02 149 5555 ถึง 60

 

“หญิงท้อง” ติดโควิดเสี่ยงกว่า เหตุครรภ์เบียดปอด เผยอาการฉุกเฉินที่ควรมา รพ.ย้ำฉีดวัคซีนได้ทุกอายุครรภ์

“หญิงท้อง” ติดโควิดเสี่ยงกว่า เหตุครรภ์เบียดปอด เผยอาการฉุกเฉินที่ควรมา รพ.ย้ำฉีดวัคซีนได้ทุกอายุครรภ์

สธ.เผย 4 สัปดาห์หญิงท้องติดโควิดเพิ่มขึ้น ห่วงเสี่ยงอาการหนักกว่าคนทั่วไป เหตุครรภ์เบียดปอดทำหายใจลำบาก ย้ำ อาการสีแดงต้องรีบไป รพ.ทันที ทั้งครรภ์เป็นพิษ ปอดอักเสบ แนะนอนตะแคงซ้ายช่วยเลือดไหลเวียนเลี้ยงทารก เร่งฉีดวัคซีนเชิงรุก ย้ำฉีดได้แล้วทุกอายุครรภ์ ฉีดร่วมวัคซีนอื่นได้

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงหญิงตั้งครรภ์ต้องปลอดภัยในสถานการณ์โควิด กล่าวว่า ข้อมูลการติดเชื้อของหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์และทารกแรกเกิด ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 - 5 มี.ค. 2565 พบติดเชื้อสะสม 7,210 ราย เสียชีวิต 110 ราย คิดเป็น 1.5% ส่วนทารกแรกเกิดจากกลุ่มนี้มี 4,013 ราย ติดเชื้อ 319 ราย คิดเป็น 8% เสียชีวิต 67 ราย คิดเป็น 1.6% ส่วนการวิเคราะห์ผลกระทบจากการติดเชื้อของกลุ่มนี้ คือ มีการผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อถึง 53% ทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัมถึง 15% เมื่อดูการติดเชื้อสะสมรายเดือนของกลุ่มนี้ พบติดเชื้อสูงสุดระลอกเดลตาช่วง ส.ค. 2564 จำนวน 1,728 ราย และลดลงจนถึงสิ้นปี 2564 แต่ตั้งแต่ ม.ค. 2565 การติดเชื้อกลุ่มนี้เริ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับระลอกใหม่ของสายพันธุ์โอมิครอน โดยข้อมูล 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 59 ราย เป็น 71 ราย 157 ราย และล่าสุด 224 ราย ตามลำดับ จึงยังต้องเฝ้าระวังกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพื่อลดอัตราติดเชื้อและเสียชีวิตให้น้อยลง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากการสำรวจของอนามัยโพลถึงความกังวลสถานการณ์โควิดของหญิงตั้งครรภ์ช่วงวันที่ 1-7 มี.ค. 2565 พบว่า 98% มีความกังวล เรื่องที่ทำให้กังวลมากที่สุด คือ การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน สังคมการ์ดตก และสถานที่ต่างๆ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่ง 2 เรื่องนี้คนในสังคมช่วยกันได้ จึงเน้นย้ำยกการ์ดสูง ป้องกันตนเองสูงสุด ส่วนการเฝ้าระวังป้องกันตนเองของหญิงตั้งครรภ์ พบ 81% ทำเป็นประจำ สิ่งที่ทำได้มากที่สุด คือ สังเกตอาการตนเอง 82% เมื่อเสี่ยงตรวจด้วย ATK 68% ตรวจอุณหภูมิตนเอง 57% ขอให้ดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ ขอให้คนรอบข้างทั้งที่บ้านและที่ทำงานของหญิงตั้งครรภ์ เฝ้าระวังป้องกันตนเองด้วย เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด 6 สัปดาห์ที่ติดโควิด 7,210 ราย ไม่ได้รับวัคซีน 87% หากรับวัคซีน 2 เข็ม อัตราตายกลุ่มนี้ลดลง 10 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ไม่ได้รับวัคซีน ทั้งนี้ ข้อมูลถึงวันที่ 5 มี.ค. หญิงตั้งครรภ์รับวัคซีนโควิดเข็มแรกแล้ว 117,385 คน ติดตามอาการไม่พึงประสงค์และผลลัพธ์หลังคลอด พบว่า หญิงตั้งครรภ์รับวัคซีนและคลอดแล้ว 2,770 คน โดย 57% ไม่มีอาการข้างเคียงจากการรับวัคซีน ส่วน 43% ที่มีผลข้างเคียง พบว่า 97% มีอาการไม่พึงประสงค์เหมือนคนทั่วไป เช่น ปวด มีไข้ บวมบริเวณที่ฉีด ส่วน 3% มีอาการเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เช่น ปวดท้องน้อย ซึ่งทั้งหมดเป็นอาการเจ็บครรภ์คลอด

“ขอให้มั่นใจว่าการรับวัคซีนในช่วงตั้งครรภ์มีความปลอดภัย ขอให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์ สธ.จึงเร่งฉีดเชิงรุกหญิงตั้งครรภ์ สามารถฉีดได้ทุกอายุครรภ์ ให้พร้อมวัคซีนอื่นที่จำเป็นขณะตั้งครรภ์ได้ ส่วนหลังคลอดยังไม่ได้ฉีดวัคซีนให้ฉีดก่อนกลับบ้าน หากยังไม่สมัครใจขอให้ฉีดวัคซีนโควิดคนอื่นในครอบครัวให้ครบตามเกณฑ์ไว้ก่อน” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า การฉีดวัคซีนหญิงตั้งครรภ์ เราพิจารณาทั้ง หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ฉีดวัคซีนแล้วมาตั้งครรภ์ภายหลัง และตั้งครรภ์แล้วยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งคาดว่ายังต้องติดตามมาอีก 2.4-2.8 แสนราย โดยให้แพทย์ที่รับฝากครรภ์สอบถามและฉีดให้ ไม่ว่าจะเป็นเข็มแรกหรือเข็มกระตุ้น ทั้งนี้ ย้ำว่า หญิงตั้งครรภ์จะมีปัญหาเรื่องการหายใจลำบากอยู่แล้ว เพราะทารกในครรภ์จะไปดันปอด หากติดเชื้อจึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป จึงขอให้หญิงตั้งครรภ์มารับวัคซีน ฉีดกว่าร้อยล้านพันล้านโดสแล้วมีความปลอดภัย อาการข้างเคียงเหมือนคนทั่วไป

ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สตรีมีครรภ์ติดเชื้อเหมือนคนทั่วไป คือ ส่วนใหญ่ 70-80% ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ส่วนหนึ่ง 10-20% ที่อาจมีอาการรุนแรงต้องดูแลโดยแพทย์อย่างใกล้ชิดใน รพ. โดยกลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยสามารถแยกกักที่บ้านได้ (HI) โดยข้อปฏิบัติเหมือนคนทั่วไป คือ งดเยี่ยม รักษาระยะห่างในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ควรแยกห้องนอน เป็นห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก เปิดหน้าต่างระบายอากาศ ไม่อยู่ร่วมกันในห้องปรับอากาศระบบปิด เพราะอาจติดเชื้อกันได้ แยกกันรับประทานอาหาร นอกจากนี้ มาตรการส่วนบุคคลก็เหมือนกัน คือ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย เพราะอาจไปจับจุดสัมผัสร่วมในบ้านหากไม่ล้างมืออาจติดเชื้อได้ แยกซักเสื้อผ้า หากใช้อุปกรณ์แยกได้ให้ใช้เครื่องซักผ้าเป็นคนสุดท้าย รวมถึงแยกใช้ห้องน้ำหรือใช้คนสุดท้ายและทำความสะอาดห้องน้ำ หากมีสิ่งคัดหลั่ง ไอ จาม ใช้ทิชชู่และหน้ากากแล้วใส่ถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด หรือถุงขยะสำหรับติดเชื้อ โดยใช้น้ำยาทำความสะอาด ผงซักฟอก สารฟอกขาวใส่ลงไปฆ่าเชื้อก่อนทิ้งขยะ

พ.เอกชัย กล่าวว่า อาการที่ควรเฝ้าระวังกรณีแยกกักที่บ้าน หากมีอาการแทรกซ้อนจำเป็นต้องรีบติดต่อแพทย์หรือสถานพยาบาลที่ฝากครรภ์ คือ เจ็บท้องก่อนกำหนด ท้องแข็งบ่อยๆ อาจมีเลือดออกจากช่องคลอด น้ำใสๆ ออกจากช่องคลอด หรืออาการน้ำเดิน อาการครรภ์เป็นพิษ คือ ความดันสูงระหว่างตั้งครรภ์ อาการพบบ่อย คือ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ บวมตามแขนขา รีบแจ้งหน้าที่เพื่อส่งไปดูแลยังสถานพยาบาลที่ฝากครรภ์ ส่วนอาการที่ต้องแจ้งแพทย์และเข้ารักษษทันที คือ อาการสีแดงได้แก่ มีระบบทางเดินหายใจ เกิดอาการปอดอักเสบ เช่น ไข้สูง ไอบ่อย หอบเหนื่อย วัดออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 96% หรือลดต่ำลงมา 3% แสดงว่าผิดปกติ แน่นหน้าอกตลอดเวลา หายใจเจ็บหน้าอก เริ่มเบลอ สติสตังไม่ค่อยดี ต้องรีบเพื่อรับตัวไปส่ง รพ. ให้นอนตะแคงข้างซ้าย เพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงดูก รก และทารกได้ดี และดื่มน้ำมากๆ เมื่อเกิดอาการ ส่วนที่ไม่แนะนำให้นอนตะแคงขวาเพราะจะไปทับเส้นเลือดใหญ่ และที่ไม่นอนหงายเพราะครรภ์จะไปกดทับทำให้หายใจลำบาก

นพ.เอกชัย กล่าวว่า สตรีตั้งครรภ์ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องผ่าตัดคลอด โดยเน้นการคลอดทางช่องคลอด ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ทางสุติกรรม เช่น เด็กตัวใหญ่ เด็กมีภาวะเครียด ซึ่งการผ่าตัดต้องใช้เวลาเป็น 2 เท่าเพื่อป้องกันการติดเชื้อเป็น 4-5 ชั่วโมง ส่วนหลังคลอดกรณีแม่ติดเชื้อ จะนำลูกไปตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ หากไม่ติดเชื้อก็อุ้มลูกได้ โดยแม่ใส่หน้ากากตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังอุ้มลูก หากลูกติดเชื้อรุนแรงต้องแยกไปหอผู้ป่วยเด็กเพื่อรักษา หากลูกติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อย แม่ก็ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ก็อุ้มลูกได้เพื่อเพิ่มสายใยรัก แต่งดหอมแก้มลูกเด็ดขาด เพราะอาจติดเชื้อจากการหอมแก้มลูก ขณะที่การดูดนมจากเต้ายังสามารถทำได้ เพราะงานวิจัยน้ำนมแม่ไม่ได้มีเชื้อโควิด แต่จะให้กรณีแม่ไม่มีอาการหรือเล็กน้อย ใส่หน้ากากตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังให้นมลูก ใช้ผ้าเช็ดชุบน้ำอุ่นเช็ดเต้านมให้สะอาดก่อนให้ลูก หากแม่ไม่สะดวกหรือเริ่มมีอาการ อาจปั๊มนมเก็บในถุงให้ลูกดื่มได้ ขณะที่ยารักษาในหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด ไม่ให้กินยาฟ้าทะลายโจรและฟาวิพิราเวียร์ รวมถึงตอนให้นมบุตร เพราะอาจส่งผลต่อเด็กในครรภ์ได้ แต่หากมีข้อบ่งชี้ให้ยา จะให้เรมดิซีเวียร์ แต่หากหน่วยบริการไม่มียาพอเพียง จะพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์อย่างระมัดรัวง อาจให้ได้ตอนไตรมาสสุดท้ายใกล้คลอด แต่จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

9 March 2565

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2031

 

Preset Colors