02 149 5555 ถึง 60

 

เปิด 5 สูตรยาสู้โควิด ลดป่วย-ตาย

เปิด 5 สูตรยาสู้โควิด ลดป่วย-ตาย

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญมาเป็นเวลา 2 ปีเศษ นอกจากการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาฉีดป้องกันการติดเชื้อให้กับประชาชนแล้ว การจัดหายาที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำมารักษาผู้ป่วยหรือติดเชื้อ ถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยนั้น ในการรักษาผู้ป่วย/ติดเชื้อโควิด-19 มีการจัดหายาหลากหลายชนิดมาดูแล ตั้งแต่ยาสมุนไพร อย่างฟ้าทะลายโจร และในกลุ่มยาแผนปัจจุบัน ที่จนถึงขณะนี้ทุกตัว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังกำหนดให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เรมดิซิเวียร์ (Remdisivir) โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และล่าสุด แพกซ์โลวิด (Paxlovid)

ล่าสุด รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 2 ล้านเม็ด หรือ 5 หมื่นคอร์สการรักษา นำเข้ามาใช้รักษาผู้ป่วย/ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีการรับมอบกันเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และเริ่มทยอยกระจายลงไปยังพื้นที่หรือจังหวัดที่พบการระบาดรุนแรง และมีผู้ป่วย/ติดเชื้อจำนวนมาก ภายในสัปดาห์นี้ อีกทั้งเตรียมขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณเพื่อลงนามสัญญาจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด อีกราว 5 หมื่นคอร์ส เพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วย/ติดเชื้อด้วย

ทั้งนี้ จากแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 1 มีนาคม 2565 ของกรมการแพทย์ ระบุถึงการใช้ยารักษาโควิด-19 แต่ละตัว ซึ่งในที่นี้จะให้รายละเอียดเฉพาะยาหลักๆ ที่ใช้รักษาโควิด-19 โดยตรง ดังนี้

1.ยาฟ้าทะลายโจร ใช้สำหรับผู้ใหญ่ (ยังไม่แนะนำการใช้ในเด็ก คนที่มีประวัติแพ้ยาฟ้าทะลายโจร หญิงตั้งครรภ์) ระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดัน และยาที่มีฤทธิ์ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ขนาดยา และการให้ยาใช้ยาฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูลหรือยาเม็ดที่มีสารฟ้าทะลายโจรชนิดสารสกัด (extract) หรือผงบด (crude drug) ซึ่งระบุปริมาณของสารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) เป็นมิลลิกรัม (มก.) ต่อแคปซูล (capsule) หรือเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) ของปริมาณยา คำนวณให้ได้สารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มก./คน/วัน แบ่งให้ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร กินติดต่อกัน 5 วัน (ถ้าจำนวนแคปซูลต่อครั้งมาก อาจแบ่งให้ 4 ครั้งต่อวัน) เริ่มให้ยาเร็วที่สุดหลังการติดเชื้อ

2.ยาฟาวิพิราเวียร์ ขนาด 200 มก./เม็ด ในผู้ใหญ่ วันที่ 1 ใช้ 1,800 มก. (9 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา 800 มก. (4 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง ถ้าน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม วันที่ 1 ใช้ 2,400 มก. (12 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา 1,000 มก. (5 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง ส่วนในเด็ก วันที่ 1 ใช้ 70 มก./กก./วัน วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา 30 มก./กก./วัน วันละ 2 ครั้ง โดยกระบวนการรักษา 1 คอร์ส ประมาณ 800 บาท สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ มีการใช้มา 2 ปี กลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป ข้อมูลล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา โดยเฉพาะใน 14 วัน สัดส่วนอาการดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 86.9

3.ยาเรมดิซิเวียร์ ใช้ในผู้ใหญ่ วันที่ 1 ฉีด 200 มก. IV วันละ 1 ครั้ง วันที่ 2-5 ฉีด 100 มก. IV วันละ 1 ครั้ง ถ้าผู้ป่วยมีปอดอักเสบต้องให้ออกซิเจนรักษา ให้นาน 5 วัน และถ้ามีอาการรุนแรงมากต้องใช้ ECMO แนะนำให้ 10 วัน ส่วนในเด็ก วันที่ 1 ฉีด 5 มก./กก. IV วันละ 1 ครั้ง วันต่อมา ฉีด 2.5 มก./กก. IV วันละ 1 ครั้ง โดย 1 คอร์ส อยู่ที่ 1,512 บาท สำหรับยาเรมดิซิเวียร์ กลไกออกฤทธิ์ตำแหน่งเดียวกับฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งช่วงแรกองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้รับรอง กระทั่งมีการใช้ระยะหนึ่ง และองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ให้การรับรองใช้ยาตัวนี้สำหรับการรักษาในภาวะฉุกเฉิน โดยให้ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมีประโยชน์กับผู้ที่รับประทานยาไม่ได้ มีปัญหาการดูดซึม และใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเมื่อศึกษาวิจัย พบว่าผู้ป่วยมีอาการทุเลาลง นอน รพ.ลดลงเหลือ 10 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับยาหลอกต้องนอน รพ.นานถึง 15 วัน

4.ยาโมลนูพิราเวียร์ ขนาด 200 มก./เม็ด วันที่ 1-5 ใช้ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ กลไกการออกฤทธิ์จุดเดียวกัน และลดความเสี่ยงจะเกิดอาการรุนแรง ขนาดยารับประทานสำหรับผู้ใหญ่ 800 มิลลิกรัม (มก.) คือ แคปซูลขนาด 200 มก. จำนวน 4 แคปซูล โดยให้รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 วัน รวม 40 แคปซูลต่อคน ซึ่งยาตัวนี้ต้องให้ภายใน 5 วันหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเริ่มมีอาการป่วย โดย 1 คอร์ส ประมาณ 10,000 บาท

นอกจากนี้ ในคำแนะนำฉบับดังกล่าว ยังมีการระบุให้ใช้ยาเสริมการรักษาผู้ป่วย/ติดเชื้อที่มีอาการปอดอักเสบ คือ ยา Corticosteroid ยา Nirmatrevir/Ritonavir แต่จะต้องอยู่ภายใต้การให้คำปรึกษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ในเร็วๆ นี้ ประเทศไทยกำลังจะมียารักษาโควิด-19

ตัวที่ 5 คือ แพกซ์โลวิด ที่มีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันจากยาหลักอื่นๆ โดยจะออกที่เอนไซม์ ทำให้เชื้อลดจำนวนลง ไม่สามารถเกิดผลกับโรคได้ โดยยาตัวนี้ประกอบด้วยยา 2 ชนิด คือ Nirmatrevir และ Ritonnavir ทำให้ลดความเสี่ยงร้อยละ 88 กรณีให้ภายใน 5 วันหลังมีอาการ ที่สำคัญยาตัวนี้พบว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด โดย 1 คอร์ส ประมาณ 10,000 บาท ซึ่งในเร็วๆ นี้ กรมการแพทย์เตรียมจะออกคำแนะนำการใช้ยาดังกล่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงการจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด ว่า หลังผ่านความเห็นชอบจาก ครม. คาดว่าวันที่ 24 มีนาคมนี้ จะมีการลงนามในสัญญาจัดซื้อ และประเทศไทยจะมียาแพกซ์โลวิดใช้รักษาผู้ป่วย/ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้ ทั้งนี้ ในประเทศไทยมียาหลักที่ใช้รักษาโควิด-19 ประมาณ 5 ตัว สำหรับแนวทางการใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีดังนี้ 1.กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้รับประทานยา 2.กลุ่มป่วยอาการน้อย และไม่มีภาวะเสี่ยง เช่น ไข้ไม่สูง มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ จะรักษาด้วยยาตามอาการ เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก เป็นต้น 3.กลุ่มป่วยอาการน้อยแต่มีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัว จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่หากเป็นกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และมีโรคร่วม 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน กลุ่มนี้จะให้ยาโมลนูพิราเวียร์ 4.ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบ จะให้ยาเรมดิซิเวียร์

“ยาฟาวิพิราเวียร์ มีผลการศึกษาว่าหากให้ยาเร็วก็จะป้องกันอาการรุนแรง และทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ ส่วนยาเรมดิซิเวียร์มีข้อจำกัด คือ เป็นยาที่ใช้ฉีด ต่างจากยาตัวอื่นๆ ที่เป็นยากิน ขณะที่ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด ก็จะมีเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับยาฟาวิพิราเวียร์” นพ.สมศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนยาที่ใช้รักษาโควิด-19 เหล่านี้ มีส่วนที่ผลิตได้ในประเทศ คือ ยาฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตได้เอง แต่สำหรับยาเรมดิซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด ยังคงต้องอาศัยการนำเข้ามาจากต่างประเทศ และทั้งหมดยังเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉินและต้องติดตามผลการใช้ยาทั้งสิ้น

22 March 2565

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 698

 

Preset Colors