02 149 5555 ถึง 60

 

สธ.จัดทีมเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ตรวจความปลอดภัยน้ำ-อาหาร

สธ.จัดทีมเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ตรวจความปลอดภัยน้ำ-อาหาร

กรมวิทย์จัดส่งโลชั่นกันยุง ริ้น ทาก ปลิง ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม จัดทีมและชุดตรวจความปลอดภัยน้ำ น้ำแข็ง อาหาร เฝ้าระวังโรคฉี่หนู ด้านกรมสุขภาพจิต ส่งทีมดูแลจิตใจพื้นที่บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พบได้รับผลกระทบทางจิตใจจากน้ำท่วม 1.25%

วันนี้ (4 ก.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า วันนี้ได้ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้เตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการ หากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ใดจำเป็นต้องปิดการให้บริการ ต้องสามารถส่งต่อไปยังศูนย์อื่นดำเนินการได้ นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมผลิตภัณฑ์ที่กรมฯ ผลิตขึ้น เพื่อสนับสนุนในพื้นที่ประสบภัย โดยมอบให้ทางสำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ผลิตโลชั่นทากันยุง รีเพลมอส จำนวน 2,000 ซอง ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันยุง ริ้น ทากและปลิง ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้สามารถนำไปใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กได้ และให้ทางสถาบันวิจัยสมุนไพรผลิตเจลล้างมือ จำนวน 1,000 ขวด ไปแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ประสบภัย เพื่อใช้ในการป้องกันโรคระบาด

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนของความปลอดภัยของอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็งนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดเตรียมทีมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยของน้ำ น้ำแข็ง โดยใช้ชุดทดสอบอย่างง่าย พร้อมทั้งการเฝ้าระวังโรคฉี่หนูโดยการใช้ชุดทดสอบเลปโตสไปรโรซีสที่กรมฯ ผลิตขึ้นให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้วย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เกิดสภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และมีปัญหาสุขภาพจิตได้ กรมฯ จึงได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ประกอบด้วย ทีมสหวิชาชีพของ รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 7 ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจประชาชนผู้ประสบภัย ที่ศูนย์บัญชาการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น และจัดบริการดูแลสุขภาพจิตเชิงรุก เยี่ยมคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ มีจำนวนผู้มารับบริการคัดกรองปัญหาด้านสุขภาพจิต ทั้งหมด 80 คน ต้องได้รับการติดตามต่อเนื่อง ร้อยละ 8.75 และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสถานการณ์น้ำท่วม ร้อยละ 1.25 โดยทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทได้วางแผนประสานการทำงานร่วมกับทีมสุขภาพจิตรพ.บ้านไผ่ ในการดูแลอย่างต่อเนื่อง

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กรมฯ ขอแนะนำให้ประชาชนช่วยดูแลสภาพจิตใจกันและกันของคนในครอบครัว คนรอบข้าง และเพื่อนบ้าน โดยใช้หลัก 3 ส. ในการปฐมพยาบาลทางใจ คือ 1. สอดส่องมองหา (Look) ขอให้ช่วยกันสังเกต มองหาผู้ประสบภัย ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้ที่มีความโศกเศร้าเสียใจ เครียด วิตกกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ 2. ใส่ใจรับฟัง (Listen) ให้เข้าไปพูดคุยให้กำลังใจ พร้อมรับฟังอย่างเข้าใจ เพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยได้พูดระบายคลายความทุกข์ในใจออกมา และ 3. ส่งต่อ (Link) หากอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง ให้ติดต่ออาสาสมัครสาธารณสุขภายในหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

5 September 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 975

 

Preset Colors