02 149 5555 ถึง 60

 

รักษาโควิดอยู่บ้าน วิกฤติทางรอดชีวิต

รักษาโควิดอยู่บ้าน วิกฤติทางรอดชีวิต

แนวโน้มกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยคงพุ่งไม่หยุดทะลุหลักหมื่นรายวันส่งผลต่อ “ระบบสาธารณสุขล่ม” โรงพยาบาลรับไม่ไหวจำเป็นต้องให้ “ผู้ป่วยรักษาที่บ้าน” เป็นทางรอดสุดท้าย

แต่การรักษาตัวที่บ้านก็ไม่ใช่เรื่องง่าย “ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเคร่งครัด” ถ้าระบบกักตัวที่บ้านไม่ดีพอ ย่อมทำให้แพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่น โดยเฉพาะชุมชนแออัดมักอยู่ห้องเช่าแคบๆรวมกัน ที่มีหลายคนติดเชื้อกันทั้งครอบครัวแล้ว...“บางคนตกหล่นเชิงระบบ” ขาดโอกาสเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมทันสถานการณ์

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อติดโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน จึงมีความจำเป็นสำคัญ ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า นับแต่โรงพยาบาลเตียงเต็มก็มีแนวทางคุ้นหู “รักษาตัวแบบโฮมไอโซเลชัน” แต่หากเป็นครอบครัวอยู่รวมกันไม่สามารถอยู่บ้านได้ก็ต้องเป็น “คอมมูนิตี้ไอโซเลชัน” นำผู้ป่วยมาดูแลในสถานที่ที่จัดไว้เฉพาะในชุมชน

ด้วยการให้ “ชุมชนช่วยกันดูแล” มีแพทย์ใช้ระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ดูแลสอบถามอาการทุกวัน ในการนี้มี สปสช.เป็นผู้กำหนดมาตรฐานการดูแล

คนไข้รักษาฟรี ที่มีการมอบ “กล่องยาช่วยชีวิต” ประกอบด้วยชุดยา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อเป็นทางเลือกให้กลุ่มผู้ป่วยอาการไม่หนัก

หลักเกณฑ์ต้อง “ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง หรือผู้สูงอายุ” เพราะคนกลุ่มนี้ต้องเข้าระบบ รพ.สนาม ฮอสพิเทล ฮอสพิทอล ที่ควรต้องมีแพทย์ พยาบาลคอยดูแลใกล้ชิดเฉพาะด้วยซ้ำ

ทว่าสถานการณ์ตอนนี้ก็เชื่อว่า “ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียว” มีตกหล่นเชิงระบบไม่สามารถเข้าถึง “โฮมไอโซเลชัน และคอมมูนิตี้ไอโซเลชัน” ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ไม่อาจระบุตัวเลขชัดเจนได้แน่นอน ในความเห็นส่วนตัวแล้ว “น่าจะมีไม่ต่ำกว่าหลักพันคน” ทำให้ต้องช่วยเหลือเร่งด่วนกันทันที

เรื่องนี้ “รัฐบาล” พยายามปรับลดกฎระเบียบหลักเกณฑ์ด้วย “เปิดยอมรับผลตรวจแอนติเจนเทสต์คิต (Antigen Test Kit หรือ ATK)” เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโปรแกรมบริการสุขภาพภาครัฐจัดไว้โดยง่าย แต่ก็มีปัญหาต่ออีกตั้งแต่มีโรคระบาดมานี้ “ประชาชนบางคนขาดรายได้” ไม่มีศักยภาพซื้อชุดตรวจเองได้

สลด สาวบ้านหมี่ดับคาศูนย์พักคอย ขณะรอตรวจหาเชื้อโควิด

ยอดฉีดวัคซีนทั่วไทยสะสม 27.6 ล้านโดส วานนี้ฉีดได้ตามเป้า 5 แสนโดสอีกวัน

แม้ว่า “บริบทพื้นที่ระบาดหนัก” มีจุดบริการเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK อยู่ฟรี เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑล ตั้งจุดตรวจ 14 จุด “ประชาชนทั่วไป” สามารถยื่นบัตรประชาชนขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดก็ตาม แต่ก็สังเกตเห็นข้อจำกัด “ผู้ใช้บริการ” ส่วนใหญ่มักเป็นเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพออกมาใช้บริการได้เท่านั้น

ส่วน “กลุ่มเปราะบางคนปากกัดตีนถีบหาเช้ากินค่ำ” ที่ต้องประกอบอาชีพทำมาหากินทุกวัน กลับไม่มีเวลาออกมาตรวจได้เช่นเดิม เพราะไม่ทำงาน 1 วัน ก็ย่อมขาดรายได้ทิ้งไปโดยเปล่า 400-500 บาท

“เมื่อไม่ตรวจก็ไม่รู้ว่า “ติดโควิดหรือไม่” กลายเป็นอุปสรรคไม่อาจเข้าถึงการบริการสุขภาพ โดยเฉพาะ “ชุมชนแออัด” น่าจะมีผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างแล้ว ทั้งยังมีบางคนติดเชื้อมีอาการก็ “ยอมทนกินยาประคองอาการป่วย” ที่ไม่ยอมไปตรวจไม่อยากทิ้งงานขาดรายได้รายวันหายไปนี้”

กลายเป็นอุปสรรค “ประชาชนเข้าไม่ถึงการตรวจเชื้อโควิด” ตามมา... “กระทรวงสาธารณสุข” มีแนวทางแจกชุดตรวจฟรี 8 ล้านกว่าชุด แต่ก็มีปัญหาข้อสงสัยถกเถียงเกี่ยวกับคุณภาพชุดตรวจ ATK กันขณะนี้

เรื่องนี้มองว่ามีความสำคัญค่อนข้างมาก “ชุดตรวจโควิด” ไม่อาจมองเฉพาะราคาถูกอย่างเดียวไปได้ดังคำว่า “You get what you pay for” แปลว่าถ้าคุณไม่จ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อบางสิ่งบางอย่างคุณก็อาจจะได้ของคุณภาพไม่ดี และตามข่าวก็ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวางบนโลกโซเชียล

จนชมรมแพทย์ชนบทตั้งข้อสังเกตว่าชุดตรวจยี่ห้อชนะการประมูลที่องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (FDA) ไม่ยอมรับในมาตรฐานความแม่นยำ แต่ประเทศไทยกลับทำการซื้อมาได้...?

สิ่งนี้ “สังคมและสื่อมวลชน” ต้องช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าชุดตรวจไม่มีคุณภาพแล้วย่อมส่งผลให้มี “ผลตรวจเป็นลวง” โดยเฉพาะ “ผลตรวจลบลวง” กลายเป็นปัญหาต่อ “ผู้ด้อยโอกาสติดโควิด” ไม่สามารถเข้าถึงบริการดูแลอาการป่วยได้เหมาะสม ทั้งยังตอกย้ำให้มีการระบาดกระจายเชื้อมากกว่าเดิมก็ได้

ถัดมาเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว “บ้านเรามีแรงงานต่างด้าว” เป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแต่ “โปรแกรมสุขภาพ” ไม่ครอบคลุมคนกลุ่มนี้ ดังนั้นการควบคุมโรคระบาดจำเป็นต้องมองภาพรวมทั้งประเทศ เพราะแม้ว่า “ควบคุมการติดเชื้อในคนไทยได้ แต่มีการระบาดในกลุ่มคนต่างด้าว” อยู่ตลอดแล้ว

เช่นนี้ปัญหา “การแพร่ระบาดโควิดในประเทศ” ก็ไม่มีวันสิ้นสุดได้โดยง่ายแน่นอน เรื่องนี้อาจต้องเป็นโจทย์ใหญ่ให้ “หน่วยงานภาครัฐ” พิจารณาดำเนินการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด และดูแลรักษาถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าว และกลุ่มเปราะบาง ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยอย่างครอบคลุมตามหลักมนุษยธรรมด้วย

ประเด็น...“เข้าถึงโปรแกรมดูแลรักษาโควิด” ยอมรับตอนนี้ “ศักยภาพโรงพยาบาล” มีจำกัดไม่อาจรับผู้ป่วยได้จนเกินกำลังที่ “บุคลากรทางการแพทย์” สามารถรองรับได้จริงๆ ทำให้ “ภาครัฐ” พยายามปรับลดขั้นตอน “การรับผู้ป่วยเข้าระบบโฮมไอโซเลชัน” จากผลบวกติดเชื้อยืนยันในการตรวจ ATK ด้วยแล้ว

แน่นอนว่า “ประชาชน” ทราบว่า “ติดเชื้อโควิด” มักกังวลตื่นกลัวค่อนข้างมาก เบื้องต้นแนะนำควรต้องตั้งสติทำใจให้สบายแล้ว “ประสานขอกล่องยากักตัวรักษาที่บ้าน” จากภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิจิตอาสาต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือคนยากไร้คนตกงาน “ป่วยติดโควิด” ในการช่วยกันประคับประคองกันชั่วคราว

ย้ำการดูแลกักตัวที่บ้านต้อง “หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงอาการป่วย” ด้วยการวัดอุณหภูมิร่างกายในช่วงเช้าเย็นไม่ควรเกิน 37.5 องศาฯ หากมีไข้ตัวร้อนรับประทานยาพาราเซตามอลทุก 4-6 ชั่วโมง เช็ดตัวที่คอ ข้อพับ เพื่อลดความร้อน ทั้งต้อง “วัดระดับออกซิเจนในเลือด” บริเวณปลายนิ้วค่าต้องมากกว่า 95%

สิ่งสำคัญ “พักผ่อนให้เพียงพอ” ด้วยการนอนคว่ำ หรือนอนตะแคง ที่จะเป็นการช่วยลดการกดทับของปอดทำให้ได้รับอากาศเพิ่มขึ้น ที่มีการ แลกเปลี่ยนออกซิเจนภายในร่างกายได้ดียิ่งขึ้น และพยายามออกกำลังกายแบบเบาๆ เพื่อเป็นการเอกเซอร์ไซส์ให้ปอด หัวใจ และกล้ามเนื้อส่วนอื่นสามารถทำงานดีตามมา

ส่วน “ครอบครัวติดเชื้อโควิดทั้งหมด” คงจำเป็นต้องแยกห้องนอน หรือนอนกันคนละมุม รวมถึงแยกของใช้ส่วนตัว จาน ชาม ช้อน แก้ว ภาชนะไม่ใช้ปะปนกับคนอื่น ที่ไม่รับประทานอาหารร่วมกันเช่นเดิม โดยเฉพาะถังขยะติดเชื้อแยกเฉพาะมัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้ง แล้วใช้น้ำยาฟอกขาวล้างทำลายเชื้อให้ดี

สาเหตุเพราะ “แต่ละคนรับไวรัสปริมาณต่างกัน” ในคนมีเชื้อน้อยอยู่แล้วมีโอกาสรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น ดังนั้นแม้ “คนในครอบครัวติดเชื้อกันทั้งบ้าน” ก็ต้องปฏิบัติมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออยู่ตลอด มิเช่นนั้นแล้วจะกลายเป็น “การติดเชื้อโควิดหมุนเวียนสลับกันไปมา” อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ถ้าเป็นกรณี “คนไข้กลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง...ผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด” ต้องรับดูแลสถานพยาบาลเป็นหลัก จำเป็นต้องหาช่องทางเข้าระบบบริการดูแลสุขภาพเร่งด่วน เพราะมีความเสี่ยงโอกาสป่วยหนักรวดเร็ว

สัญญาณอันตราย...หายใจลำบาก หายใจได้ไม่เต็มปอด มีอาการเหนื่อยหอบง่ายแน่นหน้าอกลักษณะนี้คือ “อาการเชื้อไวรัสลงปอด” สามารถสังเกตง่ายๆ “ผู้ป่วยซึมลง” ที่บ่งบอกว่า “คนไข้ขาดออกซิเจนเพิ่มขึ้นจนอาการแย่” จำเป็นต้องหาทางเข้ารับการรักษาตัวกับแพทย์ที่โรงพยาบาลเร่งด่วนที่สุด

สุดท้ายเมื่อ “คนในบ้านหายป่วยติดเชื้อโควิด 14 วัน” ยังคงต้อง กักตัวต่ออีก 7 วัน จากนั้นก็ทำความสะอาดบ้านบิ๊กคลีนนิ่ง ด้วยการพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่บ้านทั้งหมด เพื่อป้องกันบุคคลภายนอกที่เข้ามาเยี่ยมเยือนสัมผัสเชื้อตกค้างได้ อย่างไรก็ดี “สังคม” ต้องช่วยกันดูแลผู้ติดเชื้อแล้วให้กำลังใจต่อกันด้วย

วิกฤติที่เต็มไปด้วยไวรัสร้ายไม่เลือกปฏิบัติว่า “คนจน หรือคนร่ำรวย” จนตัวเลขติดเชื้อรายวันพุ่งไม่หยุดเช่นนี้ “คนไทย” ต้องเอื้ออาทรช่วยเหลือกัน เพื่อผู้ป่วยและสังคมจะได้รอดไปด้วยกัน.

26 August 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2925

 

Preset Colors