02 149 5555 ถึง 60

 

ป่วยซึมเศร้าเหยื่อสังคม ถูกปรักปรําคดีฆ่าตัวตาย

ป่วยซึมเศร้าเหยื่อสังคม ถูกปรักปรําคดีฆ่าตัวตาย

ในยุคนี้ “โรคซึมเศร้า” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่มีผู้ป่วย “แบบไม่รู้ตัว” แฝงอยู่ในสังคมมากมาย ต่างกำลังบ่มเพาะอาการให้เลวร้ายขึ้น กลายเป็นผู้ป่วยเข้าสู่ขั้นรุนแรง กระทบต่อการใช้ชีวิต นำมาสู่กลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อเกิดเหตุร้าย...ด้วยการพรากชีวิตของตัวเองขึ้น

ทำให้ช่วงนี้มักมีเหตุ “ฆ่าตัวตายบ่อยๆ” มีการสรุปสาเหตุเกิดจาก “โรคซึมเศร้า” โดยเฉพาะเหตุการณ์หนุ่มนักศึกษาวิศวะ ก่อเหตุใช้อาวุธมีดแทงสังหารแม่ของตัวเอง และหั่นศพยัดตู้เย็น ก่อนฆ่าตัวตายตาม และไม่กี่วัน...ก็มีนักร้องชื่อดังของเมืองไทย “ผูกคอตาย” หลังมีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามา 2 ปี

เหตุการณ์นี้สร้างความสะเทือนใจ ตื่นตะลึงให้กับคนในสังคมอย่างมาก ทำให้ “โรคซึมเศร้า” กลายมาเป็นเรื่องร้อนได้รับความสนใจกันอีกครั้ง... ที่กำลังเป็น “ภัยคุกคามต่อชีวิต” ต้องถูกนำกลับมาพูดถึงกันบ่อยขึ้น

ก่อนหน้า...กรมสุขภาพจิตเคยออกมาระบุถึงสถิติฆ่าตัวตายในปี 2561 สำเร็จ 4,137 คน เฉลี่ยวันละ 11.3 คนต่อวัน ในช่วงอายุ 25-59 ปี ที่เกิดปัญหาภาวะโรคจิต 7.45% โรคซึมเศร้า 6.54% ในปี 2562 มีตัวเลข 14.4คน ต่อคนไทย 1 แสนคน อยู่ในวัยเฉลี่ย 45 ปี ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 7.8%

ปัญหาสุขภาพจิตกำลังเป็นภัยเงียบคุกคามสังคมไทยนี้ นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ และโฆษกกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลกได้ประเมินตัวเลขของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่ที่ 5.4% ของบุคคลทั่วไป นั่นหมายความว่า...ในคนทั่วไป 100 คน ต้องมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 5 คน และมีบางประเทศมากถึง 10%

ในประเทศไทยมีผู้ป่วยอยู่ราวเกือบ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้มีบางคนรู้สึกถึงอาการป่วยของตัวเอง เริ่มกล้าเปิดเผยตัวตนมากขึ้น ในการรีบมาปรึกษาแพทย์ และยินยอมเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว เพราะในช่วง 10 ปีมานี้ มีการขับเคลื่อนรณรงค์ให้ข้อมูลสังคมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าต่อเนื่อง ทำให้เกิดการตื่นตัวมากขึ้น

จนกลายเป็นข้อดี...ต่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการไม่นาน สามารถเข้าสู่การรักษารวดเร็ว ด้วยการใช้ยา ประกอบวิธีจิตบำบัด ทำให้คนไข้มีโอกาสหายขาดได้เร็ว

ต่างจากอดีต...มีความเข้าใจว่า “ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า” ที่เกิดจากพฤติกรรมการเลี้ยงดู ที่เข้มงวดมากจนเกินไป การเลี้ยงดูโดยใช้ความรุนแรง ทั้งคำพูดและการกระทำรุนแรง การถูกละเลยและสภาพแวดล้อม

เช่น ถูกเพื่อนแกล้งมาก หรือถูกคุณครูดุ หรือทำโทษบ่อยๆ และมักถูกมองเป็นผู้ป่วยจิตเวช ที่เรียกว่า “คนบ้า” น่ารังเกียจ น่ากลัว อันตราย

ปัจจุบันประเด็นใหม่ที่ค้นพบว่า...มีบางคนสุขภาพจิตที่ดีมาก และถูกเลี้ยงเติบโตในสังคมดีมาตลอด ถูกเอาใจใส่ดูแลทะนุถนอมเต็มไปด้วย “ความรัก” แต่กลับกลายมาเป็นป่วยโรคซึมเศร้าขึ้นได้ ที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของสารเคมีสมอง หลั่งสารออกมาไม่สมดุล ในส่วนการควบคุมอารมณ์

โดยเฉพาะเรื่องหลักเกิดจาก “พันธุกรรม” รองลงมาเกิดจากมีโรคทางกาย เช่น โรคไทรอยด์ต่ำ สมองกระทบกระเทือน หรือการใช้สารเสพติดบางชนิด...

ส่วนอาการ...มักมีปัญหาเรื่องอารมณ์เปลี่ยนแปลง ทั้งเศร้า หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย มีความคิดเปลี่ยนแปลง มองทุกอย่างแย่ไปหมด ที่เห็นความผิดพลาดของตนเอง มีอาการทางร่างกาย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหัว เมื่อยตัว ทำให้รู้สึกสิ้นหวัง อาจมีความคิดอยากตายตามมา...

สิ่งสำคัญยังมีสถิติของงานวิจัยบ่งชี้ให้เห็นว่า...ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีโอกาสฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติหลายเท่า ทำให้มีเหตุการณ์...ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าฆ่าตัวตายบ่อยๆ แต่หากผู้ป่วยรู้ตัวกำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ได้รับการรักษาโดยเร็ว...ก็ลดความเสี่ยงเรื่องของการฆ่าตัวตายและมีโอกาสหายขาดจากโรคนี้ได้เช่นกัน

แต่ตามที่ศึกษามานี้...ยังไม่เคยมีสถิติ...บ่งชี้เรื่อง “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” มุ่งทำร้ายบุคคลอื่น หรือฆ่าคนอื่น มากกว่าคนปกติทั่วไป...เพราะคดีที่เกิดขึ้น...ส่วนใหญ่เกิดจากคนปกติ แต่คนไข้ที่มีปัญหาจิตเวช จะก่อเหตุคดีน้อยมาก

เพราะตามลำพังโรคซึมเศร้า ไม่มีตัวกระตุ้นส่งผลให้เกิดความต้องการอยากไปทำร้ายคนอื่น แต่มักมุ่งทำร้ายตัวเอง ซึ่งโรคนี้เกิดขึ้นทุกเพศ...ทุกวัย ทุกอาชีพ เริ่มมีอาการช่วงวัยรุ่น...และรุนแรงในวัยสูง ผสมกับพันธุกรรมของบุคคลนั้น...ก็อาจแสดงอาการได้เร็วหนักขึ้น

และหากถามว่า...อาชีพไหนมีความเสี่ยงสุดที่จะเป็นโรคซึมเศร้านั้น ต้องตอบเลยว่า มีความเสี่ยงทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ ทหารแพทย์ พยาบาล ครู เป็นต้น

ด้านมุมนักจิตวิทยามองปัจจัยกระตุ้นโรคนั้น ดร.จารุวรรณ สกุลคู อาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า “โรคซึมเศร้า” อยู่ในกลุ่ม “โรคจิตเวช” มีสาเหตุความเสี่ยงเกิดขึ้นหลายปัจจัย ทั้งทางร่างกาย พื้นฐานด้านจิตใจ และเหตุการณ์สังคมต้องเผชิญอยู่ แต่ละคนก็มีวิธีป้องกันแตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าคนมีความเครียดต้องนำไปสู่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งหมด เพราะบางคนมีความเข้มแข็งเป็นเกราะป้องกันอยู่ในตัว

ฉะนั้น...เมื่อบุคคลอยู่สภาวะความเครียด ไม่ได้หมายความว่า...คนนั้นต้องป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเสมอ หากมีกระบวนการจัดการความเครียดที่ดีมีครอบครัว เพื่อน พลังใจดี อาจลดอุณหภูมิความเครียดได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงน้อยลงตามมาได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง...มีคน 2 คน อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

คนหนึ่งอาจป่วย อีกคนอาจไม่เป็นอะไรก็ได้ เพราะคนเรามีภูมิคุ้มกันที่ต่างกันออกไป

ถ้าพูดถึงเรื่องโรคซึมเศร้านั้น...ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนต้องมีความคิดฆ่าตัวตาย หรืออยากทำร้ายตัวเองเสมอไป ที่ต้องขึ้นกับผู้ป่วยเป็นกรณี...แต่ปัจจุบันมีการสื่อสารเรื่องราวของผู้ป่วยกลุ่มนี้คลาดเคลื่อนเกินความจริงมาก ....ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ผู้ป่วยจิตเวช”

ถูกมองว่า...เป็นตัวปัญหามักชอบก่อเหตุความรุนแรง กลายเป็นสังคมส่วนรวมเกิดความกลัว มีอคติ จนถูกตีตราเป็น “กลุ่มอันตราย” ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าเปิดเผยตัวนำไปสู่การรักษากัน หากมองอีกมุมผู้ป่วยจิตเวชนี้ มักตกเป็น “เหยื่อ ถูกรังแก และกีดกันมากกว่าด้วยซ้ำ” จนเสียโอกาสทางสังคมอื่นมากมาย

ในความจริงแล้ว...มีตัวเลขเพียง 3-5% เท่านั้น ชี้ว่า...คนที่ป่วยด้วยโรคจิตเวช ก่อเหตุกระทำความผิด หรือก่อความรุนแรงและยังมีผลงานวิจัยของต่างประเทศ ก็ชี้ว่า ผู้กระทำความผิดทางอาญา หรือก่อความรุนแรง ในกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเวชนี้เกิดขึ้นน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับคนทั่วไป ในการกระทำความรุนแรงขึ้นนี้

หนำซ้ำ...เรื่องราวเกี่ยวกับ “การฆ่าตัวตาย” มักเสนอข้อมูลด้านเดียว ในเรื่องนี้แม้ “นักจิตวิทยา” ยังไม่สามารถให้ความเห็นวินิจฉัยอาการป่วยได้ หากยังไม่เคยมีการพูดคุยซักประวัติในเชิงลึก หรือได้รับข้อมูลมาเพียงเล็กน้อย ก็ตัดสินไม่ได้ว่าคนนี้ป่วยหรือไม่

ดังนั้น ต้องพูดกันในหลายแง่มุมและตรวจข้อมูลอย่างละเอียดมากกว่านี้ก่อนสรุปสาเหตุ เพราะคนจะฆ่าตัวตาย มักมีต้นตอชนวนปัญหามากมายที่อาจไม่ใช่เกิดจากโรคนี้โดยตรงก็ได้

สิ่งที่อยากสรุป...คือ “ผู้ป่วยจิตเวช” มีโอกาสทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายผู้อื่นน้อยมาก เพราะมีตัวเลขงานวิจัยยืนยันมากมาย จึงอยากให้สังคมเข้าใจใหม่ ไม่ควรมีอคติ คิดเอง เออเองว่า...

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือมีโอกาสไปทำร้ายคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องฆ่าตัวตาย ก็มีหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่กลับสรุป “การฆ่าตัวตายเกิดจากโรคซึมเศร้า” จนเป็นข้อมูลให้คนเชื่อกัน ในทางที่อาจเกินความจริง

บางครั้งเราอาจมองเห็นบาดแผลในใจเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ความจริงลึกๆ ผู้ป่วยกลับมีเรื่องราวปัญหามากมาย ที่ไม่มีใครรู้ทราบมาก่อนก็ได้...เฉพาะสิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง...ไม่ควรรีบด่วนตัดสินสาเหตุ โดยเฉพาะบุคคลภายนอก ที่ไม่ได้ใกล้ชิดคนฆ่าตัวตาย

ย้ำอีกทีว่า...อย่าด่วนสรุปสาเหตุ...เพราะไม่ใช่มีผลกระทบเฉพาะญาติของผู้ตายเท่านั้น แต่อาจกลายเป็นวลีใหม่ “โรคซึมเศร้ามาคู่กับฆ่าตัวตาย” จนสังคมเข้าใจผิดไปตราบนานเท่านานก็ได้.

18 December 2562

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 10708

 

Preset Colors