02 149 5555 ถึง 60

 

เช็กบิลความเครียด

เช็กบิลความเครียด

ความเครียดเกิดขึ้นเมื่อคนเราต้องเผชิญกับความกดดัน ทั้งทางร่างกายจิตใจและอารมณ์

ความกดดันจากการเจ็บไข้ได้ป่วย การขาดสมรรถภาพในการกระทำกิจกรรมให้สำเร็จ ความไม่สมหวัง ความโกรธ ความวิตกกังวล ในปัจจุบันจากโรคโควิด-๑๙ ซึ่งส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนว่างงาน ความไม่มั่นใจในอนาคต เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดความเครียด

แม้ว่าเราเปลี่ยนสาเหตุจากความเครียดไม่ได้ แต่เราลดความเครียดได้โดยการเปลี่ยนวิธีการ การตอบสนองต่อความเครียด

ประเภทความเครียด

๑.ความเครียดเฉียบพลัน

เกิดจากเผชิญสถานการณ์กดดันทันทีทันใด เช่น สถานการณ์กดดันจากอันตรายความเสี่ยง สถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจอย่างยากลำบาก เหตุการณ์สะเทือนใจ เป็นการตอบสนองของร่างกายและจิตใจตามธรรมชาติเพื่อการเอาตัวรอดของมนุษย์ เมื่อสถานการณ์ผ่านไป ความเครียดจะเริ่มลดลง

๒.ความเครียดเรื้อรัง

เกิดจากความเครียดเฉียบพลันที่เกิดซ้ำๆ หรืความเครียดที่ก่อตัวอย่างสะสมต่อเนื่อง เช่น ปัญหาสุขภาพการเจ็บป่วยเรื้อรัง ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาจากการทำงาน ปัญหาความขาดแคลนปัจจัย ๔ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ความล้มเหลวซ้ำๆเป็นต้น

ความเครียดเรื้อรังเกิดจากปัจจัยที่แก้ไขไม่สำเร็จ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนเรา และเป็นวัฏจักรให้เกิดความเครียดสะสมเพิ่มขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความเครียด

๑.กรรมพันธุ์

๒.อายุ ความเครียดเกิดได้บ่อยในช่วงรอยต่อจากเด็กช่วงวัยรุ่น วัยใกล้หมดประจำเดือน วัยสูงอายุ

๓.การเปลี่ยนการดำเนินชีวิต เช่น การเปลี่ยนสถานศึกษา การเปลี่ยนงาน การเปลี่ยนหน้าที่รับผิดชอบ

๔.การอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแข่งขัน การตั้งเป้าหมายสูงที่ท้าทาย

๕.สภาพแวดล้อม ความแออัด ความวุ่นวาย สับสน เสียงรบกวน ความสกปรกมลภาวะ เป็นต้น

อาการจากความเครียด

๑.ทางร่างกาย

หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ปวดศีรษะ วิงเวียน หน้ามืด ม่านตาขยาย เหงื่อออก กล้ามเนื้อหดเกร็ง ปวดเมื่อยตามร่างกาย เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรงและเร็ว หายใจเร็วตื้นๆ

ความเครียดสะสมทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง แผลในกระเพาะอาหาร ท้องผูก ท้องเสีย

โรคภูมิแพ้ หอบหืด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มะเร็ง เป็นต้น

๒.ทางจิตใจ

อาจเกิดอารมณ์โกรธ โมโห ฉุนเฉียว วิตก กังวล เสียความมั่นใจ หมดความภาคภูมิใจในตนเอง ทำให้เกิดโรคประสาท โรคจิต โรคความจำเสื่อม โรคซึมเศร้า เป็นต้น

๓.ทางพฤติกรรม

อาจมีอาการเบื่ออาหารหรือกินอาหารมากผิดปกติ แยกตัวเอง หนีสังคม ก้าวร้าว นอนไม่หลับ เที่ยวเตร่

สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ติดสารเสพติด ติดการพนัน ส่งผลให้การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันบกพร่องประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

“แม้ว่าเราเปลี่ยนสาเหตุความเครียดไม่ได้ แต่เราลดความเครียดได้”

“ความเครียดมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา อย่าปล่อยให้ความเครียดมีอิทธิพลทางลบต่อชีวิตต่อเนื่องยาวนาน”

การจัดการความเครียด

๑.การแก้ไขสาเหตุความเครียด หากทำได้สำเร็จ จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ แต่สาเหตุความเครียดหลายเรื่อง มีปัจจัยที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน ยากต่อการแก้ไขให้ลุลวงไปได้

๒.การจัดการการตอบสนองต่อความเครียด

มีวิธีการต่างๆ ที่สามารถนำไปปฏิบัติ ได้แก่

๒.๑ การเข้าหาคนใกล้ชิด คนที่เข้าใจ เพื่อรับฟังการระบายปัญหาความทุกข์

๒.๒การปรับเปลี่ยนความคิด โดยการยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น คิดพอใจในสิ่งที่ตนเองมี มองข้ามสิ่งที่ตัวเองยังไม่มี

๒.๓สร้างทัศนคติคิดบวก และสร้างอารมณ์ขัน

๓.การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

๓.๑ การจัดสรรเวลา ในชีวิตประจำวันให้สมดุล ทั้งชีวิตส่วนตัว ครอบครัวและหน้าที่การงาน ไม่ทำงานในเวลาที่อยู่กับครอบครัว และไม่พัวพันเรื่องของครอบครัวในเวลาทำงาน

๓.๒การออกกำลังกาย ที่เหมาะสมกับวัยและภาวะสุขภาพ บางครั้งในสถานการณ์ที่เกิดความเครียด การพาตัวเองไปออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เป็นการแก้ไขความเครียดและสร้างความสุขที่ได้ผล

๓.๓การทำงานอดิเรก ทำกิจกรรมที่ชอบ การพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งการนอนหลับอย่างเพียงพอ

๓.๔การเข้าสังคม คบคนที่มองโลกในแง่ดี

๓.๕การฝึกสมาธิ ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้จิตสงบ

๔.ระวังการแก้ไขปัญหาผิดวิธี โดยการกระทำรุนแรงต่อบุคคลอื่น ทรัพย์สิน ทำร้ายตนเอง คบหาสมาคมกับคนเสเพล เข้าหาสิ่งเสพติด เช่น บุหรี่ สุรา ยาเสพติด หรือหมกมุ่นสิ่งที่เป็นอบายมุข

๕.ปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การรักษาและเยียวยา ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เช็กบิลความเครียด

ความเครียดมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา อย่าปล่อยให้ความเครียดมีอิทธิพลทางลบต่อชีวิตต่อเนื่องยาวนาน

แม้ปัจจัยความเครียดยังคงอยู่ แต่เราสามารถพาตัวเองออกจากความเครียดได้ โดยการจัดการความเครียดด้วยวิธีต่างๆที่เราทำได้

วารสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 42 ฉบับที่ 504 เมษายน 2564

30 April 2564

By Lib/STY

Views, 25755

 

Preset Colors