02 149 5555 ถึง 60

 

อัลไซเมอร์…ขอเพียงมีคนที่เข้าใจ

อัลไซเมอร์…ขอเพียงมีคนที่เข้าใจ

ความต้องการบริการทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในสังคมผู้สูงอายุ และหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัยจนเป็นที่หวาดหวั่นเพราะทำได้เพียงประคับประคองไปตามอาการนั้นนั่นคือ โรคสมองเสื่อมชนิด “อัลไซเมอร์”

แม้อัลไซเมอร์ในสายตาของคนทั่วไปจะไม่ได้เป็นโรคที่มีอาการเจ็บปวดรุนแรงหรือแสดงอาการเฉียบพลันจนน่าตกใจ แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นโรคที่ทำร้ายความรู้สึกและบั่นทอนกำลังใจของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก จากภาวะการเสื่อมสภาพการทำงานของสมองในหลายๆด้านซึ่งกินเวลายาวนาน ทำให้ผู้ป่วยค่อยๆเกิดการหลงลืม ความจำเสื่อมจนจดจำอะไรไม่ได้ ควบคู่ไปกับปัญหาด้านพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลกระทบต่อสภาพการดำเนินชีวิตที่ยากลำบากของทั้งผู้ป่วยและคนใกล้ชิด

อาการเริ่มแรกของอัลไซเมอร์อาจไม่ค่อยเด่นชัดนัก โดยมากมักมีการสูญเสียความจำในระยะสั้น กล่าวคือ จดจำเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ค่อยได้จนต้องพูดถึงเรื่องเดิมซ้ำๆ มักหลงลืมสิ่งของ สับสนเรื่องเวลาและสถานที่บ่อยครั้งขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือยังคงจำเรื่องที่ผ่านมาในอดีตได้ดี เมื่อเกิดอาการเช่นว่าเหล่านี้ขึ้นจำต้องอาศัยคนใกล้ชิดในการสังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพื่อตอบข้อซักถามจากแพทย์ในการวินิจฉัยโรค หากตรวจพบได้เร็วก็อาจช่วยชะลอการเสื่อมสภาพ รวมทั้งมีเวลาเรียนรู้และปรับตัวเพื่อรับมือกับอาการของโรคได้ดียิ่งขึ้น

แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งความสามารถด้านการจดจำและการใช้ภาษาสื่อสารของผู้ป่วยจะถดถอยลดน้อยลงอย่างชัดเจน ทั้งนึกคิดคำพูดไม่ออก ไม่รู้แม้กระทั่งว่าตัวเองอยู่ที่ไหนหรือกำลังจะทำอะไร สูญเสียความทรงจำและความสามารถในการใช้เหตุผลเกือบทั้งหมด ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งนี้ การเสื่อมสภาพการทำงานของสมอง ความเครียด ความสับสนและฝังใจในเรื่องที่คิดขึ้นมาเองล้วนมีผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในทางซึมเศร้าหรือก้าวร้าว

โดยเฉลี่ยแล้วระยะเวลาในการดำเนินโรคจะกินเวลานาน 8-10 ปี ก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนอื่น เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอและสภาพร่างกายที่ทรุดโทรมลงมาก จนไม่สามารถทานอาหาร เคลื่อนไหวและช่วยเหลือตัวเองได้ จำเป็นต้องนอนติดเตียงและอาศัยผู้อื่นคอยดูแลอย่างใกล้ชิดในทุกเรื่อง ด้วยเหตุนี้ ความรู้ ความเข้าใจและการดูแลเอาใจใส่ของคนใกล้ชิดจึงเป็นปัจจัยที่มีผลสำคัญเป็นลำดับแรกต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสภาพจิตใจเข้มแข็งของผู้ป่วยตลอดระยะเวลาที่รักษาอาการเจ็บป่วย

ปัจจุบันอัลไซเมอร์จัดเป็นโรคสมองเสื่อมที่พบได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมากขึ้นเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่มาของโรคสันนิษฐานว่าเกิดจากการมีปัจจัยขัดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทด้านการเรียนรู้และความจำชนิด Acetylcholine และกระตุ้นให้เกิดความเสื่อมสภาพอย่างผิดปกติของเซลล์สมองที่ค่อยๆขยายวงกว้างออกไป จนทำให้ความสามารถในการทำงานของสมองลดน้อยลง รวมทั้งยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่น อาทิ พันธุกรรม โรคประจำตัว รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งยังคงต้องมีการศึกษาถึงสาเหตุที่แน่ชัดเพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่ได้ผลดีต่อไป

แม้ว่าถึงตอนนี้จะยังไม่สามารถหาวิธีป้องกันและรักษาอัลไซเมอร์ให้หายได้ แต่สิ่งสำคัญเมื่อต้องเผชิญหน้ากับโรคดังกล่าวคือ การดูแลประคับประคองและส่งเสริมกำลังใจให้กับผู้ป่วยซึ่งโดยมากเป็นผู้สูงวัยที่ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและสภาพจิตใจเสื่อมถอยไปตามวัย คนใกล้ชิดจึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ จำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโดยอาศัยแนวทางตามข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1.หมั่นสังเกตพฤติกรรมและความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุในครอบครัวอยู่เสมอ หากพบว่ามีสิ่งผิดสังเกตควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพและทำให้คนที่เกี่ยวข้องมีเวลาเรียนรู้และปรับตัวในการอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น

2.การเสื่อมสภาพการทำงานของสมองมีผลทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในหลากหลายลักษณะตามความรุนแรงของอาการ อาจมีอารมณ์แปรปรวน รู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียวหรือโมโหร้าย มีความสับสนและเข้าใจผิดต่อคนรอบตัว หรือมักเอาแต่ใจตนเองจนทำให้คนในครอบครัวรู้สึกเครียดและวิตกกังวล คนใกล้ชิดต้องเข้าใจว่ามีสาเหตุจากอาการของโรคและตั้งสติเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมั่นคง

3.หลีกเลี่ยงการแสดงความไม่พอใจ โต้เถียง หรือบังคับเพื่อทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมในแบบที่ทุกคนคาดหวัง หากแต่พยายามรักษาแบบแผนกิจกรรมการใช้ชีวิตเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความเคยชินเพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด รวมทั้งปรับวิธีการสื่อสารกับผู้ป่วยทั้งโดยการพูดคุยโดยใช้น้ำเสียงอ่อนโยนน่าฟัง การปล่อยผ่านในบางครั้งหรือเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจให้เหมาะสมตามสถานการณ์

4.กำลังใจของคนใกล้ชิดและผู้ดูแลก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสภาพจิตใจของผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยต้องอาศัยคนใกล้ชิดดูแลเอาใจใส่ในทุกเรื่อง แต่บ่อยครั้งที่คนในครอบครัวต้องแบกรับความรู้สึกเศร้าเสียใจที่คนที่ตัวเองรักต้องตกอยู่ในสภาพที่ลำบากไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จนพลอยทำให้ทุกคนรู้สึกหดหู่ ท้อแท้และสิ้นหวัง ขาดกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคร้ายไปด้วยกัน ในที่สุดผลเสียจึงไปตกอยู่ที่ตัวของผู้ป่วยเอง

5.ความรู้เท่าทันและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นกำลังใจของคนในครอบครัวที่จะเสริมสร้างพลังในการช่วยกันดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุดและทำให้เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าร่วมกัน ทั้งโดยการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย การดูแลในเรื่องโภชนาการและสุขอนามัยอย่างถูกต้องและครบถ้วน ตลอดจนร่วมทำกิจกรรมที่ส่งเสริมความรักและความเข้าใจที่ดีต่อกันในทุกโอกาสที่มี

ความน่ากลัวของอัลไซเมอร์นั้นไม่ได้อยู่ที่ความเจ็บปวดทางร่างกาย หากแต่เป็นความรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังที่ต้องเห็นคนที่รักมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ภาวะการรับรู้ต่างๆค่อยๆจางหายไป ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเองหรือผู้ดูแลต้องการก็คือกำลังใจและความเข้าใจที่ให้แก่กันและกันนั่นเอง

18 November 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1055

 

Preset Colors