02 149 5555 ถึง 60

 

ภาวะง่วงนอนขณะขับรถ (Drowsy driving)

ภาวะง่วงนอนขณะขับรถหรือที่เรารู้จักกันดี “หลับใน” นั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะการอดนอนอาจมีผลเช่นเดียวกันกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลต่อการทำงานของสมองส่วนประมวลผล (Brain processing) ทำให้ตัดสินใจแย่ลง (Impair judgment) การตอบสนองช้าลง (Slower reflexes) การตื่นตัวเป็นเวลา 18 ชั่วโมงทำให้เราขับรถเหมือนกับว่าเรามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเท่ากับ 0.05 (ระดับอ้างอิงตามกฎหมายเท่ากับ 0.08 ถือว่าเมาขณะขับขี่) ถ้าเราตื่นขึ้นมาเต็ม 24 ชั่วโมงแล้วขับรถตามหลังคืนที่นอนไม่หลับก็ดูเหมือนว่า เรามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเท่ากับ 0.10 เลยทีเดียว

มีข้อมูลประชากรโลกวัยผู้ใหญ่ 8 ใน 10 หรือราวๆ ร้อยละ 80 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมดประสบภาวะปัญหาภาวะง่วงจากการนอนไม่หลับ นอนไม่พอ ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากCDC ของสหรัฐ ปี 2561 พบว่า ราว 1ใน 25 ของผู้ที่ขับรถ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ประสบปัญหาง่วงขณะขับขี่ยานพาหนะ นักวิจัยสหรัฐได้ทำการสำรวจอุบัติการณ์ปัญหาง่วงขณะขับของประชาชนอเมริกันช่วงปี 2009-2010 พบว่า มีคนกว่า 70 ล้านคนประสบปัญหาภาวะนอนไม่หลับ

ในประเทศไทย จากข้อมูลกองทุนง่วงอย่าขับ มูลนิธิรามาธิบดี ปี 2558 พบว่า ในประเทศไทยผู้ขับขี่มากกว่า 50% เคยหลับในขณะขับรถซึ่งอันตรายมาก เพราะการหลับในสามารถคร่าชีวิตผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และผู้ใช้รถใช้ถนน ได้ในเวลาเพียง 4 วินาที โดยหากรถวิ่งด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. รถจะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตรโดยที่ไม่มีคนควบคุม ลักษณะการชนจึงรุนแรงมาก เพราะคนขับไม่ได้หักหลบหรือเหยียบเบรก ทำให้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้ทันที

ภาวะง่วงนอนเกิดจากอะไร

ร่างกายของคนเราต้องการปัจจัยพื้นฐานสามประการ ได้แก่ น้ำ อาหาร และการนอนหลับ ไม่ดื่มน้ำหรือทานอาหารนำไปสู่การเสียชีวิตที่ไม่อาจฝืนได้ จะรวดเร็วเพียงใดก็ขึ้นกับสภาพร่างกายของคนๆนั้น ขณะเดียวกัน ความต้องการด้านการนอนหลับพักผ่อนนั้น ท่านอาจพยายามฝืนที่จะไม่นอนหลับและมีกิจวัตรปกติได้ (อย่างไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์นัก) อย่างไรก็ตาม สมองจะสั่งการให้ร่างกายท่านหลับ โดยไม่คำนึงว่าในขณะนั้นท่านกำลังทำอะไรอยู่

มีหลายปัจจัยที่ควบคุมการเกิดภาวะง่วงนอน เช่น

1. นาฬิกาชีวิตที่ควบคุมอยู่ภายในร่างกายท่าน นาฬิกาชีวิตที่ควบคุมอยู่ภายในร่างกายท่านนั้นจะส่งสัญญาณทำให้ท่านเกิดภาวะง่วงนอนสองช่วงเวลาในหนึ่งวัน โดยครั้งแรกจะเป็นช่วงค่ำที่ท่านจะเข้านอน ส่วนครั้งที่สองจะเกิดซ้ำในอีก 12 ชั่วโมงถัดไป หรือช่วงบ่ายนั่นเอง

2. ช่วงเวลากลางวันและช่วงเวลากลางคืน ก็มีผลต่อนาฬิกาชีวิตที่ควบคุมอยู่ภายในร่างกายท่านเช่นกัน

3. นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ท่านตื่นนานเท่าไร ยิ่งส่งผลให้เกิดความง่วงนอนมากเท่านั้น (ช่วงเวลาที่ร่างกายท่านตื่นนานเท่าไร ช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการการนอนหลับพักผ่อนยิ่งมากขึ้นเท่านั้น)

ถึงแม้ว่าในแต่ละบุคคล ความต้องการและรูปแบบในการนอนหลับพักผ่อนจะแตกต่างกันออกไป คนส่วนใหญ่มักต้องการเวลานอนโดยเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน โดยสามารถสังเกตได้จากถ้าวันพักผ่อนที่ท่านไม่ต้องทำงาน แล้วท่านตื่นสายกว่าวันทำงานอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป จะเป็นการบอกว่าจำนวนชั่วโมงนอนของท่านในช่วงวันทำงานนั้นไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายต้องพยายามนอนชดเชยในวันที่สามารถทำได้ ถ้าท่านนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ผลกระทบก็คือการอดนอน การอดนอนจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนชั่วโมงที่ท่านนอนหลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และจะส่งผลกระทบต่อภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจได้มากขึ้น

การมีคุณภาพการนอนที่ไม่ดี หรือการอดนอน ล้วนแต่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะง่วงนอน ลดความตื่นตัว และทำให้ความสามารถในการตัดสินใจลดลง นอกจากนี้ ท่านอาจรู้สึกมีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ลดลง หรือมีความจำที่ลดลง โดยในความเป็นจริง คนส่วนใหญ่ที่มีภาวะง่วงนอน บางครั้งก็ไม่รู้ตัวว่าตนเองมีอาการเหล่านี้อยู่ นั่นยิ่งทำให้ภาวะง่วงนอนก่อให้เกิดอันตรายได้มากขึ้น

ผลกระทบของภาวะง่วงนอนคล้ายคลึงกับภาวะเมาสุรา ในหลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ตามกฎหมายกำหนดให้ระดับแอลกอฮอลล์ในเลือด (Blood Alcohol Concentration: BAC) ไม่เกิน 0.08 มีงานวิจัยในปี พ.ศ. 2550 พบว่า การตื่นเป็นเวลานาน 18 ชั่วโมงส่งผลให้สมรรถภาพของร่างกายลดลงเทียบเท่ากับระดับ BAC ที่ 0.05 แต่เมื่อเวลาของตื่นเพิ่มเป็น 24 ชั่วโมง สมรรถภาพของร่างกายลดลงเทียบเท่ากับระดับ BAC ที่ 0.10 ดังนั้นถึงแม้ท่านจะอดนอนเพียงแค่ 1 ถึง 2 ชั่วโมงต่อคืน ภาวะง่วงนอนจะส่งผลความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง ในอัตราที่สูงกว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่กำหนดตามกฎหมาย

ในความเป็นจริงแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ มีงานวิจัยเกี่ยวกับชั่วโมงของการนอนพบว่า 64% นอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อคืน และ 32% นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน ไม่ว่าท่านจะเคยมีภาวะง่วงนอนมากเพียงแค่ครั้งเดียว หรือมีภาวะง่วงนอนตลอดเวลาก็ตาม ผลที่ตามอาจถึงแก่ชีวิตได้

สัญญาณบ่งบอกว่ามีภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ

สิ่งที่จะกล่าวดังต่อไปนี้เป็นเพียงบางส่วนของสัญญาณที่พบได้บ่อย ที่บ่งบอกว่ามีภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ ถ้าท่านมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แสดงว่าท่านอาจจะมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่ยานพาหนะ

• ท่านจำเหตุการณ์ขณะขับขี่ยานพาหนะในระยะทางภายในไม่กี่กิโลเมตรที่ผ่านมาไม่ได้

• ท่านขับขี่ยานพาหนะออกนอกเส้นทางที่กำหนด

• ท่านมีสมาธิและความสนใจในการขับขี่ยานพาหนะลดลง

• ท่านพบว่ามีอาการหาวบ่อยขณะที่ขับขี่ยานพาหนะ

• ท่านขับจี้ติดรถคันหน้าหรือฝ่าไฟแดงโดยไม่รู้ตัว

• ท่านรู้สึกว่าง่วงนอน และมีความยากลำบากในการที่จะฝืนตัวเองไม่ให้หลับ

ภาวะง่วงนอนมักจะเกิดมากในสองช่วงเวลา ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะได้นอนหลับมาเพียงพอก่อนหรือไม่ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่ พบว่า ช่วงเวลาที่พบการเกิดอุบัติเหตุจากภาวะง่วงนอนได้บ่อยมีสองช่วง ได้แก่ ช่วง 24.00 น. ถึง 8.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และช่วง 13.00 น. ถึง 15.00 น. ดังนั้นถ้าท่านจำเป็นต้องขับขี่ยานพาหนะในช่วงเวลาดังกล่าว ท่านต้องคอยเฝ้าระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาดังกล่าว และควรได้รับการนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอมาก่อน

แหล่งข้อมูล

https://sleepfoundation.org/sleep-topics/drowsy-driving

https://www.sleepcenterchula.org/index.php/drowsy-driving

3 September 2561

By nitayaporn.m

Views, 17694

 

Preset Colors