02 149 5555 ถึง 60

 

รู้จัก เข้าใจ และพร้อมรับมือ การกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019

รู้จัก เข้าใจ และพร้อมรับมือ การกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019

แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการกระจายวัคซีนไปยังสถานที่ต่างๆ

แต่อย่างไรก็ตามในวงการการแพทย์ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

สภากาชาดไทยและ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤกษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสว่า โดยทั่วไปอาจเกิดจากการแบ่งตัวของไวรัสในธรรมชาติที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงชนิดของสารพันธุกรรมได้ ซึ่งในบางครั้งอาจก่อให้เกิดผลต่อการแบ่งตัว คุณสมบัติในการแพร่กระจายเชื้อ ความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ปัจจัยทางการรักษายังสามารถเป็นอีกสาเหตุในการกลายพันธุ์ของไวรัสได้อีกด้วย

ทั้งนี้จากการศึกษารหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019(SARS-COV-2) อย่างต่อเนื่องของประเทศต่างๆทั่วโลก

ทำให้มีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่มากกว่า 800 ชนิด โดยบางสายพันธุ์นั้นสามารถแพร่กระจายโรคได้รวดเร็วกว่า รุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมและอาจไม่ตอบสนองต่อวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

พบ 3 สายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 มีการกลายพันธุ์

ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา มีรายงานการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยและการป้องกันโรคที่สำคัญรวม 3 สายพันธุ์ด้วยกันคือ

1.สายพันธุ์ B.1.1.7 หรือ N501Y จากประเทศอังกฤษ

2.สายพันธุ์ B.1.351 หรือ 501Y.2 จากประเทศแอฟริกาใต้

3.สายพันธุ์ P1 จากประเทศบราซิล โดยพบล่าสุดในผู้โดยสารที่เดินทางในสนามบินประเทศญี่ปุ่น

จากข้อมูลในฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา 2019 ใน GISAID พบว่าประเทศไทยมี การรายงานรหัสพันธุกรรมของไวรัสแบบทั้งจีโนม (whole Genome) รวม 460 Sequences จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศทั้งสิ้น 13,302 คน หรือร้อยละ 3.46 (ข้อมูล ณ วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ.2564) สายพันธุ์ส่วนใหญ่ที่พบคือ กลุ่ม clads s โดยได้ตัวอย่างมาจากผู้ป่วยที่พบการระบาดในประเทศไทยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนและได้รับการตรวจทางห้องปฎิบัติการด้วยวิธี PCR เพื่อการรักษาโรคแต่ไม่ได้นำมาถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อศึกษาสายพันธุ์ไวรัส การกลายพนธุ์ของไวรัสจึงจำเป็นต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะบางกรณีอาจจะส่งผลต่อการกระจายตัวของไวรัสตลอดจนระดับความรุนแรงของโรค อีกทั้งการวินิจฉัยยังทำได้จากการตรวจทางห้องปฎิบัติการเท่านั้น ดังนั้นการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 อย่างใกล้ชิดจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ

การเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาดชาดไทย ในการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ผศ.นพ.โอภาสกล่าวถึงการติดตามสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและยังได้มีการจัดทำโครงการเฝ้าระวังไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-COV-2) สายพันธุ์กลายพันธุ์เพื่อเฝ้าระวังไวรัสทั้งที่พบการกลายพันธุ์แล้วจากต่างประเทศ รวทั้งสายพันธุ์ใหม่ที่อาจพบครั้งแรกในประเทศไทย โดยร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีประวัติการเดินทางมาจากต่างประเทศ และกองด่านควบคุมโรค กรมควบคุมโรค รวมถึงผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อจัดทำฐานข้อมูลไวรัสโคโรนา 2019 ที่พบในประเทศไทยให้ทันสมัยอยู่เสมอ พร้อมกันนี้ยังจัดสร้างฐานข้อมูล clinical Genomics lntegration Platform (CGIP) สำหรับหน่วยงานเครือข่ายที่จะสามารถเข้าใช้งานเพื่อประกอบการวินิจฉัย รักษาและควบคุมโรคในอนาคต

แนวทางการดำเนินการเหล่านี้นอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยแล้ว ยังเป็นการยกระดับการเฝ้าระวังโคโควิด-19 ให้ประเทศไทยสามารถมีความพร้อมในการป้องกันและการตรวจคัดกรองผู้ป่วยระยะแรก(Early Detection) ก่อนการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วย ประสิทธิภาพของวัคซีน ตลอดจนศักยภาพของการป้องกันและควบคุมโรค

อาการทางผิวหนัง จากโรคโควิด-19 ผลข้างเคียงที่ไม่ควรมองข้าม

แม้ว่าโรคโควิด-19 จะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเป็นหลักแต่อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางผิวหนังร่วมด้วย รศ.พญ.ภาวินี ฤกษ์นิมิต แพทยืผู้เชี่ยวชาญสาขาตจวิทยา ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งทำการศึกษาวิจัยและเชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง พบว่าอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีผลต่อร่างกายผู้ติดเชื้อในหลายระบบ นอกจากนี้จากสถิติพบว่าประมาณ 0.2-20% ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั้งหมดมีอาการผื่นทางผิวหนังร่วมด้วย

รศ.พญ.ภาวินีและคณะทำงานได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลผู้ป่วยตลอดระยะเวลาของการระบาดโควิด-19 ระลอกแรก และได้ตีพิมพ์เป็นผลงานวิจัยอาการทางผิวหนังใน COVID-19 กรณีศึกษาประเทศเขตร้อน(skin Manifestatons in COVID-19:Tropics Experience) เมื่อปีพ.ศ.2563 พบว่า สถิติผู้ป่วยโควิด-19

ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 153 ราย มีอาการโรคผิวหนังร่วมด้วย 23 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% โดยอาการบ่งชี้ทางผิวหนังของผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา2019 จะแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มอาการ เช่น ผื่นผิวหนังแบบผื่นลมพิษ ผื่นแดงชนิด Maculopapular ตุ่มน้ำที่ผิวหนังหรือผิวหนังแตกเป็นแผลจากการขาดเลือด

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการทางผิวหนังในประเทศแถบยุโรปและประเทศแถบเอเชียจะมีอาการทางผิวหนังแตกต่างกัน กล่าวคือผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศแถบเอเชียมักมีอาการผื่นลมพิษ ผื่นแดงทั่วตัวหรือผื่น แบบตุ่มน้ำ

ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศแถบยุโรปจะมีอาการหนึ่งที่ไม่พบในประเทศไทย คือมีอาการปลายมือปลายเท้าม่วงคล้ำ ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่าอาการ Covid Toe อันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็น ทั้งนี้วิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการทางผิวหนัง แพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาสเตียรอยด์รักษาอาการตุ่มนูน ตุ่มคัน

หรือ ยาแก้แพ้รักษาอาการลมพิษ เป็นต้น

อาการทางผิวหนังที่พบในผู้ป่วยโรคโควิด-19 สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภทคือ

1.อาการผื่นผิวหนังจากโรคโควิด-19 โดยมีอาการบ่งชี้ เช่น ผู้ป่วยเป็นลมพิษ ผื่นแดง ตุ่มน้ำพองหรือมีแผลแตก

บริเวณผิวหนัง

2.อาการผื่นผิวหนังจากการสวมหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกัน PPE ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทำให้บางรายเป็นสิวหรือผื่นแดงบริเวณใบหน้าอันเนืองมาจากการสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน หรือบางรายเกิดจากการแพ้ส่วนประกอบบางชนิดของหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ยังมีบางรายที่พบอาการผื่นแดงตามมือจากการล้างมือบ่อยจนมือแห้งและระคายเคือง

แม้ว่าการเก็บข้อมูลมาจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่าอาการทางผิวหนังของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะก่อให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่รศ.พญ.ภาวินี เน้นย้ำว่า หากประชาชนมีอาการไข้ หายใจไม่สะดวก จมูกไม่ได้กลิ่น หรือมอาการผิวหนังร่วมด้วยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา พร้อมกันนี้ยังฝากถึงประชาชนทุกคนในเรื่องการดูแลตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยและควรเปลี่ยนใหม่บ่อยๆ หรือหากเป็นหน้ากากผ้าควรหมั่นซักทำความสะอาดสม่ำเสมอ รวมถึงควรล้างมือบ่อยๆและทาครีมบำรุงผิว(Moisturizer) เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและลดการระคายเคืองของผิวหนัง เพื่อป้องกันตัวเองจากการสัมผัสเชื้อและลดความเสี่ยงของอาการทางผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นได้

วารสารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณื สภากาชาดไทย ฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว

ปีที่ 6 ฉบับที่ 61 ประจำเดือน เมษายน 2564

23 April 2564

By STY/Lib

Views, 3400

 

Preset Colors