02 149 5555 ถึง 60

 

ใช้คอมพิวเตอร์ มือถือ มีผลต่อสมอง?

จ้องคอมพิวเตอร์/ดูทีวีสี พูดมือถือ มีผลต่อสมองจริงหรือ? /หรือทำให้ป่วยเป็นมะเร็งหรือไม่?

มาทำความรู้จักต้นตอของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เป็นแหล่งกำเนิดของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ และอื่นๆ

นักฟิสิกส์จำแนกแรงที่มีในธรรมชาติออกเป็นสามชนิด คือ หนึ่ง แรงนิวเคลียร์ ที่ไม่มีใครต้องการใช้แรงชนิดนี้ สองแรงโน้มถ่วงที่ยังไม่มีอุปกรณ์ใดๆผลิตแรงชนิดนี้ออกมาให้เราใช้ในชีวิตประจำวันได้ และสามคือแรงแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ทำให้เรามีแสงสว่าง วิทยุ โทรทัศน์ เตาไมโครเวฟ คอมพิวเตอร์ โรงไฟฟ้า ฯลฯ จนอาจกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มีแรงแม่เหล็กไฟฟ้า เทคโนโลยีของมนุษย์ทุกวันนี้ก็จะไม่มี

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2416 เจมส์ เคลิร์ก แม็กซ์เวลล์ นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ประสบความสำเร็จในการชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์แม่เหล็กและไฟฟ้าเป็นคนละเรื่องของแรงแม่เหล็กไฟฟ้า คือ ปรากฏการณ์ทั้งสองนี้เกี่ยวโยงกันอย่างที่ไม่สามารถจะแยกจากกันได้ ดังจะเห็นได้จากเวลาประจุไฟฟ้าเคลื่อนที่ก็จะมีสนามแม่เหล็กเกิดขึ้นทันที และเมื่อเราเคลื่อนแท่งแม่เหล็กผ่านขดลวดเราก็จะได้กระแสไฟฟ้าใช้ แม็กซ์เวลล์กล่าวสรุปว่า เมื่อใดที่สนามไฟฟ้าเปลี่ยนแปลง เราจะได้สนามแม่เหล็ก และในทางตรงข้ามเมื่อใดที่สนามแม่เหล็กเปลี่ยนแปลงเราก็จะมีกระแสไฟฟ้าใช้

ผลการค้นพบนี้ทำให้เรารู้ว่า แสงอาทิตย์ รังสีเอกซ์ และคลื่นวิทยุ ต่างก็เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งสิ้น แม้แต่แสงที่ถูกส่งมาจากขอบจักรวาลก็เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นกัน

ความเข้าใจในธรรมชาติของปรากฏการณ์นี้ทำให้ ไฮปริก เฮิร์ตซ์ พบวิธีส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปในอากาศโดยไม่ต้องอาศัยเส้นลวดแต่ประการใด และมีผลทำให้ กูกลิเอลโม มาร์โคนี ประดิษฐ์วิทยุได้ ส่วน โทมัส เอดิสัน ก็ประดิษฐ์โทรศัพท์ได้โดยอาศัยความรู้เรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นกัน และจากโทรศัพท์ซึ่งเคลื่อนที่ไปไหนไม่ได้มาบัดนี้ เราก็มีโทรศัพท์มือถือที่สามารถนำติดตัวไปใช้กันเกลื่อนเมืองแล้ว

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยุคแรกๆ ต้นเหตุแห่งความกลัว

มาในระยะ10 ปีนี้ ผู้คนรู้สึกตระหนกตกใจกลัวเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้โทรศัพท์มือถือมาก เพราะได้ยินข่าวมากมายว่า คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ มีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งสมอง อันที่จริงความกลัวเกี่ยวกับอิทธิพลของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีอยู่รอบๆ อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดต่อสุขภาพของคนนั้น มีต้นกำเนิดจากงานวิจัยของ เอ็นเวิร์คไฮม์เมอร์และอี. ลีเปอร์ นักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำการสำรวจในปี พ.ศ. 2522 และพบว่า เด็กที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าในเมืองเดนเวอร์มักป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ในจำนวนที่สูงกว่าปกติถึง 1.5 เท่า

สถิติตัวเลขเช่นนี้ ทำให้ทุกคนที่มีอุปกรณ์แม่เหล็กไฟฟ้าใช้หรืออาศัยอยู่ใกล้โรงงานไฟฟ้า กระวนกระวายกลัวตายมาก เพราะถ้าข้อสรุปของเวิร์ดไฮม์เมอร์และลีเปอร์เป็นจริง นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่มีบ้านอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า คนที่ใช้่๋ผ้าห่มไฟฟ้า คนที่นั่งดูโทรทัศน์ติดต่อกันนานๆ ทุกวัน แม่ครัวที่ใช้เตาไมโครเวฟ พนักงานคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่คนที่ชอบซุบซิบนายเป็นชั่วโมงทางโทรศัพท์มือถือ มีสิทธิ์เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งสิ้น

ความกังวลนี้จุดประกายให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนตื่นตัวมาตรวจสอบหรือพิสูจน์ยีนยันหรือคัดค้านความเห็นของเวิร์ตไฮม์เมอร์และลิเปอร์มาก งานวิจัยที่ได้ดำเนินการในเวลาต่อมา บางงานให้ข้อสรุปว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไม่เป็นภัยต่อร่างกายแต่อย่างใด แต่งานวิจัยอีกหลายชิ้นก็ให้เหตุผลตรงกันข้ามว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถทำให้คนเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งสมอง และยังสามารถทำให้สตรีมีครรภ์แท้งลูกได้

เริ่มวิจัยหาคำตอบแบบรอบด้าน

เมื่อความสับสนเป็นเช่นนี้ ในปี พ.ศ. 2538 องค์การ National Academy of Sciences ของสหรัฐฯ จึงมอบหมายให้นักวิทยาศาสตร์หาข้อยุติ หลังจากได้ศึกษางานวิจัยต่างๆ กว่า 500 ชิ้น และได้ทดลองเองเป็นเวลา 3 ปี คณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงก็สรุปว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้ามิได้มีอิทธิพลสูงพอที่จะทำให้คนเป็นมะเร็งได้เลย

อย่างไรก็ตาม สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความเข้มสูงสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาได้ เช่น ทำให้การส่งสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์หยุดชะงักได้ อาจทำให้การผลิตฮอร์โมนในร่างกายลดน้อยลงได้ หรืออาจทำให้ DNA เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีได้ หรืออาจทำให้กระบวนการซ่อมเสริมกระดูกที่หักในคนมีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น แต่สนามไฟฟ้าตามบ้านหรือสนามไฟฟ้ารอบโทรศัพท์มือถือมิได้มีความเข้มสูงเช่นนั้น ดังนั้นผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือหรือคนที่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าติดต่อกันนานๆ จึงไม่ควรกังวลโดยไม่สมควร

ในวารสาร International Journal of Radiation Biology เผยแพร่ออนไลน์ปี 2009 โดย A.W. Preece แห่งมหาวิทยาลัยบริสทอลในอังกฤษ รายงานผลการวิจัยของเขาว่า การใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยๆ จะทำให้สุขภาพสมองของผู้ใช้ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะตั้งแต่เราหันมาใช้มือถือกัน มือถือได้รับการกล่าวขวัญถึงแต่ในทางลบ เช่น ทำให้คนใช้มีอาการปวดหัว เศร้าซึม มีความจำเสื่อม และทำให้เกิดมะเร็งสมอง

แต่เมื่อ Preece ศึกษาสภาพการทำงานของสมองเมือได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความเข้มพอๆ กับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกส่งออกมาจากมือถือ เขาก็พบว่าปฏิกิริยาสนองตอบของสมองต่อการจำต่างๆ ต่อการจำตัวเลขและภาพรวมทั้งความรวดเร็วในการจำและความถูกต้องของการจำดีขึ้นกว่ากรณีสมองที่ไม่ได้รับการกระตุ้นใดๆ ทั้งสิ้น

การศึกษาล่าสุดของ Prasad M. และคณะในฐานข้อมูล PubMed ของสถานบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร The Neurol Sci. เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2017 ที่ผ่านมาว่า จากการทบทวนเป็นระบบและวิเคราะห์ข้อมูลเมตา (Systemic reviewed and Beta analysis) ระหว่างปี 1966-2016 เรื่อง Mobile phone use and risk of brain tumours: a systematic review. โดยใช้กรณีศึกษาจำนวน 22 รายงาน สำหรับการทบทวนอย่างเป็นระบบ และการวิเคราะห์เมตาดาต้าของการศึกษา 14 รายงาน พบว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในสมองไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [OR 1.03 (95% CI 0.92-1.14)] อย่างไรก็ตามสำหรับการใช้งานโทรศัพท์มือถือ 10 ปีหรือนานกว่า (หรือ > 1640 ชั่วโมง) ผลลัพธ์โดยรวมของการวิเคราะห์เมตาอาจมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.33 เท่าจากการศึกษานี้ และจากการศึกษาของกลุ่มบริษัทโทรศัพท์มือถือที่พบความเสี่ยง 1.07 เท่านั้น ไม่มีนัยสำคัญในทางสถิติแต่อย่างใด เนื่องจากข้อสรุปนั้นเป็นเพียงคาดการณ์เท่านั้น

เหรียญอีกด้าน

อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาจะไม่พบความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงต่ำต่อมะเร็ง แต่ผลการใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ท มีรายงานการศึกษาว่ามีผลต่อปัญหาสุขภาพจิตและการเรียนรู้ (Psychological and Cognitive behavior) จากผลการศึกษาของ Cristina J. และคณะในปี 2007 ทำการศึกษา Problematic internet and cell-phone use: Psychological, behavioral, and health correlates. เผยแพร่ในวารสาร The Journal Addiction Research and Theory โดยทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 337 ราย โดยใช้แบบวัดที่ได้พัฒนาขึ้นมาชื่อ the Internet Over-use Scale (IOS), and the Cell-Phone Over-Use Scale (COS) และหาความสัมพันธ์ของปัญหาสุขภาพจิต โดยแบบวัดซึมเศร้า และแบบวัดวิตกกังวลของ Beck พบว่า ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ทนานๆโดยเฉพาะในเพศหญิงมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและปัญหาวิตกกังวลสูง และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการเสพติดได้

กล่าวโดยสรุป จากข้อมูลการศึกษาดังที่ยกมาพอจะสรุปได้ว่า การใช้คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่การดูทีวี และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อันนำมาซึ่งเทคโนโลยีมากมายหลายต่อหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเรานั้น มีความปลอดภัยพอ โดย ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อพยาธิสภาพสมอง แต่อย่างไรก็ตามดังโบราณว่าไว้นะคะว่า เหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ แม้จะมีผลต่อพยาธิสภาพร่างกายไม่มาก แต่ผลต่อจิตใจไม่ควรมองข้ามค่ะ เพราะยังถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง อันเป็นต้นเหตุของโรคทางด้านจิตเวข การศึกษาหาข้อมูลและนำมาใช้ประโยชน์อย่างสมดุลย์ และเดินสายกลางอย่างที่พระพุทธองค์สอนไว้ คงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในยุคนี้ค่ะ

*********************************************************************

แหล่งข้อมูล.

1. สุทัศน์ ยกส้าน, ศจ. ดร. ชุดวิทยาศาสตร์แห่งอารยะ. สำนักพิมพ์สารคดีวิริยะธุรกิจ. พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพ, 2547.หน้า187-191.

2.Prasad M และคณะ. Mobile phone use and risk of brain tumours: a systematic review of association between study quality, source of funding, and research outcomes. Neurol Sci. 2017 May;38(5):797-810. doi: 10.1007/s10072-017-2850-8. Epub 2017 Feb 17. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/28213724

3. Cristina J., Problematic internet and cell-phone use; Volume 15, 2007 - Issue 3 https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/16066350701350247

24 July 2561

By nitayaporn.m

Views, 8877

 

Preset Colors