02 149 5555 ถึง 60

 

นอนไม่พอต้นตอโรคร้ายแรงถึงขั้นป่วยจิตได้

4 เหตุผลหลักที่บอกว่าทำไมการนอนหลับจึงสำคัญ

วันที่เขียนบทความนี้เป็นวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม 2561 ถือเป็นวันปีใหม่ฝรั่ง ขออวยพรให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคนอนไม่หลับนะคะ ยิ่งใกล้วันปีใหม่ ถัดจากนี้หลายท่านอาจจะต้องอดหลับอดนอนฉลองปีใหม่กัน อย่างไรก็ตามอย่าทำให้การเลี้ยงฉลองนำความเจ็บป่วยมาให้ภายหลังนะคะ ปัญหาการหลับไม่พอนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพที่หลายท่านอาจจะนึกไม่ถึงเลยทีเดียวค่ะ

การนอนหลับได้ดีตลอดคืนเป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนปรารถนา เพราะเป็นตัวบ่งบอกภาวะสุขภาพได้อย่างเป็นอย่างดี ซึ่งการนอนหลับได้ดีมีความสำคัญพอๆกับการได้รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การได้ออกกำลังกายตามสม่ำเสมอ แต่น่าเสียดายที่สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้รบกวนรูปแบบการนอนหลับแบบธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง ขณะนี้ผู้คนจำนวนมากเผชิญปัญหานี้อยู่ เรามาดูกันค่ะว่า หากหลับได้ไม่ดี/หลับไม่พอ/นอนน้อย จะมีผลเช่นไร ความจริงแล้วต้นฉบับบทความนี้มี 10 เหตุผล แต่เนื่องจากเนื้อความยาวไป จึงตัดเอาที่สำคัญๆมาเพียง 4 ประเด็น ดังต่อไปนี้ค่ะ

นี่คือ 4 เหตุผลที่ยืนยันว่าเรื่องการนอนหลับที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ

1. ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ลดลง

ปัญหาการนอนไม่หลับ เป็นปัญหาใหญ่ที่นักวิชาการที่เกี่ยวข้องต่างให้ความสำคัญศึกษาเพื่อหาผลกระทบที่เกิดขึ้น และหาทางป้องกันส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสม การนอนไม่หลับมีผลกระทบต่อร่างกายที่สำคัญๆคือ ทำให้การฟื้นตัวจากภาวะบาดเจ็บต่างไม่ดี และยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงอีกด้วย จากรายงานการศึกษาในฐานข้อมูลสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ PubMed เมื่อปี 2014 โดย Ali T และคณะ จากคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยโอกาลาโอม่า สหรัฐ ซึ่งเผยแพร่ในวารการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร พบว่า การนอนหลับไม่พอทำให้มีผลต่อกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันกับการติดเชื้อในร่างกาย Cytokines (เป็นสารโปรตีนขนาดเล็กของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบระบบภูมิต้านทานโรคที่ร่างกายสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างเซลล์ต่างๆในร่างกาย เช่น Interferrous, Interleukins, Tumor Necrotic factor: TNF เป็นต้น) โดยเฉพาะ Interleukin (IL)-1 และ TNF factor เป็นสาเหตุการตายเร็วขึ้น โดยเฉพาะในบุคคลที่มีปัญหาโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน ดังเช่น SLE หรือ Rhumatoid เป็นต้น ที่ทำให้ร่างกายเผชิญกับความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ และเป็นต้นเหตุให้โรคกำเริบ รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์กับการติดเชื้อในลำไส้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย (1)

2. หลับได้ไม่ดีเป็นตัวการสำคัญทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความหิวนำไปสู่โรคอ้วน

ปัญหาการหลับไม่ดีสามารถเพิ่มความอยากอาหารให้มีเพิ่มขึ้น เพราะมีส่วนสำคัญต่อฮอร์โมนการหิว (Hunger Hormone) สองตัวที่สำคัญคือเกร์ลิน (ghrelin) และเลปติน (leptin) โดยที่เกร์ลินเป็นฮอร์โมนสำคัญในกระเพาะอาหาร สมองจะหลั่งฮอร์โมนนี้ออกสู่กระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นเมื่อหิว และจะลดลงหลังจากเรากินแล้ว ในขณะที่เลปตินเป็นฮอร์โมนที่ได้จากเซลล์ไขมันในร่างกาย เมื่อเรานอนหลับไม่เพียงพอร่างกายจะปลดปล่อยเกร์ลินเพิ่มขึ้นและปลดปล่อยเลปตินน้อยลง ทำให้ร่างกายเรารู้สึกหิวและเพิ่มความอยากอาหารมากขึ้น จากรายงานการศึกษา Shahrad Taheri, และคณะที่เผยแพร่ในวารสาร PLoS Medicine ปี 2004 ในวิสคอนซิน สหรัฐ ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,024 ราย ที่มีปัญหานอนไม่หลับ พบว่า ผู้ที่นอนหลับได้น้อยกว่า 8 ชม. คิดเป็นร้อยละ 74.4 มีระดับ BMI เพิ่มขึ้น โดยที่ผู้ที่ระยะเวลานอนหลับได้น้อย คือช่วง 5-8 ชม.ระดับฮอร์โมน leptin ในเลือดน้อยลงจากภาวะหลับปกติ คิดเป็นร้อยละ 15.5 และมีระดับฮอร์โมน ghrelin เพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 14.9 (2) ขณะเดียวกันจากผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้คือปี 2018 ในฐานข้อมูลเมดไลน์ การศึกษาของ Jerzy Gebski และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยวอร์ซอร์ ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างชาวโปแลนด์จำนวน 972 ราย อายุระหว่าง 21-65 ปี (ทั้งคนที่มีปัญหาอ้วนและกลุ่มคนที่มีน้ำหนักปกติ) ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับได้น้อยทำให้นิสัยการกินเปลี่ยนไปนำไปสู่ปัญหาโรคอ้วนอย่างมีนัยสำคัญ(3)

3. นอนไม่หลับเรื้อรังทำให้เกิดอาการทางจิต ประสาทหลอน หลงผิดได้

จากรายงานการศึกษาการทบทวนเป็นระบบ โดยไม่ระบุวันเวลาทำการศึกษา เผยแพร่ในปีนี้คือปี 2018 ในวารสาร Front Psychiatry ของ Water F. และคณะ จากแผนกวิจัยโรงพยาบาลเกรย์แลนด์ เมืองเพิร์ท มลรัฐออสเตรีเลียตะวันตก เป็นรายงานการศึกษาปัญหาการนอนไม่พอติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆกว่า 48 ชั่วโมงเป็นต้นไปในคนปกติ สามารถทำให้เกิดพยาธิสภาพทางสมอง แสดงอาการทางจิตชนิดเฉียบพลันได้ ทั้งนี้ผลการศึกษาพบรายงานการวิจัยทั้งหมด 760 รายงาน บ่งชี้ว่าบุคคลทั่วไปประสบปัญหานอนไม่หลับติดต่อกันระหว่าง 79-92 ชั่วโมง ในการศึกษาครั้งนี้พบวิธีวิจัยที่ระบุว่าเป็นการวิจัยเชิงทดลองจำนวนมากถึง 476 เรื่อง ที่สรุปว่า การนอนไม่พอติดต่อกันของคนปกติทั่วไปทำให้เกิดพยาธิสภาพอาการทางจิตเวช มี 21 รายงานที่บันทึกว่า บุคคลประสบปัญหานอนไม่หลับได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงถึง 11 คืน ทั้งนี้ปัญหาพยาธิสภาพทางสมองที่เกิดขึ้นพบประกอบด้วย กว่าร้อยละ 90 ของการศึกษาเป็นประสาทการรับรู้ผิดปกติหรือที่เรียกว่าประสาทหลอน (visual hallucination) ภาวะหลงผิด (Illusions) และอาการผิดปกติจะเริ่มมีขึ้นหลังจากนอนไม่หลับเป็นเวลา 1 คืน ซึ่งอาการเล็กน้อยที่พบได้คือ ภาวะวิตกกังวล ความสับสนชั่วคราวในสถานที่และบุคคล โดยจะเริ่มพบความผิดปกติมากขึ้นได้ตั้งแต่ 24-48 ชั่วโมงแรก ขณะที่เมื่อเวลาผ่านไป 48-90 ชม. จะพบความผิดปกติด้านความคิดและประสาทหลอนเกิดขึ้น เวลา 72 ชม.เป็นต้นไปเริ่มมีหลงผิดเกิดขึ้น โดยที่อาการทางจิตเวชที่พบนี้จะมีเพิ่มความรุนแรงไปหลังจากการนอนไม่หลับมีจำนวนชั่วโมงเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็นำเป็นสู่โรคจิตเฉียบพลันได้ในที่สุด(4)

4. การนอนไม่พอทำให้สมองทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอๆกับร่างกายมีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (Alcohol intoxication)

การหลับได้ดีเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สมองทำหน้าที่ได้ดี โดยเฉพาะการคิดและตัดสินใจ ในขณะที่หลับได้น้อยสมองทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพลดลงเทียบได้กับร่างกายมีระดับอัลกอฮอล์ถึง 0.1% มีรายงานการศึกษาของ Williamson และคณะ ปี 2000 ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 39 ราย (30 จากพนักงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้า และ 9 รายจากทหาร) พบว่า หากบุคคลไม่ได้นอน หลังจาก 17-19 ชม. ผ่านไป ร่างกายจะมีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นช้าลง ประสิทธิภาพการคิดและตัดสินใจลดลง การหลับได้น้อยมีผลโดยตรงต่อการทำหน้าที่ของสมองได้พอๆกับมีภาวะแอลกอฮอล์ในเลือด 0.1% ประสิทธิภาพการนอนไม่ดีพอจะทำให้การประมวลผลการเรียนเรียนรู้ในสมอง (Cognitive processing) ลดลง ทำให้บุคคลมีทักษะการเรียนรู้ (โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน) ลดลงได้ด้วย ขณะเดียวกัน การหลับได้ดีช่วยเพิ่มทักษะการแก้ปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพความจำทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้ดี

สรุป

นี่เป็น 4 เหตุผลสำคัญๆที่นำบุคคลที่ประสบปัญหานอนไม่หลับ/หลับได้ไม่ดี/หลับได้น้อย ไปสู่การเจ็บป่วย หากว่าได้รับการนอนหลับที่ไม่ดีพอ คงไม่ใช่เรื่องเล่นๆแล้วค่ะ เพราะแต่ละเหตุผลล้วนมีผลการศึกษาวิจัยยืนยันทั้งนั้น เช่นนี้แล้ว ท่านทั้งหลายที่ประสบปัญหานอนไม่พออย่าได้นิ่งนอนใจ โปรดรักษาสุขภาพและปฏิบัติตามคำแนะนำในการทำให้ร่างกายหลับได้เป็นปกติอย่างน้อย 7-8 ชม/คืนค่ะ

อ้างอิง

1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25025716

2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC535701/

3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6266400/

4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/30042701

25 December 2561

By nitayaporn.m

Views, 6864

 

Preset Colors