02 149 5555 ถึง 60

 

ทุกข์ของการเรียนผ่านออนไลน์!

ทุกข์ของการเรียนผ่านออนไลน์!

บทสนทนาช่วงนี้เวลาเจอเพื่อนฝูงส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเรียนออนไลน์ในช่วงวิกฤติโควิด-19

เพื่อนที่เป็นพ่อแม่ก็จะบ่นมากหน่อย มีลูกหลากหลายวัย ปัญหาก็จะแตกต่างกันไปในรายละเอียด ถ้าลูกเล็กก็จะบ่นมากเป็นพิเศษ เพราะแทบจะต้องอยู่กับลูกที่บ้านและเรียนไปพร้อมกับลูก ถ้าพ่อแม่ทำงานด้วยก็จะมีรายละเอียดของปัญหามากขึ้นไปอีก ส่วนพ่อแม่ที่มีลูกโตก็มีปัญหาไม่น้อยเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องงานเยอะ การบ้านเยอะ ทำเท่าไหร่ก็ไม่หมด ในขณะที่เด็กระดับมหาวิทยาลัยก็จะออกแนวอยากกลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเสียที

ส่วนเพื่อนที่เป็นครูบาอาจารย์ ในทุกระดับ ครูระดับเด็กเล็ก เด็กโต เด็กมหาวิทยาลัย ต่างก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่พูดตรงกันก็คือ การสอนออนไลน์ทำให้แบกภาระหนักขึ้น ต้องเตรียมตัว และหาวิธีการต่าง ๆ รวมถึงเทคนิคการสอนต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้เด็กเรียนด้วย แล้วไหนจะต้องคิดถึงวิธีการประเมินผลอีกต่างหาก สรุปก็คืออยากกลับไปสอนในสถาบันการศึกษามากกว่าสอนทางออนไลน์ ทั้งยังมีคุณครูจำนวนมากและโรงเรียนหลายแห่งไม่ได้มีความพร้อมด้านอุปกรณ์หรือทักษะทางดิจิทัล ครูหลายคนใช้โปรแกรมเช่น Google Classroom, Zoom หรือ Teams ไม่คล่อง ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้

และเมื่อได้พูดคุยด้วยกับเด็กหลากหลายวัย ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากกลับไปเรียนที่โรงเรียน ไม่อยากเรียนผ่านออนไลน์ด้วยสารพัดเหตุผล เช่น เรียนยากขึ้น เรียนไม่รู้เรื่อง งานเยอะ เรียนได้แย่ลง อยากเจอเพื่อน อยากทำกิจกรรม ฯลฯ

สรุปก็คือ ไม่ว่าจะมีโอกาสได้พูดคุยกับใคร ทุกคนล้วนแล้วไม่อยากอยู่ในสภาพต้องเรียนออนไลน์

แม้แต่ลูกชายสองคนของตัวเองก็หงุดหงิดอยู่ไม่น้อยในการเรียนออนไลน์ที่เขาบอกว่าประสิทธิภาพในการเรียนลดลงอย่างมาก!

ไม่ใช่เฉพาะบ้านเราเท่านั้น

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเรื่องผลกระทบของการเรียนออนไลน์ ในผู้ปกครองชาวอเมริกัน 405 คน ที่มีลูกอย่างน้อย 1 คนอายุต่ำกว่า 12 ปี และครึ่งหนึ่งของผู้ปกครองมีลูกอายุระหว่าง 2-5 ปี พบว่า 40 % ของผู้ปกครองรู้สึกเครียดจากการที่ลูกต้องเรียนออนไลน์ โดย 25 % ให้ข้อมูลว่า บ้านมีอุปกรณ์หรือสภาพไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์

ในขณะที่ผลสำรวจของ Washington Post จากผู้ปกครองที่มีลูกต้องเรียนออนไลน์ 60 คน พบว่าลูกตัวเองเครียดขึ้น ก้าวร้าวขึ้น เบื่ออาหาร บ่นปวดหลัง มีปัญหาเจ็บตาหรือตาอ่อนล้า

ส่วนงานวิจัยในประเทศจีน สำรวจนักเรียนในมณฑลหูเป่ยที่อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยเก็บข้อมูลนักเรียนเกรด 2 ถึง 6 จำนวน 2,330 คน ระหว่าง 28 ก.พ.-5 มี.ค. 2563 พบว่ามีนักเรียนมากถึง 40% ที่เผชิญความเครียดและวิตกกังวล

สอดคล้องกับบ้านเราที่ล่าสุดมีนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมากเครียดจากการเรียนออนไลน์ เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้เกิดความทุกข์ และมีบางคนที่สุดท้ายก็นำไปสู่โศกนาฏกรรม

ช่วงของสถานการณ์วิกฤติ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการปรับตัวเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) โดยเฉพาะสถาบันทางการศึกษาที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ จึงจำเป็นต้องใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อให้การเรียนรู้ต่อเนื่อง

การเรียนการสอนแบบออนไลน์มีองค์ประกอบ ได้แก่ ผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหา สื่อการเรียนการสอน แหล่งเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนการสอน ระบบการติดต่อสื่อสาร ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ การวัดและการประเมินผล

และเมื่อการเรียนออนไลน์มีบทสรุปเหมือนกับการเรียนปกติ ก็คือ ตัดสินกันที่การวัดและประเมินผลแบบเดิม ซึ่งกลายเป็นเรื่องหนักหน่วงของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเด็ก มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ใช่ทุกข์ใจแค่การเรียนออนไลน์ การทำงานที่มากขึ้น แต่การสอบกลายเป็นเรื่องหนักสุด

สืบเนื่องจากผลพวงเรื่องประสิทธิภาพในการเรียนออนไลน์ที่เด็กส่วนใหญ่อยากเรียนที่สถาบันการศึกษามากกว่า เด็กจำนวนมากถอดใจยอมถอยจากระบบ ออกจากโรงเรียนกลางคัน ในขณะที่ระดับมหาวิทยาลัยก็ดรอปไว้ก่อน

บางคนทุกข์มาก เพราะต้องสอบแบบไม่เข้าใจ ถึงกับสอบตก และนำไปสู่ภาวะความเครียดและวิตกกังวลตามมาอีกมากมาย

จึงอยากจะย้ำกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวัดและประเมินผลว่า เนื้อหาการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิด-19 ควรจะมีการปรับให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งหมายรวมถึงวิธีการประเมินการเรียนการสอนด้วย เพราะเมื่อสถานการณ์วิกฤติ การเรียนรู้เปลี่ยนไป ควรต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น การประเมินก็ต้องเปลี่ยนด้วย

การให้เกรดแบบเดิม ๆ และการประเมินผลจากการสอบแบบเดิม ยังจำเป็นแค่ไหนในสถานการณ์เช่นนี้ ?

จะดีกว่าไหมถ้าการศึกษาแบบวิถีใหม่นี้ การประเมินจะถูกเปลี่ยนจาก “การประเมินผลการเรียนจากการสอบ” ไปเป็น “การประเมินผลจากการเรียนรู้” ทำให้การประเมินผลในวิถีการศึกษาใหม่เน้นที่การทำความเข้าใจ ไม่ใช่การตัดสินด้วยการสอบอย่างเดียว!

New Normal ของการประเมินผลควรเป็นการให้น้ำหนักที่ต้องคำนึงถึงภาพรวมด้วยว่าสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน ครูจัดการเรียนการสอนเหมือนเดิมไม่ได้ การเรียนแบบออนไลน์ก็ไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ฉะนั้น เราควรจะต้องมีวิธีคิดในการออกแบบโดยให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียน มากกว่าต้องเรียนรู้ตามหลักสูตรเดิม หรือเงื่อนไขที่ถูกกำหนดเพื่อตอบสนองนโยบาย หรือแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน

การปรับน้ำหนักในการประเมินผลควรให้น้ำหนักกับการปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างการเรียนรู้ของครูและนักเรียน รวมถึงให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ที่เกิดจากความเข้าใจและเชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียนเป็นรายบุคคล มากกว่าการเรียนรู้ที่อิงตามมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ ระดับนโยบายต้องให้ความสำคัญกับระดับพื้นที่ ระดับโรงเรียน ให้แต่ละพื้นที่มีวิธีประเมินผลเบื้องต้นของตัวเอง

ในต่างประเทศบางแห่งมีการสลับจัดการเรียนการสอนโดยยังให้โรงเรียนเปิดทำการได้ และให้สอนในสนามหญ้าหรือสถานที่เปิดโล่งของโรงเรียน เพื่อยังสามารถรักษา Social Distancing และลดความเสี่ยงติดเชื้อ ขณะเดียวกันเด็กยังสลับไปโรงเรียนได้

ตอนนี้สิ่งที่ห่วงเด็ก ไม่ควรเป็นเพียงเรื่องเนื้อหาการเรียนรู้ที่กลัวว่าเด็กจะเรียนไม่ทัน หรือมองเป้าหมายเพียงเดินตามหลักสูตรให้ทันเท่านั้น

แต่สิ่งที่ควรคำนึง คือคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ ที่ลำพังก็ได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แถมครอบครัวก็ได้รับผลกระทบอีกไม่มากก็น้อย แล้วใยเรายังจะส่งต่อความเครียดให้เด็กเพิ่มขึ้นอีกเล่า ?

เมื่อสถานการณ์ไม่ปกติ ก็ควรใช้วิธีคิดและวิธีการที่ยืดหยุ่น อย่าเล็งผลเลิศทางวิชาการ แต่เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิกฤตการณ์

25 February 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 4983

 

Preset Colors