02 149 5555 ถึง 60

 

ก้าวย่างของประเทศไทย สู่‘สังคมผู้สูงอายุ’อย่างสมบูรณ์แบบ

ก้าวย่างของประเทศไทย สู่‘สังคมผู้สูงอายุ’อย่างสมบูรณ์แบบ

จากการที่อัตราการเกิดของประชากรทั่วโลกที่มีแนวโน้มลดลง บวกกับการที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้นเนื่องจากการรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และประชากรที่เกิดในยุค Baby Boomers ได้เข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นปัจจัยที่ทำให้หลายประเทศในโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมที่สำคัญ นั่นคือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ฝรั่งเศส สวีเดน ญี่ปุ่น

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3 ต่อปี โดยในปี พ.ศ. 2573 คาดว่าจะมีจำนวนประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 1.4 พันล้านคนและจะเพิ่มขึ้นถึง 2 พันล้านคนในปี พ.ศ. 2593 ทวีปเอเชียจะมีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลก โดยคาดว่าสัดส่วนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในทวีปเอเชียจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลกและถือเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (Super-aged Society)

สำหรับประเทศไทยนั้น จำนวนผู้สูงอายุมีตัวเลขเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 3 ในทวีปเอเชีย รองมาจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น โดยประเทศไทยได้เข้าใกล้สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548

ขณะที่ตัวเลขของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ วันที่31 ธันวาคม พ.ศ.2562 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 66.5 ล้านคน เฉพาะผู้สูงอายุมีมากถึง 11.1 ล้านคนหรือคิดเป็น 16.73%

ส่วนข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปัจจุบัน พ.ศ.2563 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน หรือราว 18% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มเป็น 20% ในปี พ.ศ.2564 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ.2565 และในปี พ.ศ. 2573 จะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 26.9 ของประชากรทั้งประเทศ

ในส่วนของรัฐบาลไทย ตามที่ได้กำหนดให้สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ และได้สานต่อแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ (พ.ศ.2545-2565) เตรียมพร้อมสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 ซึ่งจากการประเมินผลแผนปฏิบัติการ ยังพบการดำเนินงานบางด้านที่ต้องปรับปรุง เช่น การเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ การส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ และการคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ

ดังนั้น คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จึงได้ปรับแผนปฏิบัติการ (พ.ศ.2563-2565) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน โดยให้ความสำคัญกับ ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความจำเป็นของการเตรียมการเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ คนวัยทำงานมีความเข้าใจถึงการเตรียมตัวด้านต่างๆ เช่น รายได้ สุขภาพ ที่อยู่อาศัย

2.สังคมมีทัศนะเชิงบวกต่อผู้สูงอายุ ไม่มองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระต่อสังคม 3.การจ้างงานผู้สูงอายุเพื่อให้รู้สึกว่าตนมีคุณค่า ตั้งเป้าไว้ปี 2564 ผู้สูงอายุจำนวน 1.95 แสนคนมีงานทำ 4.กลุ่มผู้สูงอายุที่ครอบครัวยากจน จะเน้นให้ลูกหลานกลับมาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

5.การปรับเปลี่ยนโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นสถานที่พัฒนาผู้สูงอายุในชุมชน 6.การส่งเสริมการออมทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ เพื่อมีเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ และ 7.การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตหรือฝึกอบรมบุคลากรด้านผู้สูงอายุในระดับวิชาชีพอย่างเพียงพอและมีมาตรฐาน

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความตื่นตัวในเรื่องนี้ของประเทศไทย คือการจัดงานใหญ่ที่เพิ่งจบลงไปหมาดๆ นั่นคือ InterCare Asia 2020 (อินเตอร์แคร์ เอเชีย) งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่สำหรับผู้สูงวัยครบวงจร ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2563 ณ ฮอลล์ 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC)

นายแพทย์ หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวหลังการเปิดงานครั้งนี้ว่า ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้ทุกภาคส่วนสามารถรับมือกับสังคมผู้สูงอายุได้ในอนาคต ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และพัฒนาองค์ความรู้ สู่การบริการประชาชนได้เป็นอย่างดี

โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน กำหนดแนวทาง และเป้าหมาย เพื่อสร้างความตระหนักในกลุ่มวัยทำงานถึงความสำคัญของการเตรียมตนเองสู่การเป็นผู้สูงอายุที่สามารถดูแลตนเอง ดำรงชีวิตประจำวัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งสร้างทัศนคติของคนในสังคมให้มองผู้สูงอายุว่าเป็นผู้มีศักยภาพ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้ทุกภาคส่วนสามารถรับมือกับสังคมผู้สูงอายุได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และนวัตกรรมผู้สูงอายุของอาเซียน โดยได้ริเริ่มผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันก่อตั้ง ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation (ACAI) ขึ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาองค์ความรู้ สนับสนุนงานวิจัย ส่งเสริมนวัตกรรม และสร้างฐานข้อมูลด้านการแพทย์ของอาเซียน ที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย และเป็นแนวทางที่จะพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก

ภายในงานดังกล่าวมีกิจกรรมที่น่าสนใจอยู่มากมาย อาทิ โปรแกรมตรวจสุขภาพฟรี, การจัดแสดงสินค้ากลุ่ม Smart Life for Elderly People นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น การเปิดตัวหุ่นยนต์ Dinsow AI Nose, นวัตกรรมคัดกรองมะเร็งด้วยลมหายใจรายแรกของโลก ที่มีความแม่นยำ 93% ในการตรวจมะเร็งเต้านมและมะเร็งปอด ผลิตโดยฝีมือคนไทย, อุปกรณ์ Smart Home เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบายภายในบ้าน รวมทั้ง คอร์ส

การใช้เทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ อาทิ การใช้โซเชียลมีเดีย พร้อมนำสินค้าเพื่อผู้สูงอายุที่หลากหลายมาจัดแสดง เป็นต้น

นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) ผู้จัดงาน InterCare Asia 2020 กล่าวว่า ผู้สูงอายุในปัจจุบันต้องการสิ่งที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด และใช้งานง่ายที่สุด เพื่อการดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การบริหารการเงิน การอยู่อาศัย รวมถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายและง่ายขึ้น เช่น การใช้แอพพลิเคชั่นใน Smart Phone ที่สามารถทำได้หลายอย่าง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ

จากสถานการณ์ของไทยที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงถือได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง และมีความต้องการครอบคลุมอยู่ในหลายธุรกิจ ส่งผลให้ที่ผ่านมามูลค่าตลาดในกลุ่มผู้สูงอายุนั้นสูงถึง 107,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การขับเคลื่อนเรื่องเกี่ยวกับสังคมผู้สูงวัยนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของคนสูงวัย แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัย ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือทั้งจาก

ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน

19 October 2563

ที่มา แนวหน้า

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 37815

 

Preset Colors