02 149 5555 ถึง 60

 

กรมสุขภาพจิต เผย "ฆ่าตัวตาย" ไม่ใช่แค่พิษเศรษฐกิจ แต่มีหลายสาเหตุร่วม "อนุทิน" บอกอย่ายอมแพ้ ถึงตั้งตัวได้

กรมสุขภาพจิต เผย "ฆ่าตัวตาย" ไม่ใช่แค่พิษเศรษฐกิจ แต่มีหลายสาเหตุร่วม "อนุทิน" บอกอย่ายอมแพ้ ถึงตั้งตัวได้

กรมสุขภาพจิต แจงคนฆ่าตัวตายไม่ใช่แค่เรื่องพิษเศรษฐกิจ แต่มีปัจจัยสาเหตุอื่นทับซ้อน ทั้งแง่ความสัมพันธ์ โรคเรื้อรัง สุรา ยาเสพติด ชี้หากรู้จักยืดหยุ่น ปรับตัวเก่ง มีคนเข้าใจรอบข้าง ช่วยลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายได้ ด้าน "อนุทิน" ขอคนเผชิญปัญหา อย่ายอมแพ้ ถึงกลับมาตั้งตัวได้

วันนี้ (6 ม.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสคนไทยฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจ ว่า จริงๆ แล้ว คนล้มเหลวแล้วกลับมาพลิกฟื้นสำเร็จก็มีจำนวนมาก ขอให้ทุกคนอย่าไปยอมแพ้ ท้อถอย หากเศรษฐกิจไม่ดีก็ต้องปรับต้นทุนต่างๆ ทั้งต้นทุนสินค้า ต้นทุนการใช้ชีวิต ซึ่งชีวิตเราต้องเปลี่ยนแปลงทุกวันอยู่แล้ว ตนก็เคยเจอปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ติดลบเป็นหนี้เป็นหมื่นๆ ล้านบาท ถ้ายอมแพ้ก็คงไม่อยู่ ก็บอกตัวเองว่าต้องสู้ ต้องกลับมา หากไม่สู้ก็คงไม่มีวันนี้

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จ ปี 2561-2562 พบว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายมีความสลับซับซ้อนและเกิดจากกลุ่มปัจจัยที่มีการซ้อนทับกัน โดยปัญหาที่เป็นปัจจัยร่วมที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ปัญหาความสัมพันธ์ 53.04% การใช้สุรา 29% โรคทางกาย 25.7% โรคจิตเวช 19.8% และปัญหาเศรษฐกิจ 18.33% นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตได้ทำการวิเคราะห์คัดแยกผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จที่มีการระบุถึงปัจจัยสาเหตุทางเศรษฐกิจ พบว่า ลักษณะของปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ใช่ปัจจัยเดียว ซึ่งทุกรายจะพบปัจจัยสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วยเสมอ เช่น ปัจจัยด้านโรคเรื้อรังทางกาย โรคทางจิตเวช การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด และกลุ่มปัญหาความสัมพันธ์ เป็นต้น โดยกลุ่มปัญหาความสัมพันธ์ เช่น การทะเลาะกับคนใกล้ชิด ความน้อยใจจากการถูกดุด่าต่อว่า ความรักหึงหวง จะเป็นปัจจัยที่พบร่วมด้วยมากที่สุด แต่ผลกระทบที่มีต่อแต่ละบุคคลนั้นจะแตกต่างกันออกไป ปัญหาที่รุนแรงคล้ายกันอาจให้ผลกระทบที่แตกต่างกันออกไปได้ ขึ้นกับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างและทักษะในการปรับตัวของแต่ละคน อาจกล่าวได้ว่า หากบุคคลใดต้องเผชิญกับปัญหาส่วนตัวอย่างรุนแรง แต่มีทักษะการปรับตัวที่ดี มีความยืดหยุ่น เรียนรู้จากความผิดหวัง และมีคนที่เข้าใจอยู่รอบข้าง ไม่ต่อว่ากันอย่างรุนแรง และเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยปกป้องช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้อย่างดี

"แม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยร่วมที่พบได้ไม่มากนักในการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตจะยังคงดำเนินการติดตามปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายในสังคมไทยอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง และทำงานเชิงรุกประสานกับภาคประชาสังคมในการจัดการกับปัญหาในทุกมิติที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในสังคมไทย โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก การเข้าใจ และใส่ใจรับฟังซึ่งกันและกัน ให้ผู้ที่กำลังมีปัญหาได้ระบายความรู้สึกออกมา เพื่อช่วยให้จิตใจดีขึ้นหรือสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบา แต่ถ้าปัญหานั้นยังคงสลับซับซ้อนหรือบุคคลนั้นยังมีความคิดทำร้ายตัวเองอยู่ตลอด ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อขอคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการป้องกันการสูญเสียจากปัญหาสุขภาพจิตทั้งอาการเจ็บป่วยและการฆ่าตัวตาย" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

7 January 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1194

 

Preset Colors