผู้ที่มีความเจ็บป่วยมีระบบการตรวจคัดกรองที่สะดวก ขณะเดียวกันสามารถเชิญชวนและกล่าวขอบคุณผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อทุกคนที่ร่วมรับการตรวจและเปิดเผยข้อมูล

ระดับสังคมและชุมชน เมื่อพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ไม่ควรกล่าวโทษหรือตำหนิ แต่ควรเปลี่ยนเป็นการรับฟังข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เป็นโอกาสในการรวมพลังของชุมชนเพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยและครอบครัว ขณะเดียวกันผู้นำชุมชนหรือผู้นำศาสนาที่มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนในชุมชนก็ควรตระหนักอย่างยิ่งถึงผลเสียของการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จและความเห็นเชิงอคติ

อ.นพ.พร กล่าวส่งท้ายว่า ความเข้าใจและการให้กำลังใจ รวมถึงการไม่กล่าวโทษหรือตำหนิกันในระดับบุคคลจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คนในสังคมกล้าเปิดเผยข้อมูลและเปลี่ยนการตีตราทางสังคมมาเป็นการเกื้อกูลกันและกัน

The Prestige of KCMH&MDCU โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ปีที่ 6 ฉบับที่ 62 ประจำเดือน พฤษภาคม 2564

8 June 2564

By STY/Lib

Views, 3383

 

Preset Colors