02 149 5555 ถึง 60

 

เปิดคำแนะนำ รับมือภาวะจิตตก-ซึมเศร้า จากการเสพข่าว #แตงโม

เปิดคำแนะนำ รับมือภาวะจิตตก-ซึมเศร้า จากการเสพข่าว #แตงโม

รวมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและจิตแพทย์ รับมือภาวะจิตตก ซึมเศร้า หดหู่จากการเสพข่าว

วันที่ 1 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีการเสียชีวิตของนักแสดงสาว แตงโม นิดา หลังพลัดตกเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่กู้ภัยพบศพเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประชาชนมีการรับข่าวสารจำนวนมาก และร่วมแสดงความเสียใจกับการสูญเสียครั้งนี้ ซึ่งบางครั้งการติดตามข่าวสารมากเกินพอดีอาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะจิตตกและซึมเศร้าได้

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมการรับมือภาวะซึมเศร้า หดหู่ จากการเสพข่าวตามคำแนะนำของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ

ปิดหน้าจอ หายใจลึก ๆ

เฟซบุ๊กเพจ คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา คลินิกเฉพาะทางจิตเวชศาสตร์ โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า หมอขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของคุณแตงโมอย่างมากครับ

ประเด็นเรื่องนี้มีความอ่อนไหวและสามารถกระทบกระเทือนจิตใจใครหลายคนได้ หากการติดตามข่าวสารเรื่องนี้เริ่มทำให้ท่านเริ่มมีอาการจิตตก ซึมเศร้า โกรธแค้น ไม่สบายใจ หรือมีภาพติดตาบางอย่างเกิดขึ้น หมออยากให้ทุกท่านปิดหน้าจอซักพัก หายใจช้า ๆ ลึก ๆ ให้ผ่อนคลาย หรือออกไปทำเรื่องที่น่าสนใจอย่างอื่นก่อนนะครับ

4 วิธีป้องกันใจ

ไอสตรอง เว็บไซต์หน่วยงานเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง ผ่านการให้คำแนะนำทางแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยาองค์กร ได้เปิดเผย “4 วิธีป้องกันใจไม่ให้ซึมเศร้าจากข่าวดราม่า” ดังนี้

1.เสพแค่รู้ภาพรวมและบทสรุป

ผู้ผลิตข่าวในปัจจุบันหลายรายที่มักเล่นใหญ่ใช้ดราม่าเพื่อสร้างกระแสและเรทติ้ง ซึ่งมักจะปลุกปั่นให้ผู้เสพอย่างเรา ๆ เกิดสภาวะอารมณ์คล้อยตาม ดังนั้นหากคุณจำเป็นต้องอัพเดทเพื่อรู้ จึงแนะนำให้คุณหารับข้อมูลที่สรุปมาให้แล้ว และอ่านด้วยใจที่เป็นกลาง เป็นบุคคลที่สามที่รับรู้เรื่องราวอยู่ห่าง ๆ แต่ไม่เอาตัวเองเข้าไปจมอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้นด้วย

อีกทั้งให้ระวังคอมเม้นจากผู้เสพรายอื่น ๆ ที่มักแสดง “ความคิดเห็น” ซึ่งหลายครั้งมักจะกระตุ้นให้คุณเกิดความรู้สึกที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ที่แน่ ๆ คุณไม่ควรจะลงตะลุมบอนร่วมคอมเม้นต์อย่างเมามันด้วยอีกคน

2. รีบพาตัวเองกลับไปหาสิ่งที่จรรโลงใจ

เวลาที่คุณเสพข่าวร้าย ๆ นั้น ภาพเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ มักจะติดอยู่ในหัว คอยติดตาม และครอบงำคุณไปอีกซักระยะหนึ่ง ยิ่งคุณปล่อยไว้นานและเอาแต่คิดถึงแต่เรื่องนั้นจะยิ่งทำลายสุขภาพจิตของคุณ ทางที่ดีคุณควรรีบเปลี่ยนเรื่องราวในหัว โดยการหัดไปรับเรื่องดี ๆ หรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายอย่างอื่นให้เร็วที่สุด เช่น การออกกำลังกาย

3. ไม่ขยายผลและเอาแต่พูดถึงมัน

การเอาแต่พูดถึงเรื่องไม่ดี ก็จะยิ่งเป็นการขยายผลและกระตุ้นให้สมองของคุณทำงานเพื่อย่อยข้อมูลพวกนั้น ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษเกิดขึ้นรอบตัวของคุณเอง ดังนั้น เพื่อกำจัดให้หายไปจากหัวสมองของคุณให้เร็วที่สุด คุณจึงไม่ควรจะเอาแต่พูดถึงเรื่องเหล่านั้น

4. ไม่เสพ

ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการไม่เสพข่าวร้าย หากคุณจะสังเกตได้ ว่าข่าวร้ายส่วนใหญ่ไม่ได้มีประโยชน์หรือสร้างสรรค์พอที่จะเป็นประโยชน์กับชีวิตของคุณ หลายครั้งคุณเสพเพราะรู้สึกสนุก (เพียงชั่วคราว) แต่หากคุณยิ่งเป็นคนเครียดง่าย หายเศร้ายาก อ่อนไหว หรือมีภาวะซึมเศร้าอยู่แล้ว คุณยิ่งต้องห่างไกลจากเรื่องราวแย่ ๆ เหล่านั้น

กรมสุขภาพจิตเตือนสื่อหลัก-โซเชียล

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการรายงานข่าวต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์ ขอให้มีการนำเสนอข่าวไม่เน้นในเรื่องที่ดราม่ามากเกินไป เพราะเป็นการกระตุ้นอารมณ์ของผู้รับสื่อ และเป็นการละเมิดผู้เสียชีวิต ละเมิดครอบครัวผู้เสียชีวิต

รวมถึงผู้ที่ใช้โซเชียลในการวิจารณ์ ตั้งข้อสงสัย เพราะุเป็นความเห็นส่วนตัวแต่ในแง่ของกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องมีการสืบสวนสอบสวนอยู่แล้ว ก็จะกลายเป็นการละเมิดได้

อีกทั้งยังเสนอหลัก “2ไม่ 1เตือน” ดังนี้

ไม่ผลิตสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ ใส่ไข่ที่อาจจะมาจากความเชื่อส่วนตัว แล้วให้ระบบยุติธรรมหาคำตอบ

ไม่ส่งต่อ เพราะคนที่ผลิตสื่อมีไม่มาก แต่ที่มันไปมากเพราะการส่งต่อ และด้วยระบบอัลกอริทึมจะยิ่งทำให้เกิดการท่วมทวีของข้อมูลข่าวสารในเรื่องนี้ กลายเป็นบรรยากาศทางสังคมที่ไม่ดี

ดังนั้น “2 ไม่” นี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และ “1 เตือน” คือนอกจากไม่ส่งต่อแล้ว หากพบเห็นภาพ ข่าว ข้อความ คลิปที่ไม่เหมาะสมก็อาจจะเตือนคนที่เผยแพร่มาก็ได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ควรเห็นใจคนที่มีชีวิตอยู่ และเคารพคนที่เขาจากไป

พร้อมให้คำแนะนำในมุมมองสำหรับคนที่รักและแฟนคลับว่า ขอให้ติดตามข่าวอย่างมีสติ ระลึกแต่เรื่องที่ดีที่มีแก่กัน เพราะคนที่เขาจากไปทุกคนนั้นคงอยากให้คนที่ยังอยู่มีสุขภาพจิตใจที่ดี

ทั้งนี้บางครั้งการเสียชีวิตของคนมีชื่อเสียงหากแฟนคลับมีความเปราะบางอยู่แล้ว อาจจะเกิดอารมณ์สั่นคลอนได้ ดังนั้นขอให้รับข่าวสารแต่พอดี เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด ให้ตั้งสติ พยายามรักษาสมดุลของชีวิต พักผ่อน ออกกำลังกาย หากรู้สึกว่าเศร้าโศก สามารถขอรับคำปรึกษาจากสหวิชาชีพได้ หรือโทรสายด่วน 1323 ได้ ดีกว่าจะว่ากันอยู่แค่ในเวทีโซเชียลฯ เท่านั้น

2 March 2565

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 858

 

Preset Colors