02 149 5555 ถึง 60

 

ถอดบทเรียนแดนมังกร ประสบการณ์ตรงจากทีมแพทย์เมืองอู่ฮั่น

ถอดบทเรียนแดนมังกร ประสบการณ์ตรงจากทีมแพทย์เมืองอู่ฮั่น

ศูนย์กลางการระบาดของโรคโควิด-19 อย่าง "จีน" ถือเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถรับมือกับโรคร้ายนี้ได้ บางเมืองผู้ติดเชื้อเริ่มเป็นศูนย์ โดยเฉพาะอู่อั่นเริ่มเปิดเมืองและประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิต

ล่าสุด China Media Group (CMG) และ แพทยสภาฯ ร่วมเปิดเวทีพูดคุย ถอดบทเรียนแดนมังกร Covid-19 Frontline ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมี บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ถ่ายทอด เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ วิธีการรักษา ยาต้านไวรัส การดูแลผู้ป่วย ระหว่างคณะแพทย์ไทย และ คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน จาก โรงพยาบาลมิตรภาพจีน – ญี่ปุ่น หรือ The China-Japan Friendship Hospital ตั้งอยู่ ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่มีประสบการณ์จากการร่วมเป็นทีมแพทย์ไปต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ณ วอร์ดใหม่สำหรับโควิด-19 ในโรงพยาบาล Wuhan Tongii Hospital เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร สีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงสถานการณ์ประเทศไทยว่า ช่วงต้นเดือนมีนาคม ประเทศไทยยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่มาก แต่ในช่วงกลางเดือนมีนาคม จำนวนผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มมากขึ้น เป็นสัญญานให้นักวิชาการและผู้นำของประเทศ แนะนำให้รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดในการกักกันชุมชน และการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการกักตัวผู้ที่กลับจากประเทศที่มีการระบาดเป็นเวลา 14 วัน

“ทั้งนี้ ปลายเดือนมีนาคม จำนวนผู้ติดเชื้อได้เพิ่มอย่างรวดเร็ว เกิน 100 ราย และในช่วงดังกล่าว รัฐบาลได้ใช้มาตรการ เช่น ปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย และให้ประชานหลีกเลี่ยงการวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่หากไม่จำเป็น หลังจากนั้นมีการควบคุมได้อย่างดี เช่น การกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทำสามารถควบคุมการแพร่กระจายได้ โดยผู้ป่วยติดเชื้อทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในกทม. และภาคใต้” ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าว

แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากอู่ฮั่น

ด้าน ดร. ต้วน จุน รองผู้อำนวยการ ภาควิชาวิกฤตศัลยกรรม โรงพยาบาลมิตรภาพจีน – ญี่ปุ่น กล่าวถึงการทำงานภายใน โรงพยาบาล Wuhan Tongii Hospital เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาด ซึ่งตนเองได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่ในวอร์ดใหม่สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 วอร์ดใหม่ขนาด 44 เตียง สำหรับผู้ป่วยหนัก โดยมีเตียงไอซียู 6 เตียง ซึ่งมีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาเกือบเต็มความสามารถที่วอร์ดนี้จะรับได้ ภายในเวลาเพียง 2 วัน

“เรามีผู้ป่วยเกิน 100 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ที่เหลือรอดชีวิตทั้งหมด โดยในวอร์ด เรามีห้องแยกเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการจัดการผู้ป่วยจำนวนมาก ปัจจัยอันดับแรก คือ สิ่งแวดล้อม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงต้องมีเครื่องตรวจชีพจรและการทำงานของอวัยวะ เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) เครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง และเครื่องให้ออกซิเจนเข้าทางสายยางคู่เข้าจมูก

รวมถึงสายสวนทางหลอดเลือดดำส่วนกลาง (CVC) และสายสวนเข้าหลอดเลือดดำส่วนกลางที่ใส่จากตำแหน่งที่ห่างจากหัวใจ (PICC) เครื่องวิเคราะห์ก๊าซจากหลอดเลือดแดง (ABG) เครื่องส่องกล้องหลอดลม อัตราซาวด์ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ และเครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องมือทั้งหมด มาจากโรงพยาบาลมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่น ในปักกิ่ง ทั้งนี้ เครื่องมือสำคัญ คือ การบำบัดวิกฤติด้วยอัลตร้าซาวด์ ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัย คัดกรองว่าผู้ป่วยคนใดมีอาการหนัก นอกจากนั้น ยังช่วยอัลตราซาวด์เฉพาะจุด และสุดท้าย คือ ช่วยในการอัลตราซาวด์ทั่วร่างกาย

ดร. ต้วน จุน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ เรายังมีคณะทำงานที่มีประสบการณ์ โดยมีผู้นำคณะ 1 คน ผู้ประสานงาน 4 คน มีแพทย์ 30 คน รวมทั้งอาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้านต่อยอด แพทย์ประจำบ้าน โดย 24 คน มาจากภาควิชาอายุรศาสตร์ 13 คนมาจากหน่วยโรคหายใจ และเวชบำบัดวิกฤต ประกอบด้วยอาจารย์แพทย์ 3 ท่าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด 6 ท่าน นอกจากนั้นเรายังมีพยาบาลร่วม 177 คน มาจากหน่วยไอซียู รวมถึงนักบำบัดทางเดินหายใจ 1 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล 1 คน ล้วนเชี่ยวชาญด้าน ECMO ทั้งสิ้น

“ทั้งนี้ เราดูรายละเอียดการเข้าเวรทั้งกลางวัยและกลางคืนของแพทย์ และพยาบาล เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีกำลังพอที่จะต่อสู้กับโควิด-19 เรามีคณะทำงานที่มีประสบการณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะปลอดภัย นอกจากนี้ การดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่อสู้กับโรคก็สำคัญเช่นกัน” ดร.ต้วน จุน กล่าว

เฝ้าติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัส

จากกรณีที่มีความกังวลเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ศ.ดร.เฉา ปิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมิตรภาพจีน – ญี่ปุ่น อธิบายว่า เนื่องจากเราทราบเมื่อไม่นานมานี้ว่า เชื้อดังกล่าวเป็นโคโรน่าไวรัส ที่ก่อให้เกิดทั้งอาการที่ไม่รุนแรง และอาการแทรกซ้อน เช่น โรคปอดอักเสบ และ ARDS (Acute respiratory distress syndrome ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันที่เกิดจากการที่เนื้อปอดมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นอย่างรุนแรง) แต่จากการศึกษาของนักไวรัสวิทยาชาวจีนพบว่า ไม่มีการกลายพันธุ์ของโควิด-19 และคณะวิจัยทางวิทยาศาสตร์อีก 2 คณะที่กำลังศึกษาการผลิตวัคซีนอยู่

“นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ และยุโรป กำลังพัฒนาวัคซีนอยู่เช่นกัน เพราะเราทุกคนต่างเข้าใจดีว่าวัคซีนเป็นการป้องกันที่มีประสิทผล ไม่ใช่แค่ในเอเชีย แต่ในยุโรคและอเมริกาเหนือด้วย เราไม่คิดว่าจะมีข้อห่วงใยเรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัส แต่เห็นด้วยว่าเราควรต้องเฝ้าติดตามว่ามีการกลายพันธุ์บ้างหรือไม่ ทั้งในแง่ของการแพร่กระจายและผลกระทบของโรค”

ทั้งนี้ มีข้อสงสัยประการหนึ่ง คือ ในประเทศแถบเอเชีย สถานการณ์ดูไม่ค่อยรุนแรง ต่างจากแถบยุโรป เช่น อิตาลี เยอรมนี สเปน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่แน่ใจว่าอาจเพราะสภาพอากาศหรือไม่ เนื่องจากประเทศไทย เวียดนาม อยู่ในเขตร้อน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบให้กับสมติฐานนี้ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของไวรัสนี้กับอุณหภูมิที่ต่างกัน และเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์ไทยก็ให้ความสนใจวิจัยการแพร่กระจายของไวรัสในพื้นที่ต่างๆ เช่นเดียวกัน

29 April 2563

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 932

 

Preset Colors