02 149 5555 ถึง 60

 

“การสื่อสารของครอบครัวไทยในยุคโควิด-19”

“การสื่อสารของครอบครัวไทยในยุคโควิด-19”

รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

การสื่อสารของมนุษย์เป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยการคิดและการสร้างสัญลักษณ์ การส่งสัญลักษณ์ไปยังผู้รับสาร การตีความหมายสัญลักษณ์ของผู้รับสาร และการส่งความหมายกลับมา หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ การส่งผ่านข้อมูล ความคิด ทัศนคติ รวมถึงอารมณ์จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งโดยใช้สัญลักษณ์ เพื่อสร้างการรับรู้ (Cognitive) ทัศนคติ (Attitude) และพฤติกรรมการแสดงออก (Behavior)

การสื่อสารในครอบครัวเป็นการทำหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของครอบครัว ความสุขของครอบครัวขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของครอบครัวว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด หากครอบครัวทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพมากก็จะส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวมีความสุขกายและสุขใจ ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของทฤษฎีโครงสร้างและการทำหน้าที่ (Structural and Functional Theory) ที่บอกไว้ว่าสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวมีหน้าที่ของตน หากทุกคนปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทของตนอย่างสมบูรณ์ ครอบครัวก็จะมีความสุขและมีคุณภาพ

ขณะเดียวกันทฤษฎีการปฏิสังสรรค์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Interaction Theory) ที่ให้ความสำคัญกับ การสื่อสารในครอบครัวเช่นกัน อธิบายว่าการสื่อสารระหว่างบุคคลส่วนใหญ่เป็นผลของการใช้สัญลักษณ์ร่วมกัน ทั้งที่เป็นคำพูดและกิริยาท่าทาง การจะทราบว่าครอบครัวมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ให้พิจารณาจากการกระทำของบรรดาสมาชิกในครอบครัวผ่านกระบวนการติดต่อสื่อสาร ทั้งนี้การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การใช้

วิธีการติดต่อสื่อสารที่ดีต่อกัน (อ่านเพิ่มเติมที่ https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/downloa...สื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างสุขในครอบครัว)

โดยทั่วไปคนเราต้องการและคาดหวังอยากมีครอบครัวแบบอุดมคติ คือสมาชิกที่อาศัยอยู่ในครอบครัวหรือบ้านหลังเดียวกันพร้อมโอบอุ้ม เยียวยา ดูแล และให้กำลังใจกันและกัน เมื่อคนใดคนหนึ่งหรือทุกคนภายในครอบครัวต้องเผชิญกับ ความทุกข์กายหรือทุกข์ใจ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต แต่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะสามารถออกแบบหรือสร้างครอบครัวในแบบอุดมคติสำเร็จ !!!

ยิ่งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตรายจ่ายเพิ่ม รายได้ลด เกิดความเครียด วิตกกังวลจนนำไปสู่การกระทบกระทั่งและปัญหาอื่น ๆ ในครอบครัว ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ครอบครัวไทยในยุคโควิด-19” ของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อเดือน มี.ค 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ในยุคโควิด-19 ปัญหาครอบครัวไทยในภาพรวมที่พบเห็นมากขึ้น 5 อันดับเรียงจากมากไปน้อย คือปัญหาหนี้สิน (75.41%) คนในครอบครัวตกงาน/ว่างงาน (69.96%) ความเครียด/โรคซึมเศร้า (67.19%) การทะเลาะเบาะแว้ง (36.02%) และการเลิกรากัน/หย่าร้าง (30.30%)

การสื่อสารกันภายในครอบครัวที่มีประสิทธิภาพเป็นกลไกหนึ่งที่จะสร้างความสุข ลดความขัดแย้ง และบรรเทาทุกข์ของครอบครัวไทยเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาครอบครัวที่พบเห็นมากขึ้นในยุคโควิด-19 และในยุคโควิด-19 นี้การสื่อสารของคนในครอบครัวคงไม่จำเป็นที่จะต้องจำกัดรูปแบบหรือต้องเน้นเฉพาะ “face2face” เท่านั้น เพราะทุกคนต้องเว้นระยะห่าง ดังนั้น การสื่อสารแบบออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะใช้ Facebook Messenger Line หรือ WhatApp ก็จะทำให้ทุกคนปลอดภัยยิ่งขึ้นไม่ต่างจากการหันมาซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น

ครอบครัวมีการสื่อสารทั้งระหว่างระบบย่อยภายในครอบครัวเองและกับระบบภายนอก การสื่อสารในครอบครัวเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของระบบทางชีวภาพ โดยมีการพูดและการฟังเป็นกลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดการสื่อสารในครอบครัว ครอบครัวที่มีลักษณะการสื่อสารที่ยืดหยุ่นสูง เปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้แสดงความคิดเห็นของตนเอง กล้าพูดคุย กล้าถกเถียง

มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จะส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง เชื่อมั่นในตนเอง กล้าคิดนอกกรอบ มีความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ

ในทางตรงกันข้าม ครอบครัวที่การสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพ จะเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาครอบครัว ครอบครัวที่สื่อสารกันน้อยเพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องพูดคุยกันมาก เป็นคนในครอบครัวเดียวกันต่างรู้จักและรู้ใจกันดีอยู่แล้ว แต่การสื่อสารที่น้อยมักจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือผิดใจกัน ครอบครัวที่มีการสื่อสารกันน้อยและสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพ ยังส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวขาดความรัก ขาดระเบียบวินัย และไม่ไว้ใจผู้อื่น

แนวทางการสื่อสารเพื่อสร้างความสุขหรือลดปัญหาภายในครอบครัว เช่น พูดให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ถ้าอีกฝ่ายพูดไม่ดีอีกฝ่ายต้องใจเย็น บอกความรู้สึกนึกคิดให้อีกฝ่ายเข้าใจได้ถูกต้อง สื่อสารแบบ 2 ทาง เปิดให้อีกฝ่ายได้พูด แลกเปลี่ยน หรือรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย พูดชัดเจนหรือเจาะจงในเรื่องที่ต้องการสื่อ พูดเชิงบวกที่ให้เกียรติอีกฝ่าย ไม่ใช้เสียงเกินขอบเขต เช่น การตะโกน ตะคอก ตะหวาด หรือขึ้นเสียงใส่กัน หลีกเลี่ยงการสื่อสารเชิงลบ เช่น สงครามเย็น ประชดประชัน ครอบงำ ข่มขู่ เป็นต้น

การสื่อสารเป็นเรื่องพื้นฐานที่เกิดขึ้นเป็นประจำวัน ทุกคนจึงควรฝึกสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่สื่อสาร ผิดที่ ผิดจังหวะ ผิดเวลา และผิดคน ครับ...

และสุดสัปดาห์นี้ อย่าพลาด...ผลโพลหัวข้อ... “การสื่อสารของครอบครัวไทยในยุคโควิด-19” มีหลายประเด็นที่น่าติดตามอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นความถี่ในการพูดคุยกับคนในครอบครัว ยามรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจหรือช่วงเวลาแห่งความสุขชอบพูดคุยกับใครในครอบครัว เรื่องราวที่ชอบพูดคุยกับคนในครอบครัว สาเหตุที่คนในครอบครัวไม่ค่อยพูดคุยกัน และทำอย่างไรให้คนในครอบครัวหันหน้ามาพูดคุยกันให้มากขึ้น ฯลฯ

8 April 2565

ที่มา สยามรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 552

 

Preset Colors