02 149 5555 ถึง 60

 

สัญญาณ Shopaholics คุณกำลัง เสพติดการช้อปปิ้ง หรือเปล่า?

สัญญาณ Shopaholics คุณกำลัง เสพติดการช้อปปิ้ง หรือเปล่า?

ตอนซื้อเป็นสุข หลังซื้อเป็นทุกข์ : ชาวอเมริกัน 33.6% เสพติดการช้อปปิ้ง และราว 5.8% มีอาการทุกข์ใจที่ไม่สามารถควบคุมการซื้อสินค้าของตนเองได้ จิตแพทย์จาก Hannover Medical School มองว่าอาการเหล่านี้เป็นภาวะทางจิตประเภทหนึ่ง

ช่วงเวลาอันแสนสุขของ shopping lover คือการจับจ่ายซื้อของ โดยเฉพาะในช่วงลดราคาทั้งในวันที่ 11.11 12.12

แม้โปรโมชั่นจะปล่อยดึกสักแค่ไหน แต่ผู้คนก็อดหลับอดนอนเพื่อกระโจนใส่สินค้า ‘ลดราคา’ ที่พาลให้กระเป๋าเงินแบนลงทุกครั้งไป ซึ่งหลายคนก็มีความสุขและสนุกกับการช้อปปิ้งดังกล่าว

แต่สำหรับบางคน พวกเขากลับต้องทนทุกข์กับพฤติกรรมการซื้อสินค้าเกินจำเป็นของตนเอง โดยเฉพาะอาการใจกระตุกอย่างรุนแรงทุกครั้งเมื่อเห็นป้ายลดราคา และทำให้พวกเขาป่วยทางใจจากภาวะที่มีชื่อว่า Shopaholics หรือ โรคเสพติดการช้อปปิ้ง

Shopaholics เป็นแค่ความรู้สึกชั่ววูบหรือโรคทางจิต

ภาวะ "เสพติดการช้อปปิ้ง" ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการแพทย์แต่อย่างใด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเรื่องนี้ถูกพูดถึงในวงกว้าง ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าอาการเหล่านี้เป็นความผิดปกติต่อแรงกระตุ้นภายนอก แต่จิตแพทย์ Astrid Mülle จากมหาวิทยาลัย Hannover Medical School จากเยอรมนี กลับเห็นต่างออกไป เขากล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะยอมรับว่าอาการเสพติดการช้อปปิ้ง เป็นโรคทางสุขภาพจิตประเภทหนึ่ง พร้อมระบุว่ามีผู้คนเกือบ 5% กำลังเผชิญกับโรคเสพติดการช้อปปิ้งนี้อยู่

“Shopaholics คือการซื้อมากเกินจำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่สินค้าที่ผู้มีอาการเสพติดการซื้อ มักจะเป็นสิ่งของไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้ก็ได้” หมอ Astrid Mülle กล่าว พร้อมระบุอีกว่า อาการเหล่านี้เป็นการปิดบังอารมณ์เชิงลบหรือเพื่อความสุขชั่วครั้งชั่วคราว แต่ผลลัพธ์ด้านไม่ดีของมัน จะส่งผลออกมาในระยะยาวเรื่องหนี้สิน

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจกำลังคิดว่าหมอ Astrid Mülle อ่อนไหวต่อการกับช้อปปิ้งเกินไปหรือไม่? งั้นลองมาดู ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Comprehensive Psychiatry ชิ้นนี้สักหน่อย โดยการวิจัยนี้พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนถึงหนึ่งในสาม (33.6%) ที่เข้ามาปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการ “คลั่ง” การซื้อของออนไลน์

และ ผลการศึกษาของ OCD Clinic ในแคลิฟอร์เนีย พบว่าชาวอเมริกันราว 5.8% ต้องทนทุกข์ทรมานจากความต้องการซื้อสินค้าที่ควบคุมตนเองไม่ได้ โดยจิตแพทย์ Donald Black จากมหาวิทยาลัยโลวา กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการหมกมุ่น และให้ความสำคัญกับการช้อปปิ้งเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าบางคนมีการวางตารางการใช้จ่ายว่าวันนี้ควรจะซื้ออะไร ใช้บัตรเครดิตใบไหนก่อนออกจากบ้าน

ทั้งนี้ Shopaholic อาจมีสาเหตุมาจากตัวบุคคล เพราะอาจเป็นโรคซึมเศร้า มีความวิตกกังวล สมาธิสั้น ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง ควบคุมตนเองไม่ได้ หรืออาจเป็นผลมาจากปัจจัยอื่นๆ อย่างสื่อโฆษณา การได้เห็นสินค้าที่สนใจบ่อยครั้ง รวมถึงความสะดวกสบายในการช้อปปิ้งออนไลน์ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเสพติดการซื้อได้

เช็คสัญญาณคุณเป็น Shopaholics หรือไม่

หากดูจากภายนอก เหล่า Shopaholic จะเหมือนเป็นคนที่มีกำลังซื้อมาก บางคนชอบสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูเป็นคนที่มีฐานะดีและประสบความสำเร็จ ในขณะที่ชีวิตจริงนั้นกลับมีหนี้สินมากมาย หากไม่ใช่คนใกล้ชิดก็อาจไม่มีใครทราบถึงปัญหาเหล่านี้ เพราะพวกเขามักปกปิดพฤติกรรมและปัญหาการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม อาจสังเกตอาการของ Shopaholic ได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

เสพติดการช้อปปิ้งอย่างหนัก โดยต้องซื้อของเป็นประจำทุกวันหรือทุกสัปดาห์

ไปช้อปปิ้งเพื่อคลายเครียด

ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน หรือเปิดบัตรใบใหม่แต่ยังไม่ได้ชำระหนี้ของบัตรใบเก่า

ตื่นเต้น เคลิบเคลิ้ม หรือมีความสุขอย่างมากหลังได้ช้อปปิ้ง

ซื้อของที่ไม่จำเป็น หรือซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้

โกหกหรือลักขโมยเพื่อให้ได้ช้อปปิ้งต่อ

รู้สึกผิดหรือเสียใจหลังได้ช้อปปิ้ง แต่ก็ยังจะทำต่อไป

ไม่สามารถจัดการการเงินของตนเองหรือไม่สามารถชำระหนี้สินจากการช้อปปิ้งได้

ไม่สามารถยับยั้งพฤติกรรมการช้อปปิ้งของตนเองได้

Shopaholic รักษาอย่างไร?

การรักษาภาวะนี้จะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของแต่ละคน บางรายอาจต้องจำกัดการใช้เงิน จำกัดวงเงินบัตรเครดิต หรือให้ผู้อื่นบริหารการเงินให้ แต่ส่วนใหญ่จิตแพทย์จะรักษาด้วยการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) ให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัว หรือรักษาที่ต้นเหตุ เช่น โรคซึมเศร้า โรคกังวลต่อการเข้าสังคม โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น หรือบางรายก็อาจเกิดจากปัญหาทางจิตอื่นๆ ซึ่งการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอาจช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการ Shopaholic จำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา ปรับเปลี่ยนแนวความคิดและความรู้สึก รวมทั้งยุติพฤติกรรม "คลั่งช้อป" ซึ่งจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนและความเข้าใจจากคนใกล้ชิด เพื่อให้พวกเขาเอาชนะปัญหาและใช้ชีวิตได้ตามปกติ

หากใครมีพฤติกรรม Shopaholic แล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีหนี้สินมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ทำให้สูญเสียความเชื่อใจจากเพื่อนและคนในครอบครัว หรืออาจถึงขั้นสูญเสียทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย และล้มละลาย หากไม่สามารถจัดการกับหนี้สินจากการช้อปปิ้งได้

เมื่อถึงจุดวิกฤติ บางรายอาจถึงขั้นขโมยของเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังนั้น หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็น Shopaholic ควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตหรือจิตแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ลองหันมาสำรวจพฤติกรรมตนเองกันสักนิดว่าการซื้อของคุณเข้าข่าย เสพติดการช้อปปิ้ง หรือไม่? หัวใจสำคัญที่สุดของการหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวก็คือ การบาลานซ์ความต้องการของตนเองให้สอดคล้องกับความจำเป็น ซื้อได้แต่ต้องไม่รบกวนการเงินในระยะยาว และไม่เป็นหนี้สินให้ตนเองต้องทุกข์ใจ

4 January 2564

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 3923

 

Preset Colors