02 149 5555 ถึง 60

 

เชื้อหมดแต่อาการไม่จบ ผลพวง "ลองโควิด" ภาวะเรื้อรัง ต้องเผชิญหลังหายป่วย

เชื้อหมดแต่อาการไม่จบ ผลพวง "ลองโควิด" ภาวะเรื้อรัง ต้องเผชิญหลังหายป่วย

รู้จักภาวะ "ลองโควิด" อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 โดยจะมีอาการต่อเนื่อง นานสุด 6 เดือน

ประสบการณ์ตรงจากหนุ่มแข็งแรง เมื่อหายป่วยโควิดแล้ว แต่พบว่าร่างกายไม่เหมือนเดิม

เช็กอาการ "ภาวะลองโควิด" ที่ผู้ป่วยหายโควิดบางรายต้องเผชิญ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด-19" ในประเทศไทย พบว่าตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงทะลุแตะหลักหมื่นต่อวัน ทำให้ประชาชนหลายคนยังเกิดความวิตกกังวัล เนื่องจากหวั่นติดเชื้อร้าย กลัวจะกระทบต่อสุขภาพ หน้าที่การงาน และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ชีวิต

แต่ใช่ว่าจะมีเพียงยอดผู้ติดเชื้อที่แตะหลักหมื่นในแต่ละวัน เพราะยอดผู้ป่วยที่รักษาตัวจนหายดีนั้น ก็ไม่น้อยหน้า เพิ่มขึ้นจำนวนมากเช่นกัน แต่ขึ้นชื่อว่าติดเชื้อโควิดมาแล้ว แม้จะรักษาจนหายดี ก็ไม่แคล้วมีเรื่องให้กังวลใจ เมื่อแพทย์หลายท่านออกมาพูดถึง "ภาวะลองโควิด" (Long COVID) ที่ผู้หายป่วยโรคโควิดอาจต้องเผชิญ

พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก เผยว่า เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรักษาหายแล้ว จะมีอาการฟื้นตัวได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากเชื้อโควิดจะอยู่ในร่างกายประมาณ 10-14 วัน มากสุด 21 วัน แล้วแต่ร่างกายของแต่ละบุคคล แต่จะมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ต้องเผชิญกับภาวะ "ลองโควิด" หรือ อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด โดยจะมีอาการต่อเนื่องมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป และนานถึง 4-6 เดือน

สาเหตุของ "ภาวะลองโควิด"

เกิดจากภาวะอักเสบที่ยังหลงเหลือ หรือเกิดจากการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดลองโควิด ได้แก่ อายุ ซึ่งผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่พบว่ามีภาวะลองโควิด หรือโรคประจำตัว เช่น ภาวะอ้วน, ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ คนไข้จึงรู้สึกอ่อนเพลีย

ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดลองโควิด คือ "ความเครียด" ซึ่งอาจเกิดจากความวิตกกังวลอันเนื่องจากความเจ็บป่วย หรือความเครียดที่เกิดขึ้นเมื่อต้องถูกจำกัดบริเวณจากการกักตัวเป็นเวลานาน

อาการผู้ป่วยเมื่อต้องเผชิญ "ภาวะลองโควิด"

นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา เผยว่า อาการของภาวะลองโควิด สามารถแสดงออกได้ทั้ง "ทางร่างกาย" และ "ทางจิตใจ" โดยผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ไม่มีลักษณะตายตัว เช่น ไอ, มีไข้, ปวดศีรษะ, การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง, เจ็บหน้าอก, หายใจไม่อิ่ม, เหนื่อยล้า, ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ, ท้องเสีย โดยเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง และบางรายอาจมีอาการ วิตกกังวล, สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีแดง หรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรง จะมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดสูงกว่าผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อย เนื่องจากอาจมีปัจจัยเรื่องความเครียดที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงป่วยเป็นโรคโควิด-19 จึงส่งผลต่อเนื่องอาจยาวนาน 3-6 เดือนได้กว่าจะกลับมาเป็นปกติ รวมทั้งพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหอบหืด เป็นต้น

ประสบการณ์ตรง หนุ่มแข็งแรง หายป่วยแต่ร่างกายไม่เหมือนเดิม

คุณฟอร์ด หนุ่มพนักงานบริษัทวัย 25 ปี เล่าถึงสิ่งที่เผชิญหลังหายป่วยจากโรคโควิด-19 ให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ได้ติดเชื้อโควิดและรักษาอยู่ที่บ้านตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2564 ตอนนั้นเป็นช่วงเริ่มมีการทำ Home Isolation ซึ่งผมจัดเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว แทบจะไม่มีอาการป่วยรุนแรง กระทั่งผ่านไป 14 วัน ตรวจร่างกายไม่พบเชื้อแล้ว จากนั้นก็กักตัวต่ออีก 14 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีเชื้อหลงเหลือที่จะสามารถไปแพร่ให้กับคนอื่นได้อีก ก่อนที่จะกลับไปทำงานตามปกติ

แต่สิ่งที่พบหลังหายป่วย กลับรู้สึกว่าร่างกายไม่เป็นเหมือนเดิม จากเมื่อก่อนเป็นคนแข็งแรง วิ่งออกกำลังกายได้เป็นชั่วโมง เดินเช็กของ ยกของ ทำงานได้ตามปกติ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นคนเหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย ง่วงนอนมากกว่าเมื่อก่อน ซึ่งเราก็ไม่ได้เดินทางไปตรวจร่างกาย เพราะคิดว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้หนัก แต่รับรู้ได้ว่า ร่างกายไม่เหมือนเดิม

แนวทางการรักษา "ภาวะลองโควิด"

พญ.เปี่ยมลาภ เผยต่อว่า เน้นการรักษาตามอาการเป็นหลัก ผู้ป่วยสามารถรอให้หายเองได้หากรู้สึกถึงอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง เช่น มีอาการไอ, เหนื่อย, หอบมากขึ้น หรือมีอาการทางระบบประสาทที่มีมากกว่าปกติ เช่น รู้สึกสับสน ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาต่อไป

อีกทั้ง "การออกกำลังกาย" ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การกลับมาทำงานของร่างกายได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ รวมทั้งต้องอาศัยกำลังใจทั้งจากตนเองและคนรอบข้าง ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อบรรเทาความเครียด ก็สามารถช่วยให้สุขภาพจิตที่ย่ำแย่อันเนื่องมาจากภาวะลองโควิดให้ดีขึ้นได้

สำหรับประเด็นที่หลายคนสงสัยว่า ผู้ป่วยภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด หลังจากอาการดีแล้ว กลับมีปัญหาหอบเหนื่อย และออกซิเจนต่ำนั้น อาการดังกล่าวเกิดจากความเสียหายของปอด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะลองโควิดโดยตรง หากแต่มีผลมาจากการทำลายเนื้อเยื่อ โดยภูมิคุ้มกันทำให้ปอดมีความเสื่อม และยังไม่ฟื้นตัวพร้อมทำงานอย่างเต็มที่ เกิดภาวะพร่องออกซิเจนที่ทำให้เหนื่อยหอบ หรือเกิดจากการติดเชื้ออื่นซ้ำเติม

ฉะนั้น อาการของภาวะ "ลองโควิด" ที่แท้จริงคืออาการที่ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว รู้สึกมีอาการไข้ หรือไอมากกว่าปกติ แต่ไม่ได้ส่งผลให้เนื้อปอดอักเสบเพิ่มขึ้น

สุดท้ายนี้ หากผู้ที่หายป่วยจากโควิดแล้วยังมีอาการที่กล่าวมา แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากบางรายอาจเป็นผลจากตัวยาที่ใช้ในการรักษา หรือมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น และยังมีความเป็นไปได้ในผู้หายป่วยแล้วบางราย ว่าอาจจะติดเชื้อโควิดซ้ำ โดยเฉพาะการติดเชื้อที่ต่างไปจากสายพันธุ์เดิม แต่อาจไม่แสดงอาการชัดเจน

ดังนั้น ผู้ป่วยโควิดแม้หายป่วยแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ.

30 September 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 9379

 

Preset Colors