02 149 5555 ถึง 60

 

กรมสุขภาพจิต ชี้ “คลายล็อกดาวน์"” ช่วยคนเครียดลดลง เร่งลดเครียด หมดไฟ ซึมเศร้า ฆ่าตัวตายใน 3 เดือน

กรมสุขภาพจิต ชี้ “คลายล็อกดาวน์"” ช่วยคนเครียดลดลง เร่งลดเครียด หมดไฟ ซึมเศร้า ฆ่าตัวตายใน 3 เดือน

กรมสุขภาพจิต เผย คลายล็อกช่วยคนเครียดลดลง เร่งลดผลกระทบสุขภาพจิตจากวิกฤตโควิด ทั้งเครียด หมดไฟ ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ภายใน 3 เดือน ย้ำ “สุรา” ทำภูมิคุ้มกันลดลง เสี่ยงติดโควิด 3-7 เท่า สำรวจพบช่วงห้ามขาย 90% คนไม่ได้รับผลกระทบ เกิดอาการถอนสุรา 0.3% ลดอุบัติเหตุ 5.5 เท่า

วันนี้ (18 พ.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19 นั้น ในช่วง 2 เดือนถึง 3 ปี หลังมีโรคระบาด จะเกิดผลกระทบด้านสุขภาพจิต คนมีความเครียด ภาวะหมดไฟ ซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย สุราและยาเสพติด ความรุนแรงในสังคม การหย่าร้างที่อาจตามมาได้ ทั้งนี้ จากการสำรวจอุณหภูมิใจทุก 2 สัปดาห์ จำนวน 4 ครั้ง พบว่า ช่วงกลางเดือน มี.ค.พบว่า ความเครียดยังไม่มาก แต่ครั้งที่ 2 และ 3 คนเริ่มเครียดมากขึ้น โดยบุคลากรทางการแพทย์เครียดมากที่สุดถึง 9.7% ประชาชนเครียดมากที่สุดถึง 8.1% แต่ครั้งที่ 4 ความเครียดเริ่มลดลง จากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้เป็นเหมือนกันทั่วโลก อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป สูงถึง 45-50%

“เมื่อมีการติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ มีการระบาดของโรค มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และมีการออกมาตรการต่างๆ เช่น ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ล็อกดาวน์ ทำให้เกิดความกดดัน เกิดความเครียดขึ้น ส่วนที่ปรับตัวไม่ได้ อาจเจ็บป่วยด้านร่างกาย คนมีโรคประจำตัวอาจคุมไม่ได้ มีอาการรุนแรงขึ้น หรือบางส่วนเกิดปัญหาด้านจิตใจ เช่น เครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาพฤติกรรมเช่น ความรุนแรง การหย่าร้าง การใช้สุราและสารเสพติด อาชญากรรม และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในสังคม แต่หากปรับตัวได้จะมีความเข้มแข็งทางจิตใจมากขึ้น ปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่ได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายต่อแสนประชากร ไทยจะอยู่ที่ประมาณ 6 ต่อแสนประชากร ส่วนปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มีอัตราฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นไป เป็น 8 กว่าๆ ต่อแสนประชากร หลังจากนั้น 3 ปีค่อยๆ ลดลง และลดลงมาตลอด โดยปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 6 กว่าๆ ต่อแสนประชากร สำหรับปี 2563 หากไม่จัดการอะไรปล่อยให้ปัญหารุนแรงขึ้นไป อาจฆ่าตัวตายรุนแรง 8.8 ต่อแสนประชากร ส่วนปัจจุบันอยู่ที่ 6.6 ต่อแสนประชากร และกรมฯ จะร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ควบคุมตัวเลขไม่ให้เกิน 8 ต่อแสนประชากร โดยประชากรที่จะเข้าไปดูแลมี 4 กลุ่ม คือ 1. เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ 2. บุคลากรสาธารณสุขที่อาจเกิดภาวะหมดไฟได้ง่าย ขณะนี้เข้าไปดูได้ประมาณ 50% 3. ประชาชนทั่วไป และ 4. กลุ่มเปราะบางปัญหาสุขภาพจิต โดยกลุ่มเสี่ยง

แผนงานการดูแลสุขภาพจิต คือ 1. ลดผลกระทบด้านสุขภาพจิต โดย 3 เดือนจะมุ่งเป้าไปที่ปัญหาความเครียด หมดไฟ ซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย 2. เพิ่มภูมิคุ้มกันจิตใจ ให้พร้อมเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ เสริมสร้างพลังด้วยวัคซีนใจในระดับต่างๆ ได้แก่ วัคซีนใจในบุคคล วัคซีนใจในครอบครัว และวัคซีนใจในชุมชน

ด้าน พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดื่มสุราทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง การทำงานของเม็ดเลือดข่าวเสียไป เสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น 3-7 เท่า และหากเป็นโรคปอดบวมจะมีดอกาสเข้าไอ.ซี.ยู.ถึง 60% ถ้าดื่มสุรา ส่วนผู้สูงอายุดื่มสุรามีโอกาสเป็นหวัดป่วย 30% ถ้าหญิงตั้งครรภ์ดื่มสุรา ลูกในท้องมีโอกาสติดเชื้อด้วย 2.9 เท่า ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์ใดๆ การดื่มสราช่วยป้องกัน ฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง หายยากขึ้น ช่วงกักตัวคนเดียว ดื่มคนเดียว ยิ่งอันตราย เพราะหากเกิดปัญหาไม่มีใครทราบ ช่วงมีมาตรการงดขายสุรา มีการสำรวจทางโทรศัพท์ พบว่า เกือบ 80% ที่ไม่ได้ดื่ม ดื่มน้อยลงบอกว่าหาซื้อไม่ได้ กลัวติดเชื้อ รายได้น้อยลงจึงประหยัด และกลัวสุขภาพไม่ดี 90% บอกไม่เดือดร้อนการห้ามขาย 5.9% เดือดร้อนจากการไม่ได้สังสรรค์ และ 3.6% เดือดร้อนเพราะเสียรายได้จากการไม่ได้ขายและเปิดร้าน ส่วนที่ห่วงคือคนติดเหล้าจะมีอาการถอนสุราหรือไม่ จากการสำรวจพบ 0.3%

ทั้งนี้ จ.สุรินทร์ ออกติดตามผลการห้ามขายเหล้า มีผู้ขาดสุราต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. 181 ราย โดย 40% อาการไม่มากรักษาแบบผู้ป่วยนอก 60% รักษาในผู้ป่วยใน แต่ใช้เวลา 2-3 วัน มีการส่งต่อเพียง 2 ราย กลุ่มส่วนใหญ่อายุ 30-50 ปีที่ขาดสุรา แต่อายุ 20 กว่าปีก็มีอาการขาดสุราแล้ว แสดงว่ามีคนอายุน้อยติดสุรารุนแรงจนเมื่อหยุดดื่มแล้วเกิดอาการขาดสุรา โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ยังมีการลงช่วยเหลือผู้ติดสุราในชุมชนช่วงห้ามขาย ก็ช่วยให้คนเลิกเหล้าได้ ทั้งนี้ การห้ามขายสุราช่วงที่ผ่านมามีข้อดี คือ 1. ช่วยลดการรวมกลุ่มดื่ม 2. สร้างความคุ้นชิน สมองร่างกายมีเวลาพักฟื้น ช่วยหยุดดื่มได้ 3. สงกรานต์อุบัติเหตุจากการดื่มลดลง 5.5 เท่า ประหยัดความสูญเสียถึง 84%

อย่างไรก็ตาม หลังยกเลิกให้ขายได้ อุบัติเหตุจากเมาสุราก็เริ่มกลับมา โดยขอย้ำว่า การดื่มช่วยให้ลืมปัญหา พอหยุดดื่มก็กลับมาเครียด เพราะปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ฤทธิ์แอลกอฮอล์กดสมองทำความคิดความอ่านความจำลดลง ปัญหาก็หนักขึ้น จึงไม่ใช่ทางออกในการแก้เครียด การดื่มหนักเป็นประจำทำให้เกิดการซึมเศร้าได้ และมีผลต่อสารสื่อประสาทในสมองก่อโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน การยับยั้งชั่งใจลดลง เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง การทำร้ายตัวเอง

19 May 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 930

 

Preset Colors