02 149 5555 ถึง 60

 

สธ.แจงเลือกฉีดวัคซีนโควิดครึ่งโดส-เข้าผิวหนังเฉพาะ mRNA เท่านั้น ยังไม่รวมแอสตร้าฯ

สธ.แจงเลือกฉีดวัคซีนโควิดครึ่งโดส-เข้าผิวหนังเฉพาะ mRNA เท่านั้น ยังไม่รวมแอสตร้าฯ

สธ.ย้ำฉีดวัคซีนโควิดครึ่งโดส หรือเข้าชั้นผิวหนัง เฉพาะวัคซีน mRNA ส่วนแอสตร้าฯ ยังไม่แนะนำ แม้มีผลการศึกษาที่ภูเก็ตว่าได้ผลดี ภูมิสูงไม่แตกต่าง แต่ยังต้องติดตามระยะยาวว่าภูมิอยู่นานแค่ไหน ย้ำฉีดครึ่งโดส เข้าผิวหนัง มักใช้ตอนมีวัคซีนน้อย หรือลดผลข้างเคียง แต่ตอนนี้วัคซีนมีเพียงพอ

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำให้เร่งฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นให้ประชาชน โดยเฉพาะเข็มที่ 3 ตามกำหนด เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค ส่วนเข็ม 4 ในประชาชนทั่วไปที่รับเข็ม 3 มานานกว่า 3 เดือน สามารถเข้ารับการกระตุ้นได้แล้ว โดยเน้นย้ำในกลุ่มเสี่ยงที่มีความรุนแรง คือ กลุ่ม 608 ซึ่งในส่วนของเข็มกระตุ้น ซึ่งเราไม่ได้นับว่าเป็นเข็ม 3 หรือ 4 ภาพรวมตอนนี้ฉีดได้ครอบคลุม 20% แล้ว

เมื่อถามว่าการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง และฉีดครึ่งโดส ทำได้ในวัคซีน mRNA และไวรัลเวกเตอร์ หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีดครึ่งโดสหรือฉีดเข้าชั้นผิวหนัง เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการไม่พึ่งประสงค์หลังฉีด คำแนะนำของ สธ. ตอนนี้คือ เฉพาะชนิด mRNA เท่านั้น ส่วนไวรัลเวกเตอร์เราให้ฉีดเต็มโดสเข้ากล้ามเนื้อตามปกติ ทั้งนี้ การฉีด mRNA เข้าในชั้นผิวหนัง หรือครึ่งโดส ผู้รับวัคซีนสามารถเลือกได้ แต่ต้องขึ้นอยู่ดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาของ จ.ภูเก็ต ที่เป็นจังหวัดรองรับการท่องเที่ยว จึงต้องรับวัคซีนกระตุ้นภูมิ ซึ่งใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดเข้าชั้นผิวหนัง พบว่าได้ผลดี ภูมิคุ้มกันขึ้นพอๆ กับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานแค่ไหนต้องเก็บข้อมูลระยะยาว ต้องใช้เวลา โดยหลักแล้วการฉีดวัคซีนโควิด ภูมิจะอยู่ได้ระดับหนึ่งจึงต้องฉีดกระตุ้น ทั้งนี้ การฉีดที่ลดปริมาณลงมา เช่น ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง หรือฉีดครึ่งโดส เราจะใช้ในช่วงที่มีวัคซีนมีน้อย แต่ตอนนี้เรามีวัคซีนเพียงพอ หรือต้องการลดผลข้างเคียง เช่น ฉีด mRNA ในเด็กผู้ชาย ที่พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เมื่อการฉีดเข็มกระตุ้น ก็สามารถฉีดครึ่งโดส หรือฉีดเข้าในชั้นผิวหนังได้

“ด้านอาการข้างเคียงของการฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง เราพบว่า ลดลง มีเพียงอาการปวดแดงบริเวณที่ฉีด ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อฉีดเข้าในชั้นผิวหนังแล้ว มีโอกาสที่จะพบรอยแดง เป็นหนอง เหมือนเป็นแผลที่แขน จุดตรงฉีดได้ แต่ก็ไม่ได้เกิดเยอะ ซึ่งไม่อยากให้เกิดเป็นความเข้าใจผิด จึงต้องเน้นย้ำเรื่องนี้ แต่ภูมิขึ้นดีพอๆ กับฉีดเข้ากล้าม” นพ.ศุภกิจ กล่าว

4 February 2565

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 767

 

Preset Colors