02 149 5555 ถึง 60

 

“การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า” ทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยจิตเวช

“การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า” ทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยจิตเวช

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

“โรคทางจิตเวช” คือ ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในกิจวัตรต่างๆ หรือเกิดความทุกข์ทรมาน ซึ่งโรคทางจิตเวชที่คนไทยเป็นกันมาก เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคแพนิก โรคจิตเภท โรคเครียด เป็นต้น

การรักษาโรคทางจิตเวชก็มีด้วยกันหลายวิธี อาทิ การทำจิตบำบัด การใช้ยา ซึ่งหาก 2 วิธีการดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลต่อผู้ป่วย ก็ยังมี “การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy: ECT)” ซึ่งคอลัมน์ “ศุกร์สุขภาพ” สัปดาห์นี้มีเรื่องนี้มาฝากกัน

“การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy: ECT)” คือ การรักษาทางจิตเวชวิธีหนึ่ง โดยใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองของผู้ป่วยทำให้เกิดอาการชัก เพื่อรักษาอาการทางจิตเวชให้ดีขึ้น

ปัจจุบันมีการนำการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้ามาใช้ในการรักษาโรคทางจิตเวชต่างๆ คือ โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตเภท โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือต้องการการรักษาอย่างรีบด่วน ได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มีอาการก้าวร้าว หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย

ประเภทของการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า มี 2 ประเภท คือ

1. การรักษาด้วยไฟฟ้าแบบ Unmodified หมายถึง การรักษาด้วยไฟฟ้าโดยไม่ได้ใช้ยานำสลบ

2. การรักษาด้วยไฟฟ้าแบบ Modified หมายถึง การรักษาด้วยไฟฟ้าโดยใช้ยานำสลบ

ทั้งนี้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาประเภทใด จำนวนครั้งและปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้เท่าใด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งจิตแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ประเมินก่อนการรักษาด้วยไฟฟ้า

การเตรียมตัวก่อนการเข้ารับการรักษา

ผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการวินิจฉัยว่าจะต้องเข้ารับการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า จะต้องเตรียมตัว ดังนี้

1. ทำความสะอาดร่างกายให้สะอาด เรียบร้อย

2. งดน้ำและงดอาหารหลังเที่ยงคืนจนกระทั่งกระบวนการรักษาเสร็จสิ้น

3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 6-8 ชั่วโมง

4. ทำจิตใจให้สบาย

5. สามารถกินยาจิตเวชเดิมที่เคยกินได้ตามปกติ

ขณะเข้ารับการรักษา

1. ถอดฟันปลอม หากมีปัญหาฟันผุ หรือฟันโยก ต้องแจ้งพยาบาลก่อนเสมอ

2. ปัสสาวะก่อนทำการรักษา

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการรักษา มีดังนี้

อาการปวดศีรษะ อาการมักจะไม่รุนแรง แต่จะมีอาการจะมากในช่วง 2 ชั่วโมงหลังการรักษา และหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง มักปวดแบบปวดตุ๊บๆ บริเวณหน้าผาก บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ โดยให้ยาแก้ปวด

คลื่นไส้อาเจียน อาจเป็นผลจากอาการปวดศีรษะ หรือยาระงับความรู้สึกที่ได้รับ หากมีอาการนี้ แพทย์ก็จะให้ยาลดอาการคลื่นไส้

ปวดกล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการสั่นไหวของกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของยาหย่อนกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากการชักก็ได้ แพทย์จะให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อร่วมกับการให้ยาระงับปวด

การบาดเจ็บในช่องปากและฟัน ได้แก่ การเจ็บบริเวณกราม ฟันโยก การฉีกขาดของอวัยวะในช่องปาก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคี้ยวถูกกระตุ้น และเกิดแรงขบบริเวณกราม ซึ่งการใส่อุปกรณ์กันกัด และการจับขากรรไกรล่างของผู้ป่วยให้ปิดสนิท จะช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้

ภาวะหลงลืม อาจเกิดขึ้นได้ และจะค่อยๆ ฟื้นตัวภายใน 2 สัปดาห์-6 เดือน ทั้งนี้ญาติเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นความจำของผู้ป่วยให้กลับมาเร็วขึ้น

ผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ กระดูกสันหลังยุบตัว กระดูกเคลื่อน การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเอ็นกระดูก ซึ่งพบได้น้อยจากการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้าแบบใช้ยาระงับความรู้สึก

ปัจจุบันได้มีการนำการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้ามาใช้อย่างแพร่หลาย และพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยจิตเวช ถึงแม้จะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นมาก สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

18 March 2565

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 16591

 

Preset Colors