02 149 5555 ถึง 60

 

กรมวิทย์จับตาโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ระบาดเพิ่มขึ้นใน กทม.เผยเจอในไทยแล้ว 20 จังหวัด

กรมวิทย์จับตาโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ระบาดเพิ่มขึ้นใน กทม.เผยเจอในไทยแล้ว 20 จังหวัด

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ​เฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา จับตาใกล้ชิดรายสัปดาห์ หากแพร่ก้าวกระโดด คาดระบาดในไทยภายใน​ 2-3​ เดือนนี้​ หลังพบผู้ป่วย 10 คน รักษาอยู่ใน รพ.ที่กรุงเทพฯ โดยอัตราการระบาดของสายพันธุ์นี้​เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา 40​% ส่วนสายพันธุ์เบตา ขยับเจอนอก อ.ตากใบ

วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย จากตัวอย่างเชื้อที่ส่งข้ามายังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างวันที่ 7 เม.ย. -13 มิ.ย. จำนวน 5,055 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 4,528 ราย คิดเป็น 89.6% สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เพิ่มขึ้น 137 ราย จาก 359 ราย ที่รายงานไปก่อนหน้านี้ เป็น 496 คน พบมากที่สุดใน กทม.สะสม 404 ราย เป็นรายใหม่ 86 ราย และ ยังพบ 10 ราย ใน รพ.กลางกรุงเทพฯ 3-4 แห่ง อัตราการเพิ่มขึ้น จาก 8% เป็น 9.8%

นอกจากนี้ ยังพบเพิ่มที่ ปทุมธานี 28 ราย นครนายก 8 ราย สกลนคร 3 ราย พะเยา 2 ราย อุบลราชธานี 2 ราย เชียงราย เพชรบูรณ์ ชลบุรี จันทบุรี ขอนแก่น อุดรธานี เลย และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 ราย และก่อนหน้านี้ มีรายงานพบที่ จ.พิษณุโลก สมุทรสาคร ร้อยเอ็ด จังหวัดละ 1 ราย นนทบุรี สระบุรี ชัยภูมิ จังหวัดละ 2 ราย รวมมีรายงานเจอแล้วใน 20 จังหวัด

ขณะที่ สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่เริ่มพบที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เดิมพบ 26 ราย ขณะนี้พบเพิ่มอีก 2 ราย นอก อ.ตากใบ แต่ยังอยู่ใน จ.นราธิวาส ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังพบอีก 3 ราย สถานกักกันตัวของรัฐ จ.สมุทรปราการ

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ความสามารถในการแพร่เชื้อของสายพันธุ์เดลตา มากกว่าสายอัลฟา 40% ซึ่งต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิด เป็นรายสัปดาห์ หากสถานการณ์ยังทรงๆ อาจจะไม่มีปัญหา แต่หากยังมีการแพร่ระบาดแบบก้าวกระโดด คาดว่า ประมาณ 2-3 เดือน อาจจะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากขึ้น สัดส่วนครึ่งต่อครึ่งกับสายพันธุ์อัลฟา ส่วนในต่างจังหวัดที่พบเชื้อสายพันธุ์เดลตานั้นพบว่ามีความเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ มาก่อน โดยเฉพาะแคมป์คนงานหลักสี่ ข้อมูลที่กรมวิทย์ออกมารายงานให้ทราบสสม่ำเสมอนั้น ไม่ได้ต้องการทำให้ตกใจ แต่เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา การเฝ้าระวังเพื่อการควบคุมโรค

ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการศึกษาวิจัยการเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ใน 200 คน โดยนำเลือด หรือซีรัม มาตรวจสอบกับเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์ต่างๆ พบว่าเมื่อตรวจกับเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมมีภูมิขึ้นสูง 100% สายพันธุ์อัลฟา ภูมิขึ้น 50-60% จะมีตรวจเพิ่มเติมในผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว เป็นเวลา 3 เดือน 6 เดือน อีกครั้ง และขณะนี้กำลังทดสอบในคนฉีดวัคซีนของแอสตร้าฯ 1 เข็ม รวมทั้งจะทำการทดสอบกับเชื้อเดลตา และเบตา เพื่อดูถึงประสิทธิภาพวัคซีนที่ได้รับขณะนี้ด้วย

นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจสายพันธุ์ต่างๆ เป็นการสุ่มตรวจเพื่อเป็นแนวทางเฝ้าระวัง โดยจะสุ่มตัวอย่างจาก 1. กลุ่มที่มีอาการรุนแรง 2. กลุ่มที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ 3. พื้นที่ที่ไม่เคยระบาดแต่มีการพบเชื้อ 4. ตามชายขอบชายแดน และ 5. กลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วยังติดเชื้อ

17 June 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1261

 

Preset Colors