02 149 5555 ถึง 60

 

แอมเฟตามีน

แอมเฟตามีน

แอมเฟตามีน (amphetamine, amfetamine ย่อมาจาก alpha-methylphenethylamine) มีตำนานความเป็นมา คือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ปี พ.ศ. 2518 ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 135 ปี พ.ศ. 2539 กำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษปี พ.ศ. 2522 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2539 (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข, 2539) ล่าสุดในปัจจุบันถูกกำหนดให้เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ. 2559 (พรบ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ. 2559) และเป็นยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดยาเสพติด (ประกาศกฎกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2559)

แอมเฟตามีน มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขมนิดๆ มีสูตรทางเคมีคือ C9H13N เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง (CNS stimulants) เป็นสารถูกสังเคราะห์ขึ้นมาในปี ค.ศ.1887 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ เอเดเลียโน(Edeleno) ในรูปของแอมเฟตามีนซัลเฟต (Amphetamine Sulphate) ต่อมาในปี ค.ศ.1888 นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นก็สามารถสังเคราะห์อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนได้อีกตัวหนึ่งคือ เมทแอมเฟตามีน(Methamphetamine) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางได้มากกว่า

เภสัชฤทธิวิทยา

ยากระตุ้นประสาทส่วนส่วนกลาง ที่ได้แบ่งตามตำแหน่งการออกฤทธิ์ที่แสดงผลให้เห็นอย่างเด่นชัด ได้แก่ ยากระตุ้นสมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum group) ยากระตุ้นก้านสมอง (Brain stem group) และยากระตุ้นไขสันหลัง (Spinal cord group) โดยที่ยาพวกแอมเฟตามีนเป็นยาในกลุ่มกระตุ้นสมองส่วนซีรีบรัม ซึ่งเป็นยาที่มีโครงสร้างของ beta-phenylethylamine ซึ่งคล้ายกับ catecholamines ยาในกลุ่มนี้มีสูตรโครงสร้างหลากหลาย อาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆได้อีก กลไกการออกฤทธิ์ โดยการกระตุ้นการหลั่งและการยับยั้งการ reuptake ของ catecholamines และสามารถยับยั้งการทำงานของ monoamine oxidase (MAO) ทำให้ทำลาย catecholamine ได้ไม่ดี มีผลให้กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและประสาทส่วนปลายทั้งแบบ alpha และ beta

เภสัชจลนศาสตร์

เป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้เร็ว peak action ประมาณ 1-3 ชั่วโมง กระจายได้ดีโดยเฉพาะในระบบประสาท ส่วนใหญ่จะถูกกำจัดออกทางไต มีคุณสมบัติเป็นด่าง ดังนั้น pH ในปัสสาวะมีอิทธิพลในการแตกตัวของยา ในปัสสาวะที่เป็นด่าง ยาจะแตกตัวน้อย และถูกดูดซึมกลับในร่างกายมาก ในทางตรงกันข้ามกัน ถ้าปัสสาวะเป็นกรด ยาจะแตกตัวมาก และถูกขับออกจากร่างกายมาก ในสภาวะที่ปัสสาวะเป็นด่างยาจะถูกกำจัดออกทางปัสสาวะประมาณ 30% half-life ของยาในร่างกายเท่ากับ 24 ชั่วโมง และถ้าปัสสาวะเป็นกรดยาจะออกมาถึง 70% และ half-life จะลดเหลือเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น

แอมเฟตามีน : ยากระตุ้นสมองส่วนซีรีบรัม

สมองส่วนกลุ่มซีรีบรัม (Cerebrum group เป็นส่วนของสมองที่ใหญ่ที่สุด อยู่ด้านหน้าและด้านบนสุดของสมอง แบ่ง เป็น 2 ด้าน คือ ซ้ายและขวา มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวทั้งหมด (โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่จากระบบประสาทอัตโนมัติ) ของอวัยวะทุกชนิดของร่างกาย การรับรู้ความรู้สึกต่างๆ การได้กลิ่น การพูด การสื่อสาร การเรียน การเข้าใจ และความจำ แบ่งเป็น 3 ส่วนที่เกี่ยวพันกัน ที่มีอยู่ทั้ง 2 ด้านของสมองซ้ายและขวาเช่นกัน คือ ส่วนนอก (Cerebral cortex), Basal ganglia หรือ Basal nuclei, และ Limbic system ) ยาแอมเฟตามีนที่ออกฤทธิ์กระตุ้นสองส่วนนี้ บางทีเรียกว่าเป็นการออกฤทธิ์ไซโคมอเตอร์สติมูแลนท์ (Psychomotor stimulants) ควบคุมด้านประสาทสัมผัสการเคลื่อนไหว ซึ่งฤทธิ์กระตุ้นสมองหมายถึงการเร่งความเร็วของการสื่อสาระหว่างสมองและร่างกายให้มีเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีอารมณ์เป็นสุข จิตใจแจ่มใส ไม่ง่วงนอน รู้สึกมีกำลังวังชา ถ้าใช้ขนาดสูงๆ อาจคลุ้มคลั่ง ประสาทหลอน และชัก บางทีก็ถึงแก่ความตาย

ยาแอมเฟตามีน ยังแบ่งออกเป็น 1. แอมเฟตามีน (Amphetamines) และแซนธีน (Xanthines) ชื่อการค้าเช่น เบนซีดรีน (Benzedrine) 2. เด็กโตรแอมเฟตามีน (Dextroamphetamine) ชื่อการค้าเช่น เด๊กซีดรีน (Dexedrine) และ 3. เมธแอมเฟตามีน (Methamphetamines) ชื่อ การค้าเช่น ดีซ็อกซีน (Desoxyn) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกต่างๆ กันเช่น ‘‘ยาขยัน” “ยาแก้ง่วง” “ยาเพิ่มพลังและยาบำรุงกำลัง” ฯลฯ สำหรับเด๊กโตรแอมเฟตามีน มักถูกนำไปใช้เป็นยาลดความอ้วน ยากลุ่มนี้เมื่อให้ทางปากจะซึมผ่านกระเพาะและลำไส้ได้ดี ออกฤทธิ์เร็ว กระตุ้นสมอง ทำให้รู้สึกสบาย มีอารมณ์เป็นสุข พูดมากขึ้น ทำงานรวดเร็ว ไม่ง่วง ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ จะทำให้รู้สึกมนงง นอนไม่หลับ ร่างกายไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ ฯลฯ เมื่อยาหมดฤทธิ์ลงร่างกายจะอ่อนเพลีย สมองมึนงง กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ บังคับตัวเองไม่ได้

ยาประเภทแอมเฟตามีน (Amphetamines) มักใช้รักษา

1. ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD: attention deficit hyperactivity disorder)

2. ผู้ที่มีปัญหาในการนอนประเภท โรคลมหลับ (Narcolepsy เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่มีอาการง่วงนอนตลอดเวลา และหลับในช่วงเวลาต่างๆอย่างผิดปกติ ในบางครั้งอาจมีอาการคล้ายหลับ คือมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก เป็นต้น ขณะที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยมักมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาและไม่ว่าจะนอนเท่าใดก็ยังรู้สึกง่วง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงอย่างมาก (https://www.sleepcenterchula.org) ผู้ที่มีอาการซึมเศร้า โรคอ้วน โดยทำให้เบื่ออาหารแต่ถ้าหยุดใช้ยาทำให้อยากกินอาหารอีก

ฤทธิ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์

ยาพวกนี้ทำให้ปากแห้ง มือสั่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ ถ้าใช้ยาเกินขนาดจะทำให้ความดันเลือดสูง ไข้สูง คลุ้มคลั่ง ประสาทหลอน ชัก และอาจตายได้ แต่ถ้าใช้ยาติดต่อกันนานๆ จะทำให้สมองเสื่อม ตื่นเต้นตกใจง่าย นอนไม่หลับ น้ำหนักลด กลุ่มอาการโรคจิตจากแอมเฟตามีน เช่น ภาวะหวาดระแวง ประสาทหลอน หลงผิด หรืออานอนได้น้อยลง ฝันร้าย กินมากขึ้น และภาวะวิตกกังวล ถ้าหยุดใช้อาการเหล่านี้ก็จะหายไป ซึ่งอาจะใช้เวลาไม่กี่วันหรือเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนหลังหยุดยา ทั้งนี้แล้วแต่สภาพการร่างกายในแต่ละคนเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันไม่ทำให้การทำงานของอวัยวะเปลี่ยนแปลงและไม่มีการติดยาทางร่างกาย แต่อาจจะมีภาวะติดยาทางจิตใจ (Psychological dependence) (Alcohol and Drugs foundation; https://adf.org.au/drug-facts/amphetamines 2018) อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ มักถูกใช้ในทางที่ผิดเพราะมันทำให้มีอารมณ์เป็นสุข (Euphoria) การใช้ยาเหล่านี้บ่อยๆ จะทำให้เกิด การทนต่อยา และเกิดการติดยาทางจิตใจ (Psychological dependence) ซึ่งถ้าหยุดใช้ยาจะรู้สึกหงุดหงิด หดหู่ เศร้าหมอง (http://www.healthcarethai.com/)

ข้อควรระวัง

ยาพวกแอมเฟตามีนไม่ควรใช้ในบุคคลต่อไปนี้ 1. ผู้ที่เป็นโรคความดันเลือดสูง 2. หรือโรคเกี่ยวกับหัวใจอื่นๆ 2. ผู้ที่ต่อมธัยรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ 3. ผู้ที่คลุ้มคลั่ง (Mania) และ4. ผู้ที่ได้รับยากระตุ้นระบบประสาทซิมพาเธติค (Sympathetics) หรือยาประเภทเอ็มเอโอไอ (Monoamine Oxidase Inhibitors) กลุ่มยาต้านเศร้า การนำไปใช้จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากออกฤทธิ์ที่ส่วนสำคัญและใหญ่สุดในสมอง

ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นสารเสพติดตามกฎหมาย ว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามประกาศกฎกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2559. การมีไว้ในครอบครองของแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์ของแอมเฟตามีน มากกว่าที่กฎหมายกำหนด นั่นคือ สารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือส่วนผสม 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป/หรือสารบริสุทธิ์ในส่วนผสม 1.5 กรัมขึ้นไป จะถือเป็นความผิดกฎหมาย (พรบ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2560).....

แหล่งข้อมูล

1. Alcohol and Drugs foundation; Preventing Harm In Australia. https://adf.org.au/drug-facts/amphetamines; Updated June 8, 2018)

2. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษปี พ.ศ. 2522 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปี 2535วันที่ 16 ตุลาคม 2539 (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข)

3. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2560: ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที 5 ก ลงวันที่ 15 มกราคม 2560 หน้า 8-9.

4. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2560: พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ. 2559. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนที 107ก ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2559; หน้า 39, หน้า 96-98.

5. ศูนย์นิทราเวช รพ.จุฬาฯ https://www.sleepcenterchula.org; สืบค้น 8 มิถุนายน 2561.

6. http://www.healthcarethai.com/ สืบค้น 8 มิถุนายน 2561.

19 June 2561

By Mongkol N.

Views, 215248

 

Preset Colors