02 149 5555 ถึง 60

 

เด็กไทยมีไอคิวต่ำลงจริงหรือ?

เด็กไทยมีไอคิวต่ำลงจริงหรือ?

ผลการประเมินการทดสอบวัดนานาชาติ ด้านการวัดความรู้เด็กไทยล่าสุดมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

จากข่าวทางหน้าสื่อสารมวลชน บีบีซีไทย ได้เผยแพร่ผลการประเมินการสอบวัดความรู้ปีล่าสุด 2018 โดยเผยแพร่ทางเวปไซท์บีบีซีไทยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2019 นี้เองว่า ไทยยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ใน 3 วิชาหลักที่ได้ทำการทดสอบนานาชาติ นั่นคือ นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน) คณิตศาสตร์ 419 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน)

ผลการประเมิน PISA รอบปี 2018 จาก 79 ประเทศทั่วโลก พบว่า ไทยยังคงได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในการสอบวัดความรู้ทั้ง 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ขณะที่ 4 เมืองใหญ่ของจีน แซงหน้าขึ้นมาครองอันดับ 1 แทนสิงคโปร์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แนะควรพัฒนาความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทยอย่างเร่งด่วน หลังคะแนนลดลงต่อเนื่อง

โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เพื่อประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ในประเทศที่เข้าร่วม ทุก ๆ 3 ปี

เอเชีย ครองแชมป์ 4 อันดับแรก

การประเมินความสามารถด้านการอ่าน ปี 2018 พบว่า 4 อันดับแรกเป็นประเทศในกลุ่มเอเชีย ประกอบด้วย จีน สิงคโปร์ มาเก๊า และ ฮ่องกง

ผลการประเมิน PISA 2018 ในระดับนานาชาติ พบว่านักเรียนจาก 4 เมืองใหญ่ของจีน คือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง มีคะแนนทั้ง 3 ด้าน สูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ตามมาด้วย สิงคโปร์ และมาเก๊า

ส่วนประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่ได้อันดับ 4 และ 5 ในด้านการอ่านคือ ฮ่องกง และเอสโตเนีย ด้านคณิตศาสตร์คือ ฮ่องกง และไต้หวัน ด้านวิทยาศาสตร์คือ เอสโตเนีย และญี่ปุ่น

ไทยมีค่าคะแนนการอ่านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ระบุว่า ในการวัดระดับครั้งล่าสุดในปี 2018 พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน) คณิตศาสตร์ 419 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ PISA 2015 พบว่า ด้านการอ่านมีคะแนนลดลง 16 คะแนน ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 คะแนน และ 4 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งในการทดสอบทางสถิติถือว่าด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรอบการประเมินที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนตั้งแต่การประเมินรอบแรกจนถึงปัจจุบัน สสวท. พบว่า ผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และความฉลาดรู้ด้านการอ่านมีความสัมพันธ์กับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระบบการศึกษาไทยจึงต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ในการประเมิน PISA 2018 เน้นการประเมินด้านการอ่าน มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 600,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวนประมาณ 32 ล้านคนทั่วโลก จาก 79 ประเทศ/
เขตเศรษฐกิจ สสวท. ทำหน้าที่เป็น
ศูนย์แห่งชาติ (National Center) ได้ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,633 คน จาก 290 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษาเข้าร่วมการประเมินในรอบนี้ โดยนักเรียนได้ทำแบบทดสอบและแบบสอบถามทางคอมพิวเตอร์ผ่านแฟลชไดรฟ์ข้อสอบ นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเผยสติปัญญาเด็กไทยวัยเรียนลดลงเกือบ 3 จุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

มีข้อสังเกตจากข้อมูลด้านการวัดระดับสติปัญญาเด็กไทย เนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 11 มกราคม 2562 ที่่ผ่านมา ซึ่งก็คือเมื่อต้นปี 2562 นี้เอง จากการเปิดเผยสถานการณ์ล่าสุด โดยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยในสำนักข่าวเวิร์คพอยท์นิวส์ ว่า ผลสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยในปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้สำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กไทยวัยเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พบว่า ระดับสติปัญญาเฉลี่ยเท่ากับ 94.73 ต่ำลงเกือบ 3 จุด เมื่อเทียบกับการสำรวจในปี พ.ศ. 2559 ที่ระดับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 98.2

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเรื่อง คงพอจะกล่าวได้ว่า มีความเกี่ยวโยงกันบ้างพอสมควร ทั้งนี้แม้ผลการสำรวจจะอยู่ต่างกรรมต่างวาระ ต่างช่วงวัย แต่ผลการพัฒนาทรัพยากรอนาคตของชาติก็สะท้อนความเป็นจริงของข้อมูลคุณภาพประชากรไทยได้ระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายต่างก็ได้พยายามตระหนักเพื่อหาทางแก้ปัญหา การเฝ้าระวังสถานการณ์ทางระดับสติปัญญาของเด็กไทยที่กรมสุขภาพจิตดำเนินการเฝ้าระวังต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญของปัญหาและสร้างความตระหนักต่อสังคม คงจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญต่อผู้เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาบุคลากรในชาติอย่างมีทิศทางชัดเจน แม้จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะถือเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนในหลายระดับตั้งแต่ ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป

ผลการประเมินการศึกษา PISA 2018 ซึ่งได้เน้นไปที่การประเมินด้านการอ่าน ในกลุ่มนักเรียนวัย 15 ปี ซึ่งเป็นคนละกลุ่มวัยที่ได้ทำการสำรวจ แต่ก็สามารถสะท้อนทิศทางการศึกษาของเด็กไทยได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม การวัดระดับสติปัญญาเด็กไทย ที่กรมสุขภาพจิตได้เฝ้าระวังต่อเนื่องตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเฝ้าติดตามและรายงานผลให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบสถานการณ์ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาเชิงระบบ ที่เกิดขึ้นกับคุณภาพชีวิตของประชากรไทยวัยเรียน ได้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการพัฒนาระดับสติปัญญาเด็กไทยไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่ดีนัก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายถึงว่า การมีระดับสติปัญญาที่สูง จะบ่งชี้ว่าชีวิตจะประสบความสำเร็จ เพราะยังมีทักษะด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นทักษะการพัฒนาการด้านอารมณ์ พฤติกรรม ที่สามารถฝึกฝนให้เกิดขึ้นได้ ผ่านการเฝ้าระวังทางพัฒนาการอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย เพื่อการพัฒนาที่ดีของเด็กไทย โดยท่านที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ

แหล่งข้อมูล

https://www.bbc.com/thai/international-50642536

https://workpointnews.com/2019/01/11/12.

4 December 2562

By nitayaporn.m

Views, 4937

 

Preset Colors