02 149 5555 ถึง 60

 

ไขข้อสงสัย "ฝันร้าย" เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณเตือนสุขภาพหรือไม่?

ไขข้อสงสัย "ฝันร้าย" เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณเตือนสุขภาพหรือไม่?

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยฝันร้าย (Nightmare) ในขณะกำลังนอนหลับ ซึ่งบางครั้งฝันร้ายนั้นก็อาจทำให้สะดุ้งตื่นเลยก็ได้ แม้คนไทยบางส่วนอาจตีความไปถึงเรื่องการทำนายฝัน แต่จริงๆ แล้ว การฝันร้ายเป็นภาวะที่สามารถบ่งบอกได้ถึงสัญญาณสุขภาพบางอย่าง โดยเฉพาะผู้ที่นอนหลับฝันร้ายอยู่บ่อยๆ ก็อาจต้องหาสาเหตุที่แท้จริงให้พบ เพื่อที่จะได้นอนหลับพักผ่อนอย่างมีคุณภาพในเวลากลางคืน

ทำความรู้จัก "ฝันร้าย" คืออะไร?

ฝันร้าย คือ ความฝันที่ทำให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ในเชิงลบ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในขณะที่เรานอนหลับ และกล้ามเนื้อสมองกำลังควบคุมการเคลื่อนไหวของการทำงานของร่างกายหลายๆ ส่วน โดยฝันร้ายส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวที่ยาว หรือภาพที่ซับซ้อน บางครั้งก็อาจปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ ในขณะที่บางคนก็มักจะฝันร้ายตอนเช้า มักส่งผลให้ผู้ฝันเกิดความรู้สึกหวาดวิตก หวาดกลัว โศกเศร้า จนบางครั้งฝันร้ายก็ทำให้สะดุ้งตื่นขึ้นมานั่นเอง

สาเหตุของ "ฝันร้าย" เกิดจากอะไรได้บ้าง?

การฝันร้ายอาจเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน บางคนอาจฝันว่าตกจากที่สูงจนสะดุ้งตื่น แต่ในผู้ใหญ่ที่มักฝันร้ายบ่อยๆ หรือฝันร้ายทุกคืนจนสะดุ้งตื่น ทำให้ไม่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็อาจเกิดจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 มักมีสาเหตุมาจากภาวะความเครียด ความวิตกกังวล จนทำให้ฝันร้ายขณะนอนหลับ และยังมีสาเหตุอื่นๆ ดังต่อไปนี้

เกิดเรื่องราวสะเทือนใจและเหตุการณ์เจ็บปวดทางจิตใจจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

มีอาการของ PTSD หรือ โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง

สูบบุหรี่เป็นประจำ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

ใช้ยาที่มีผลข้างเคียง เช่น ยานอนหลับ เป็นต้น

มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า

รับประทานอาหารที่ย่อยยาก ก่อนเข้านอน

มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ฝันร้ายทุกคืน ฝันร้ายบ่อย มีวิธีป้องกันอย่างไร?

หากฝันร้ายแล้วสะดุ้งตื่นอยู่บ่อยครั้ง จนกระทบต่อสุขภาพการนอน ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ควรหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการฝันร้าย และช่วยให้สามารถหลับง่ายได้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างดังนี้

ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนนอน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม

พยายามทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน เพื่อหลีกเลี่ยงความเครียด

รักษาอุณหภูมิในห้องไม่ให้ร้อนหรือเย็นจนเกินไป

ปิดผ้าม่าน ปิดไฟ ทำให้ห้องมืดสนิท จะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 20-30 นาที แนะนำให้ออกกำลังกายในช่วงเย็น หรือประมาณ 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

กำหนดเวลานอนให้เหมือนกันในทุกวัน เพื่อให้ร่างกายได้จดจำเวลาเข้านอน-ตื่นนอน

หลีกเลี่ยงการเล่นโซเชียลมีเดีย หรือติดตามข่าวเครียดๆ ก่อนนอน

อย่างไรก็ตาม หากทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว พบว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการนอนฝันร้ายที่รบกวนคุณภาพการนอนได้ หรือรู้สึกว่าส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตประจำวัน ก็ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะได้รักษาได้อย่างตรงจุด และเพื่อให้ได้สุขภาพการนอนที่ดีคืนกลับมา

อ้างอิงข้อมูล : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

6 May 2565

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 308

 

Preset Colors