02 149 5555 ถึง 60

 

ข้อควรรู้ก่อนบริโภค กัญชา กิน ดื่ม อย่างไรให้ปลอดภัย

ข้อควรรู้ก่อนบริโภค กัญชา กิน ดื่ม อย่างไรให้ปลอดภัย

แม้ว่ากฎหมายจะปลดล็อคกิ่ง ก้าน ราก ใบ ของกัญชาและกัญชงออกจากยาเสพติดทำให้กระแสการบริโภคอาหารจากกัญชามากขึ้น แต่ยังเกิดข้อกังวลเกี่ยวกับความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับโทษ และ ประโยชน์ ในการบริโภคกัญชาอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อตัวเองและสังคม

คำแนะนำใน "การใช้กัญชาทางการแพทย์" จาก กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรองประโยชน์จากสาร THC และ CBD ว่ามีประโยชน์สำหรับการเจ็บป่วยในเบื้องต้น 4 ภาวะ ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดปลายประสาท โดยภาวะเจ็บป่วยและอาการอื่นๆ ต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมทางการแพทย์

ขณะเดียวกัน การสำรวจจากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำการสำรวจประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,257 คน เมื่อปี 2562 หลังจากพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับ 7) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 71 ค่อนข้างเชื่อหรือเชื่อมากว่ากัญชาสามารถรักษาโรคร้ายให้หายได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ออกโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนไทยส่วนใหญ่เห็นด้วยใน "การใช้กัญชาทางการแพทย์" แต่ไม่เห็นด้วยจากการใช้เชิงสันทนาการ

ทำความเข้าใจก่อนบริโภคกัญชา

“รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ” ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ภายใต้การสนับสนุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเวทีวิชาการ “กัญชา 360 องศา หมุนรอบตัวรอบรั้วให้ปลอดภัย” จัดโดย ศศก. ร่วมกับ สสส. ณ โรงแรมเดอะสุโกศล โดยระบุว่า การบริโภคกัญชาเริ่มเป็นกระแสเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องเข้าใจว่าการนำกัญชามาเป็นส่วนผสมปรุงในอาหารจะออกฤทธิ์ช้ากว่าการสูบ เนื่องจากปริมาณที่ให้อนุญาตมีส่วนสารมึนเมาน้อย กว่าจะออกฤทธิ์ใช้เวลานาน ทำให้ผู้บริโภคในครั้งแรกบางครั้งไม่รู้สึกถึงความเคลิบเคลิ้มหรือมีความสุขอย่างที่คิด

จึงบริโภคซ้ำไปอีกต่อเนื่อง เมื่อสะสมเรื่อยๆ จะกลายเป็นรับประทานในปริมาณมากเกินไป ดังนั้น ก่อนที่จะรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ควรต้องรู้ว่าร้านดังกล่าวได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ นำกัญชามาจากที่ใด เพราะแต่ละสายพันธุ์มีสารเมาไม่เท่ากัน รวมถึงกระบวนการปรุงอาหารแต่ละอย่างอาจทำให้สารเมาออกมาไม่เท่ากัน

“สิ่งที่ต้องระวัง คือ กลุ่มเปราะบาง เช่น เยาวชนและผู้ที่มีโรคประจำตัว หากต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ ไม่เช่นนั้นอาจะเกิดผลข้างเคียงได้ ส่วนการสูบกัญชาแน่นอนว่ากฎหมายยังไม่อนุญาต แต่ต้องยอมรับว่ามีการสูบมานานแบบผิดกฎหมาย ซึ่งการสูบออกฤทธิ์ได้เร็ว แต่หากสูบผิดวิธีอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ ขณะที่ 4-5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจาการ THC ที่เข้มข้นมากขึ้น แม้จะมีการอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์ แต่มีโรคไม่มากนักในการใช้ ขอให้ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน” รศ.พญ.รัศมน กล่าว

"กัญชา" เสพอันดับหนึ่งแซงหน้ากระท่อม

จากการสำรวจ ล่าสุด สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) พบว่า ผู้ป่วยที่เข้ามารับการบำบัดจากกัญชาจะมีอาการทางจิตรุนแรงพอสมควร เพราะผู้ที่สูบกัญชากว่าจะแสดงอาการรุนแรง ใช้ระยะเวลานานกว่ายาบ้าหรือไอซ์ จึงเข้าสู่กระบวนการบำบัดช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะเป็นอาการหลอน หลงผิดและหวาดกลัวผู้อื่นทำร้าย ขณะที่ หลังจา มีการปลดล็อคกัญชาในช่วงปี 2562 การเสพ “กัญชา” ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แซงหน้ากระท่อมที่เคยเป็นอันดับหนึ่ง

“นพ.ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช” รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) อธิบายว่า ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการ แต่กลับพบว่ากัญชาหาซื้อได้ตามแหล่งโซเชียล และแหล่งที่ผู้เสพรู้เองว่าหาได้อย่างไร แม้รัฐบาลจะเร่งจับกุมก็ตาม หลังจากมีการอนุญาต ไม่ค่อยมีเคสที่เอากัญชาทางการแพทย์มาใช้เป็นยาเสพติด มีเพียงกรณีลูกชายขโมยของแม่ที่ใช้กัญชารักษามะเร็ง มาหยอดใส่บุหรี่และสูบ

ข้อมูลการบำบัดรักษา พบว่า ผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดราว 2 แสนกว่ารายต่อปี ค่อนข้างคงที่มาตลอด โดยผู้ป่วย 5 อันดับแรกที่เข้ารักษาจากการเสพ ได้แก่ ยาบ้า ยาไอซ์ กัญชา กระท่อม และเฮโรอีน ตามลำดับ โดยระบบบำบัดของไทย มี 3 ระบบผู้เข้ารับการบำบัดโดยการ บังคับบำบัดมากที่สุด ถัดมาคือ สมัครใจ และต้องโทษ ยิ่งอายุน้อยเปอร์เซ็นการติดยิ่งสูงขึ้น

อาการระยะสั้น ระยะยาวจาก "กัญชา"

อาการระยะสั้น คือ การกะระยะผิดพลาดอาจส่งผลต่อการขับขี่ เคลิ้ม ส่วนอาการตกค้างระยะยาวที่น่าห่วงคือ อาการทางจิต ซึ่งกัญชามีบ้างแต่อาจจะไม่เยอะ มีการสุ่มตรวจผู้ป่วยจากเวชระเบียน 1,170 ราย ในเคสที่เสพหนัก เสพติด มีอาการบางอย่างที่ญติพามาหรือมาตามระบบบังคับบำบัด พบว่า สัดส่วนผู้ป่วยกัญชาในหอผู้ป่วยวิกฤติจิตเวชยาเสพติดที่มีอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจากปี 2563 สัดส่วน 15.52% แต่ในปี 2564 สัดส่วน 28.70% โดยอายุที่เจอบ่อยคือ 18 - 25 ปี จากแต่เดิม 90% เป็นผู้ป่วยจากยาบ้า

โดยอาการหลอนที่พบบ่อย คือ หูแว่ว สอดคล้องกับอาการหลงผิดว่ามีคนมาทำร้าย ถัดมาคือ ภาพหลอน อาการซึมเศร้า ไม่สนใจไม่อยากทำอะไร ไม่มีแรง ส่วนใหญ่อายุเป็นตัวบอกหากใช้อายุน้อยจะมีโอกาสมากกว่า และหากแต่ละวันใช้เยอะจะมีโอกาสให้เกิดอาการทางจิตได้ ยิ่งพันธุ์ที่มีสาร THC เข้มข้นยิ่งมีผลมากขึ้น

หลีกเลี่ยง "ความเสี่ยงจากกัญชา"

ทั้งนี้ คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ได้แก่ 1) ควรศึกษาคำแนะนำความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์กัญชาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งแตกต่างในแต่ละบุคคล 2) หากใช้เมื่ออายุน้อยจะเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่มีสาร THC สูง แนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยอายุ 25 ปีขึ้นไป ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี 3) ไม่แนะนำกัญชาสังเคราะห์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตในต่างประเทศ 4) การสูบกัญชาแบบเผาไหม้เป็นประจำส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ การใช้วิธีรับประทานช่วยลดความเสี่ยงต่อทางเดินหายใจแต่อาจเกิดผลทางจิตได้ภายหลัง

5) หากยืนยันที่จะสูบแนะนำว่าไม่ให้สูบโดยการอัดเข้าไปในปอดหรือสูดลูกแล้วกลั้นไว้ เพราะทำให้เกิดอันตรายต่อปอดมากขึ้น 6) การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาความถี่สูงหรือเข้มข้นสูง มีโอกาสเสี่ยงต่อสุขภาพและสังคมมากขึ้น 7) การขับขี่ยานพาหนะขณะที่มีอาการข้างเคียงจากการใช้กัญชา เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และ 8) ไม่ควรใช้กัญชาในผู้ป่วยที่ประวัติครอบครัวเป็นโรคจิตเวช ผู้ติดชา สารเสพติด หญิงตั้งครรภ์ มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงรุนแรง

“หากต้อง การใช้กัญชาทางการแพทย์ สามารถปรึกษาแพทย์ได้ แต่หากใช้ในชีวิตประจำวัน แนะนำให้ใช้กัญชาที่เป็นใบประกอบอาหาร ส่วนน้ำมันกัญชายังไม่แนะนำ และหากเสพกัญชาและจำเป็นต้องขับรถควรเว้นระยะอย่างน้อย 6 ชั่วโมง รวมถึงอาจต้องปรับปรุง พ.ร.บ.จราจร ให้ครอบคลุมในเรื่องของกัญชาอีกด้วย” นพ.ล่ำซำ กล่าว

ส่อง แคนาดา หลังปลดล็อคกัญชาสันทนาการ

สำหรับในประเทศ แคนาดา ซึ่งอนุญาตให้มี "การใช้กัญชาทางการแพทย์" ตั้งแต่ปี 2001 ขณะที่ล่าสุดในปี 2018 มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการอย่างถูกกฎหมาย โดยจำหน่ายให้ผู้ที่มีอายุ 19 ปีขึ้นไป “Dr.Jurgen Rehm” Senior Scientist, Institute for Mental Health Policy Research & Campbell Family Mental Health Research Institute, Centre for Addiction and Mental Health (CAMH), Canada อธิบายว่า ในแคนาดา ก่อนและหลังการอนุญาตให้ใช้ พบว่า อัตราการใช้ไม่ได้สูงขึ้น เนื่องจากก่อนการปลดล็อคแคนาดาเป็นประเทศที่ใช้กัญชาจำนวนมาก และมีอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้กัญชาค่อนข้างสูงอยู่แล้วต่างจากไทย ดังนั้น ก่อนและหลังการปลดล็อคจึงไม่ต่างกัน

“แต่บริบทของประเทศไทย ที่ใช้ไม่มากเท่าแคนาดา หากเปิดให้มีการใช้มากขึ้น อัตราการใช้และการเกิดอุบัติเหตุอาจจะสูงตามแคนาดาหากไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน หากวันหนึ่งกัญชาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเป็นเรื่องปกติ จะควบคุมอย่างไรให้สารมึนเมาในกัญชาอยุ่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เช่นเดียวกับ แอลกอฮอล์ และอนุญาตให้ใครเสพได้อย่างถูกหมาย สิ่งที่พึงระวัง คือ ภูมิศาสตร์ที่เปิดกว้าง อาจจะมีบางส่วนที่ถูกมองข้ามไป เมื่อเปิดให้ถูกกฎหมายต้องทำให้ดี การใช้กัญชาอาจเกิดจากอุบัติการณ์จากเคสที่ใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้น” Dr.Jurgen กล่าว

31 March 2564

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 14511

 

Preset Colors