02 149 5555 ถึง 60

 

สมาคมโรคจากการหลับ ออกแถลงการณ์เตือนอย่าใช้ "กัญชา" รักษานอนไม่หลับ อาจได้ผลลบมากกว่า

สมาคมโรคจากการหลับ ออกแถลงการณ์เตือนอย่าใช้ "กัญชา" รักษานอนไม่หลับ อาจได้ผลลบมากกว่า

สมาคมโรคจากการหลับฯ ออกแถลงการณ์เตือนอย่าใช้สารสกัดกัญชารักษาอาการนอนไม่หลับ เหตุยังไม่มีผลวิจัยชัดเจน แม้ช่วยลดวิตกกังวล หลับง่ายขึ้น แต่พบให้ผลตรงข้ามด้วย ทำนอนหลับแย่ลง หยุดใช้ยาไม่ได้ เกิดความทรมาน นอนหลับยากขึ้น

วันนี้ (29 ต.ค.) สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์จุดยืน (Position Statement) เรื่อง “การใช้กัญชาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับ” โดยระบุว่า สมาคมโรคจากการหลับฯ ไม่สนับสนุนให้คนไทยใช้กัญชารักษาอาการนอนไม่หลับ เนื่องจากการวิจัยเรื่องกัญชากับการนอนหลับในมนุษย์ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ รวมทั้งมีบางรายงานที่ให้ผลในทิศทางตรงกันข้าม ถึงแม้การใช้กัญชาจะมีผลช่วยลดความวิตกกังวล ทำให้หลับได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีหลายรายงานที่พบว่า ทำให้การนอนหลับแย่ลง อีกทั้งผู้ใช้จะไม่สามารถหยุดใช้กัญชาได้ เพราะจะมีอาการขาดยา และจะยิ่งทำให้เกิดความทรมาน หลับได้ยากขึ้น สารสกัดกัญชาบางตัวยังมีฤทธิ์กระตุ้นอาการประสาทหลอนหรือหลงผิด เพิ่มอาการทางจิตเวช ดังนั้น จึงไม่ควรใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ

ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวยังให้รายละเอียดอีกว่า 1.คุณสมบัติของกัญชาต่อปัญหาการนอนไม่หลับ สารสกัดกัญชาที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มี 2 ชนิด คือ สาร delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) และสาร cannabidiol (CBD) โดย THC เมื่อเข้าสู่สมองจะจับกับ cannabinoid receptor (CB) ทั้งชนิด CB1 และ CB2 ส่งผลให้เกิดความผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล และทำให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ซึ่งเป็นฤทธิ์อันพึงประสงค์ในหมู่ผู้เสพกัญชา สาร THC นอกจากทำให้เกิดความผ่อนคล้าย ยังส่งผลทำให้การรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมเสียไป เกิดอาการประสาทหลอน หรืออากรหลงผิดได้ ส่วนสาร CBD มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทน้อยกว่า ออกฤทธิ์จับ cannabinoid receptor ชนิด CB2 มากกว่า ซึ่ง CB2 พบมากในระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) และที่ปลายประสาท (peripheral nerve) ทำหน้าที่ antinociception ควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้นกัน และปฏิกิริยาการอักเสบ (cytokines)

ผลต่อการนอนหลับของสารสกัด THC และ CBD พบว่า สาร THC ที่ใช้ในระยะสั้น ส่งผลทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น เนื่องจากทีฤทธิ์ลดความวิตกกังวล แต่ส่งผลในระยะยาว พบว่า THC ทำให้ระยะการนอนหลับได้ในแต่ละคืนลดลง เนื่องจากเกิดภาวะดื้อยา (tolerance effect) ในส่วนของสาร CBD มีประสิทธิผลดีกว่า THC โดยพบว่าสาร CBD ช่วยให้ระยะเวลาในการเข้าสู่การนอนหลับ (sleep latency) เร็วขึ้น แต่ถ้าใช้ระยะยาวกลับทำให้คุณภาพของการหลับแย่ลง นอกจากนี้การออกฤทธิ์ยังขึ้นกับขนาดของสารที่ใช้โดยสาร CBD ในขนาดต่ำจะส่งผลกระตุ้นการนอนหลับ ส่วนในขนาดสูงจะช่วยทำให้ง่วงหลับได้ง่ายขึ้นลดการตื่นตัวขณะหลับ และเพิ่มระยะเวลาในการหลับ

ในปัจจุบันงานวิจัยผลของกัญชากับคุณภาพการนอนหลับยังไม่ได้มีการรับรองอย่างเป็นมาตรฐาน เนื่องจากผลการวิจัยยังไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หลายงานวิจัยพบว่า ช่วยส่งเสริมให้การนอนหลับดีขึ้น โดยช่วยให้เข้าสู่การนอนหลับ (sleep latency) ได้เร็วขึ้น ระยะเวลาการนอนหลับ (total sleep time) เพิ่มขึ้น ในขณะที่หลายงานวิจัยพบว่า ทำให้คุณภาพการนอนหลับแย่ลง (poor sleep quality) และไม่สามารถหยุดใช้ได้ เนื่องจากเมื่อหยุดใช้จะเกิดภาวะขาดกัญชา (cannabis withdrawal) ซึ่งจะทำให้การนอนหลับยากขึ้น ประสิทธิภาพการนอนหลับแย่ลง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกทรมาน ส่งผลทำให้ต้องกลับไปใช้กัญชาต่อเนื่อง นอกจากนี้งานวิจัยเรื่องกัญชากับการนอนหลับที่มีในปัจจุบัน ยังเป็นงานวิจัยระดับคุณภาพต่ำจนถึงปานกลาง เนื่องจากจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยมีจำนวนน้อย และหลายงานวิจัยยังขาดกลุ่มควบคุม

2.ความคิดเห็นต่อการใช้กัญชาต่อปัญหานอนไม่หลับ กัญชามีฤทธิ์ทำให้เสพติดได้ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของสาร THC กัญชาไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ยังไม่มีการรับรองว่าสามารถใช้ในการรักษาปัญหานอนไม่หลับได้ และยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานอย่างเพียงพอ ที่สำคัญกัญชามีฤทธิ์รบกวนการทำงานของสมอง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตเวชได้ การใช้กัญชาเพื่อช่วยเรื่องการนอนหลับ จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลด้านลบมากกว่าผลด้านบวก

30 October 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 8678

 

Preset Colors