02 149 5555 ถึง 60

 

ติ่ง(เกาหลี) ภาวะคลั่งคนดัง(Romantic Delusion)

ติ่ง (เกาหลี) ภาวะคลั่งคนดัง (Romantic Delusion)

พูดถึงอาการคลั่งศิลปิน ดารา นักร้อง นักกีฬา หรือคนดัง ย่อมมาพร้อมกับคำว่า ป่วย/ไม่ป่วย เสมอๆ เพราะคนที่ชอบคนดังดังกล่าวมักไม่มีคนเดียว ในปัจจุบันนี้มีอยู่เป็นกลุ่มๆที่เรียกว่า แฟนคลับ ตามจำนวนคนดังที่ชื่นชอบ การรวมกลุ่มเป็นสังคมๆหนึ่งที่ติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลาจากทั่วทุกมุมโลก มีผลต่อการสร้างแรงจูงใจของบุคคลในกลุ่ม รวมถึงมีพฤติกรรมเลียนแบบ ทั้งในระดับปกติ จนถึงการคลั่งไคล้หลงใหลแบบผิดปกติจนมีผู้เชี่ยวชาญออกมาแสดงความเห็น ให้นิยามศัพท์ สร้างสีสันให้กับสื่อมวลชนเป็นระยะๆ

กระแสอเมริกัน J-POP และ K-POP

ในยุค Globalization โลกไร้พรมแดนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมข้ามพรมแดน นำมาซึ่งการหลั่งไหลของสินค้าและวัฒนธรรมจากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่ง จากซีกโลกหนึ่งสู่อีกซีกโลกหนึ่ง กระแส “Americanization” ที่เคยเกิดขึ้นหลายสิบปีก่อน อาจกล่าวได้ว่าคือตัวอย่างแรกๆ ของกระบวนการขายสินค้าผ่านการแทรกซึมของวัฒนธรรมอเมริกัน โดยมี “Hollywood” Product เป็นตัวนำร่อง เมื่อลมพัดหวนกลับมายังฝั่งตะวันออก วัฒนธรรมเอเชียกลายเป็นจุดสนใจของชาวโลกมากขึ้นเรื่อยๆ “จีน” พี่ใหญ่แห่งเอเชียดูจะเป็นตัวเต็ง เพราะเป็นรายแรกของเอเชียที่เริ่มแผ่ขยายวัฒนธรรมจีนผ่านหนังละครส่งออกไปประเทศต่างๆ แต่ทว่าก็ยังไม่ใช่ตัวจริง มาถึงกระแส J-POP ที่มาแรงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สร้างมูลค่าและค่านิยมอันดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นได้มาก แต่ก็ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับมูลค่าเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งกระแส “Hallyu” จากประเทศเล็กๆ ที่ยูเนสโกเคยจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศยากจนเมื่อหลายสิบปีก่อน ผ่านสงครามซ้ำแล้วซ้ำอีกจนต้องจมอยู่กับประวัติศาสตร์อันขื่นขมมานานหลายสิบปี จนถูกแยกเป็นสองประเทศ แต่ทว่าวันนี้ คลื่นวัฒนธรรมเกาหลี (เกาหลีใต้) ที่ถูกส่งออกไปผงาดอยู่ทั่วโลก ทำให้ “พี่ใหญ่” หลายประเทศต้องหันมามองประเทศเล็กๆ อย่าง “เกาหลีใต้” ในมุมใหม่ กลยุทธ์ที่สำคัญของการพัฒนาคือเน้นลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ รายได้หลักมาจากอุตสาหกรรมหนัก เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และ Creative Economy ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลี (Korean Wave) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ K-POP ให้เกิดกระแสความนิยมเป็นวงกว้าง เป็นปรากฎการณ์ที่สร้างความประหลาดใจ นำรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ปี 2551 สามารถทำรายได้จากการส่งออกวัฒนธรรมผ่านละครทีวี เพลง สูงถึง 8.44 แสนล้านวอน (ราวๆ 21.000 ล้านบาท) จากข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดเพลงทั่วโลกปี 2553 เกาหลีอยู่ในสิบอันดับแรกของโลก

กระแสเกาหลี หรือ คลื่นเกาหลี (Korean Wave หรือ Hallyu)

หมายถึง การแพร่ของวัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีใต้ไปทั่วโลก คำนี้ประดิษฐ์ขึ้นในประเทศจีนเมื่อกลางปี ค.ศ. 1999 โดยนักหนังสือพิมพ์ปักกิ่งซึ่งประหลาดใจในความนิยมของบันเทิงและวัฒนธรรมเกาหลีในจีน ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันลัทธิต่อต้านอเมริกันแพร่ไปทั่วโลกจากเหตุการณ์ 911 ทำให้กระแสเกาหลีได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มประเทศท่ี่นับถือศาสนามุสลิม ทั้งในอาฟริกาและตะวันออกกลาง ผลกระทบของกระแสนิยมคลื่นเกาหลีส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ทำรายได้มากขึ้น และยังทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจในเรื่องราวของความเป็นชาติเกาหลีมากขึ้น

ในประเทศไทย กระแสเกาหลีเริ่มต้นในราวปี ค.ศ. 2000 จากความสำเร็จของละครโทรทัศน์ อาทิเช่น เรื่อง Autumn in my heart หรือ My sassy girl ปี 2003 ซึ่งเป็นหนังรักโรแมนซ์ หรือแม้แต่ละครโทรทัศน์เชิงประวัติศาสตร์ ที่บอกเล่าเรื่องอาหารและการแพทย์เกาหลีอย่างเช่นเรื่อง Jewel in the Palace (แดจังกึม) ช่วงปี 2005 เป็นต้น จนเกิดกระแสคลื่นเกาหลี ในประเทศจีนและทั่วเอเชีย ดังที่สื่อจีนให้คำนิยามในความนิยมของผู้คนทั่วทั้งในจีนและทั่วโลก และเร็วๆนี้ ปี 2016 ละครเรื่อง Descendant of the sun (ชีวิตนี้เพื่อชาติ รักนี้เพื่อเธอ) ได้รับความนิยม สร้างเรตติ้งสูงสุดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นความสำเร็จของการส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีผ่านละครที่สร้างความสนใจให้ผู้คนทั่วโลกได้หลงใหล จนสามารถสร้างเป็นความมั่นคงของคลื่นเกาหลี (Hallyu)

อย่างไรก็ตามเหรียญมีสองด้านเสมอ การคลั่งไคล้นิยมดารา โดยเฉพาะเกาหลีนั้น ได้สร้างปรากฏการณ์โรคติดต่อทางสังคมขึ้น ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เรื่องนี้มีการพูดถึงบ้างเป็นระยะ ซึ่งเดิมนั้นเป้าหมายและผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ที่กลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่อ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาการคลั่งไคล้ดารามีผลกระทบต่อวิถีชีวิตวัยรุ่นตั้งแต่น้อย ปานกลาง จนถึงขั้นรุนแรงที่เรียกว่า ภาวะหลงผิดคลั่งคนดังได้ คิดว่าดาราชอบตนเอง หรือเป็นของตนเองจนถึงขั้นสร้างปัญหาให้กับตนเองและตัวดาราที่คลั่งไคล้หมายปองนั้น กลายเป็นความผิดปกติทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ซึ่งมีนักวิชาการได้พยายามให้คำจำกัดความปัญหาความเจ็บป่วยทางจิตเวชว่าเป็นภาวะหลงผิดคลั่งคนดัง ( Erotomania)

ภาวะคลั่งคนดัง (Erotomania หรือ A romantic Delusion)

ภาวะคลั่งคนดังที่ยังไม่ถึงขั้นเจ็บป่วยที่เกิดได้บ่อยในหมู่วัยรุ่น ถ้าเราจะพูดกันด้วยหลักการทางจิตวิทยา วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการมองหาความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการหาอัตตลักษณ์ให้ตัวเอง สำหรับเด็กชาย อัตตลักษณ์คือต้องเข้มแข็งอดทนแบบดาราดังอาร์โนลด์ ชวาซิเนเกอร์ในหนัง คนเหล็ก แต่ถ้าอัตตลักษณ์ของเด็กหญิงจะชอบผู้ชายที่นุ่มนวล น่ารัก เป็นมิตรกับผู้อื่น นิสัยดี อ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว แบบผู้กองยูชีจิน (ซงจุงกิ) ในละครเรื่องชีวิตนี้เพื่อชาติรักนี้เพื่อเธอ เป็นต้น แต่ถ้าพฤติกรรมนี้เริ่มเกินเลยนอกขอบเขตไปสู่พฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ไม่ไปโรงเรียน คอยติดตามความเคลื่อนไหว รวมถึงเข้าไปรุกล้ำชีวิตส่วนตัวของนคนดัง หรือแม้กระทั่งคลั่งไคล้หลงใหลรุนแรงจนกลายเป็นพฤติกรรมหลงผิดที่เรียกว่า "อีโรโตแมเนีย" (Erotomania) หรือ "โรคคลั่งคนดัง" คิดไปว่าคนที่ตัวเองชอบ เขาก็มาชอบมาสนใจตัวเอง เราควรจะเป็นของเขา และเขาก็ควรจะเป็นของเราเพียงคนเดียวเท่านั้นทุกชาติไป

ปัญหาการคลั่งคนดัง ได้สร้างความตระหนกตกใจให้ผู้คนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อช่วงประมาณปี 2015 หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ (1 July 2015) ได้กล่าวถึงการคลั่งไคล้แฟนกีฬาเทนนิสชาวฮังการี โมนิก้า เซเลซ ซึ่งช่วงดังกล่าวเธอประกาศจะแต่งงาน จึงได้มีผู้คลั่งไคล้รายหนึ่งประกาศจะฆ่าแฟนหนุ่มของเธอทางทวิตเตอร์ และจะติดตามไปทุกแห่งที่มีการทัวร์ของนักกีฬาดัง ซึ่งเรื่องดังกล่าวไทม์ได้รายงานว่า ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่เป็นปัญหาจริงจังที่ผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นพฤติกรรมรุนแรง ที่อาจนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมและความสูญเสียได้ อย่างไรก็ตามไทม์ได้ให้ข้อมูลว่า โรคคลั่งคนดัง หรือ Erotomania ไม่ใช่ปัญหาความต้องการทางด้านเซ็กซ์ของผู้คลั่งไคล้ดังกล่าว แต่เป็นเรื่องความเชื่อหลงผิดที่ผิดปกติของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่หลงผิดคิดว่าเขารักใครสักคนหรือใครคนใดคนหนึ่งหลงรักเขา (อย่างรุนแรง) คำว่า Erotomania เป็นความหลงผิดเฉพาะอันหนึ่งที่จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศส Etienne Esquirol ได้ให้คำจำกัดความขึ้น (Esquirol, Des maladies mentales, II, 32f) ตั้งแต่ปี 1819 ต่อมาถูกเปลี่ยนมาเป็น ภาวะหลงผิด (Delusion Disorder) ซึ่งไม่ใช่คำจำกัดความเดียวกับภาวะหลงผิดที่เกิดในผู้ป่วยโรคจิตเภท ซึ่งอีโรโตมาเนีย หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า Clerambault's syndrome ที่มีการรายงานว่าเป็นอาการหนึ่งที่พบในผู้ป่วยโรคภาวะสมองเสื่อม หลงผิดคิดว่าตนมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีชื่อเสียงและอยู่ในสังคมที่ห่างไกลกัน ไม่เคยพบหน้ากัน ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก และต่อมานักวิชาการก็ได้บัญญัติคำให้เห็นชัดขึ้นว่า การหลงใหลคนดังหรือดาราดังคือภาวะ A romantic delusion อันเป็นภาวะหลงผิดของบุคคลที่มีความเชื่อว่า บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือสถานะต่างสังคมหลงรักหรือมารักตนเอง (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22530738)

ติ่งเกาหลี ป่วยเกาหลี โรคติดต่อทางสังคม

ด้วยลักษณะเฉพาะทางพฤติกรรมของเหล่าผู้คลั่งไคล้คนดัง คนมีชื่อเสียง อาทิเช่น ดารา นักร้อง หรือนักกีฬา ของเหล่าบรรดาผู้ที่ได้ชื่อว่าแฟนคลับนั้น คงไม่ได้เหมารวมว่า กลุ่มคนดังกล่าวจะมีความผิดปกติหรือมีปัญหาสุขภาพจิตไปทั้งหมด เหรียญด้านหนึ่งคือกลุ่มบุคคลที่มีความชอบแบบเดียวกัน ติดต่อสัมพันธ์กันโดยไม่แบ่งแยกวัฒนธรรมเชื้อชาติผ่านเครือข่ายออนไลน์ การรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนกิจกรรมในสิ่งที่ชอบด้วยกัน สื่อสารและแชร์ข้อมูลระหว่างกัน สร้างแรงจูงใจและพลังต้นแบบ (จากความสำเร็จของคนดัง) เป็นเรื่องทางบวก แต่ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ หากการหลงใหลจนเกินขอบเขต มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติในสังคม กินไม่ได้/นอนไม่หลับ ติดตามแสดงความเป็นเจ้าของในที่สาธารณะอย่างบ้าคลั่ง ขาดเรียน ฯลฯ อันนี้ถือว่าเข้าขั้นมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช บุคคลใกล้ชิดต้องหมั่นคอยสังเกตพฤติกรรม ให้คำแนะนำที่เหมาะสม

ดังที่กล่าวตอนต้น กระแสเกาหลีที่เป็นคลื่นทางวัฒนธรรมหลั่งไหลไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย หรือทั่วภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย การเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีสารสนเทศยุคดิจิตอล ที่มีการเข้าถึงและแชร์ข้อมูลแบบไม่จำกัดผ่านเครือข่ายออนไลน์ อาทิ ไลน์/วอทแอป ทวิตเตอร์ เฟสบุค ได้สร้างกระแสเกาหลีเป็นระยะๆแก่สังคม หากไม่มีความพอดีมีผู้คลั่งไคล้จำนวนมาก มีกลุ่มแฟนคลับประจำตัวดาราคนดังแต่ละคน การแสดงความคิดเห็น ทั้งทางบวกและทางลบย่อมมีผลต่อกลุ่มแต่ละกลุ่มจนเกิดเป็นกระแสในสังคมอย่างรวดเร็ว ความรู้สึกเป็นเจ้าของกลุ่ม/ดาราหรือนักร้องดัง เป็นความรู้สึกร่วมที่มีพลังมหาศาล หากไม่มีการป้องกันอย่างเป็นระบบที่เหมาะสมพอ อาจจะกลายเป็น ภาวการณ์เจ็บป่วยเกาหลีที่เป็นโรคติดต่อทางสังคม ดังสื่อมวลชนให้คำนิยามผู้คลั่งไคล้คนดังเกาหลี ในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็น “ติ่งเกาหลี” ใครที่รู้ตัวว่าเป็นติ่งเกาหลี หากมีการแสดงความชอบอย่างมีสติ ย่อมไม่มีผลร้ายอะไรหรือต่อใคร แต่หากไร้ซึ่งสติ ย่อมเป็นปัญหานำไปสู่ความเจ็บป่วยทั้งต่อตนและสังคมได้ในที่สุด

แหล่งข้อมูล

https://mh.bmj.com/content/44/1/15

www.wikipedia.com

https://positioningmag.com/8345 Hallyu คลื่นความมั่นคงเกาหลี

24 January 2562

By nitayaporn.m

Views, 17637

 

Preset Colors