02 149 5555 ถึง 60

 

หมอยันไม่มี "สัตว์เลี้ยง" ช่วยรักษาอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่ช่วยบำบัดได้

หมอยันไม่มี "สัตว์เลี้ยง" ช่วยรักษาอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่ช่วยบำบัดได้

สัตวแพทย์ ยันไม่มี "สัตว์เลี้ยง" ช่วยรักษาอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่ช่วยบำบัด พยุง ประทังอาการได้ เหตุช่วยจิตใจวงบลง อารมณ์ดีขึ้น กระตุ้นการมีกิจกรรมในสังคม แนะเลือกสัตว์ที่ผู้ป่วยชอบ หากเป็นหมาต้องโตเต็มวัย ผ่านการฝึกให้มีนิสัยดีแล้ว

รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร ที่ปรึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเสวนา "สัตว์เลี้ยงบำบัดกับสมองเสื่อม" เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก จัดโดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ว่า อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยจะเริ่มมีอาการให้เห็นตั้งแต่อายุ 50 - 60 ปี โรคนี้เป็นแล้วผู้ป่วยไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำได้เพียงประคับประคองอาการของโรคได้เท่านั้น ทั้งนี้ การใช้สัตว์เลี้ยงช่วยบำบัดโรค (Pet หรือ Animal Assist Therapy) ถูกนำมาใช้ในการช่วยรักษาแบบพยุง หรือประทังอาการของผู้ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์มานานพอควรในต่างประเทศ จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้ผลดีอย่างกว้างขวาง จากรายงานพบว่า สัตว์เลี้ยงที่ถูกนำมาใช้ช่วยบำบัด เช่น สุนัข แมว นก และปลาตู้ ยังส่งผลต่อผู้ป่วยในด้านบวก เช่น ลดความก้าวร้าว กระตุ้นการมีกิจกรรมร่วมในสังคม จิตใจสงบลง มีอารมณ์ดีขึ้น หรือแม้แต่มีความเจริญอาหาร น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ฯลฯ

"ปัจจุบันยังไม่มีสัตว์ชนิดใดที่นำจะมาใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่อาจสามารถช่วยในการบำบัดได้ ซึ่งการเลือกสัตว์เลี้ยงควรต้องดูภูมิหลังของผู้ป่วยด้วยว่าชอบ หรือไม่ชอบสัตว์ชนิดใดมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นปมที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้ป่วย อาจเกิดผลกระทบได้ หากมีสิ่งนั้นมากระตุ้น นอกจากนี้ จะต้องคำนึงถึงอายุขัยของสัตว์ที่จะนำมาเลี้ยงด้วย เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นภาระกับผู้ดูแลในอนาคตต่อไป หากเป็นสุนัขควรเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น ขนาด และนิสัย และควรเลือกสุนัขที่ค่อนข้างมีอายุคือโตเต็มวัย เนื่องจากจะปรับตัวได้ง่าย และไม่ยุกยิก มีความสงบเสงี่ยม โดยต้องได้รับการฝึกเป็นสุนัขนิสัยดี คือมีคุณสมบัติ ไม่กัดคน ไม่กัดหมา พาจูงได้" รศ.นสพ.ปานเทพ กล่าว

รศ.นสพ.ปานเทพ กล่าวว่า เรื่องที่เรามักเป็นห่วง คือ โรคที่มาจากสัตว์ ต้องพยายามหาสัตว์ที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคติดต่อ โดยนำสัตว์ไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนก่อนนำมาเลี้ยง นอกจากนี้ ควรมีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ และให้คิดเสมอว่า สัตว์เป็นสิ่งที่มีชีวิตเหมือนกับเรา จำต้องได้รับการดูแลเหมือนคนเราที่ต้องการความรัก การสัมผัส และเวลาเหมือนกัน ไม่ได้เลี้ยงแค่ตัว แต่เลี้ยงใจด้วย ซึ่งสุนัขก็มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ได้เหมือนคน สังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น การขับถ่ายที่ไม่เป็นที่เป็นทาง อาจมีประสาทสัมผัสที่เสื่อมถอยลง ซึ่งต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

"บ้านรักหมาศาลายา ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล เป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจใช้ในการฟื้นฟูบำบัดผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โดยเป็นสถานที่รวบรวมสุนัขไร้บ้าน ไม่มีเจ้าของ ภายในม.มหิดล ศาลายา นำมาตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีน และทำหมันเพื่อคุมกำเนิด และเข้าโครงการฝึกสุนัขนิสัยดี โดยนักศึกษาสัตวแพทย์จะฝึกและปรับพฤติกรรมให้สามารถเชื่อฟังคำสั่ง และปรับนิสัยให้เป็นสุนัขที่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์ได้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการหาบ้านใหม่ เพื่อส่งต่อให้ผู้ที่มีความประสงค์จะรับเลี้ยงต่อไป โดยผู้ป่วยสามารถมาเยี่ยมชมและพาสุนัขเดินโดยมีอาสาสมัครคอยดูแลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" รศ.นสพ.ปานเทพ กล่าว

บ้านรักหมาศาลายา เปิดให้เข้าชมในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. และวันเสาร์-อาทิตย์เวลา 09.30 - 16.30 น. โปรดติดต่อนัดหมายล่วงหน้าที่ โทร. 0-2441-5242 ต่อ 1414 ดูรายละเอียดได้ที่ FB: บ้านรักหมาศาลายา

10 September 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1409

 

Preset Colors