02 149 5555 ถึง 60

 

จากลำไส้รั่ว...ถึงซึมเศร้า

จากลำไส้รั่ว...ถึงซึมเศร้า

ซึมเศร้า...ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ดูเหมือนเชื้อร้ายนี้กำลังซึมลึก เกาะติดหัวใจของชาวโลก ทุกปีมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และน่าเป็นห่วงที่ว่าภาวะซึมเศร้านี้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไป

“มีรายงานสัก 10 ปีที่แล้วพบว่า คนไทยเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 1 ล้านคน”

แพทย์หญิงปิยะนุช รักพาณิชย์ แห่ง สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก กล่าวถึงอุบัติการณ์โรคไม่ติดต่อแต่กำลังแพร่เชื้อร้ายซึมลึก โดยผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิต เมื่อปี พ.ศ.2551 พบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน และเชื่อมโยงกับข้อมูลที่ว่า เยาวชนไทยอายุ 20-24 ปี มีอัตราฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น โดยเมื่อปี 2560 อัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 4.94 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน สำรวจใหม่ปี 2561 พบตัวเลขสูงขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน

ปัญหาสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้า เป็นประเด็นหลักที่ทำให้คุณหมอปิยะนุช สนใจใคร่รู้ว่า นอกจากการรักษาตามหลักการแพทย์สมัยใหม่ที่ได้ร่ำเรียนมาแล้วนั้น ยังมีการรักษาแบบ Integrative Medicine หรือการรักษาแบบผสมผสานโดยใช้ศาสตร์การรักษาหลายขนานควบคู่กัน

การรักษาแบบผสมผสานช่วยได้อย่างไร

Integrative Medicine ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หากพูดเมื่อสักสิบปีก่อนการแพทย์แผนปัจจุบันก็ยังไม่ยอมรับนัก สวนสุขภาพอรุณ หรือ AHG (Arun Health Garden) จึงก่อตั้งขึ้นเป็นศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู กายภาพบำบัดและดูแลรักษาสุขภาพแบบองค์รวม หรือ Integrative Medicine โดยใช้การรักษาแบบผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพราะปัญหาสุขภาพนั้นไม่ได้สิ้นสุดอยู่ที่อาการดีขึ้นหากเรามุ่งหวังให้ผู้ป่วยกลับสู่สภาวะสมดุลของสุขภาพที่ดีด้วย ดังนั้นการหาต้นเหตุของปัญหาสุขภาพเพื่อแก้ไขอย่างถูกต้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ทำไมถึงสนใจเรื่องเวชศาสตร์ฟื้นฟู

หลังจากหมอเรียนจบแพทย์ศาสตร์จากจุฬาฯ ก็ไปต่อเวชศาสตร์ฟื้นฟูอีก 3 ปี (วุฒิบัตรสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู) ต่อด้วย Preventive & Rehabilitative Cardiology ที่ Cedars Sinai Medical Center ลอสแองเจลิส และศึกษา Integratiive Medicine ของ ดร.แอนดรู ไวล์ แล้วไปเรียนด้าน Fitness specialist for older adult และ Biomechanics of resistance training ที่ The Cooper Institute, Dallas, Texas จากนั้นไปเรียนด้านคีเลชั่นบำบัด ที่สมาคมการแพทย์คีเลชั่นไทย และต่อด้วยประกาศนียบัตร Apply for Functional Medicine in Clinical Practice, Institute of Functional Medicine อเมริกา, ประกาศนียบัตร Homeopathy in Professional Healthcare, University College London Hospital ต่อด้วย Injectable Nutrient Workshop, Australian College of Medical Nutrition ประเทศออสเตรเลีย

ทำไมถึงสนใจศาสตร์นี้ ต้องย้อนเวลากลับไปสมัยตัวเองเป็นวัยรุ่น เรียนจบแพทย์มาใหม่ ๆ เราก็มีความเจ็บป่วย แต่ไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งคนไข้ที่หมอรักษาอยู่ตอนนี้ก็จะเป็นแบบนี้ หมายถึงตรวจร่างกายมาแพทย์แผนปัจจุบันหรือที่เรียกว่า main stream ที่เรียนแพทย์สมัยใหม่อย่างที่หมอเรียนจบมา มีหลักสูตรมาเป็นร้อย ๆ ปีนั้นก็ไม่พบความผิดปกติในร่างกาย ตรวจไม่เจอ เราก็ตรวจเท่าที่หมอจะตรวจได้ แต่ทำไมเราไม่ปกติ ปวดโน่นปวดนี่ แต่ไปทำงานได้ตามปกตินะคะ เราก็คิดว่าเป็นอะไรนะ ตอนนั้นก็คิดว่าช่างมัน อาจจะเครียดก็ได้ เลยเป็นที่มาของการไปร่ำเรียนศาสตร์ด้านนี้โดยเฉพาะ

เวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นศาสตร์ที่หลากหลาย เช่น ฝังเข็ม เมื่อ 20 ปีก่อนเป็นเรื่องประหลาด ไม่ใช่ฝังเข็มแบบจีนนะคะอันนั้นเขามีเป็นพันปีแล้ว แต่เป็นการฝังเข็มแบบแพทย์ปัจจุบัน ตอนนั้นก็ไม่ค่อยยอมรับกัน

คุณหมอได้เรียนหลักสูตร Integrative Medicine กับ ดร.แอนดรู ไวล์ ด้วย

หลังจากเรามีประสบการณ์มากขึ้น เจอคนไข้มากขึ้น แต่เราก็พบว่า เอ..ทำไมมารักษาแล้วยังติด ๆ ขัด ๆ ไม่เป็นไปอย่างตำรา มีอยู่วันหนึ่งไปเดินเอเชียบุ๊คที่หัวหิน เห็นหนังสือของ ดร.แอนดรู (Dr. Andrew Weil แพทย์ทางเลือกผู้ก่อตั้งโครงการ The Arizona Center for Integrative Medicine) เออ..คุณหมอหน้าคุ้น ๆ พบตามเคาน์เตอร์เครื่องสำอาง เลยอ่านหนังสือดูพบว่าเขามีโปรแกรม Integrative Medicine สอนอยู่ หมอเลยสมัครเรียน ตอนนั้นปี 2009 หลักสูตร 2 ปี เป็นอินเตอร์เนทเบส แต่ต้องบินไปที่โน่น 3 ครั้ง เพื่อไปร่วมเข้าคลาส ทำเวิร์คชอป และไปสอบ ซึ่งเขาเปิดมา 10 ปีแล้ว และหมอเป็นคนไทยคนแรกที่ไปเรียน

ตอนนี้ Integrative Medicine หรือการแพทย์แบบบูรณาการ เป็นที่รู้จักกันแล้ว

เริ่มแพร่หลายมากขึ้น อเมริกาพยายามผลักดันเรื่องนี้มาเป็นเวลานานมาก หมอคิดว่าปัจจุบัน Integrative จะเป็นเรื่องอนาคตของการแพทย์ทั่วโลก ซึ่งการแพทย์แผนปัจจุบันก็เปิดกว้างยอมรับเรื่องนี้เข้ามาในการรักษาคนไข้ด้วย หมอยกตัวอย่าง คนไข้คนหนึ่งเขาอาจไม่ตอบรับการรักษาบางอย่างแต่เขาอาจจะดีขึ้นด้วยการนวดก็ได้ อินทิเกรทีฟ คือการเอาแพทย์แผนปัจจุบันมาผสมกับศาสตร์การรักษาที่มีการศึกษาวิจัยยอมรับว่าดี แล้วเลือกอันที่ดีที่สุดที่เหมาะกับคนไข้ของเรา ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ตะวันออกหรือตะวันตก อย่างตอนที่หมอไปเรียนนั้นมีเยอะมากเป็นสิบ ๆ เรื่อง เช่น ฝังเข็ม ไคโรแพรคติก อาร์ตเธอราพี โฮมีโอพาธี ฯลฯ มีหลายศาสตร์หลายชาติ มีงานวิจัยรับรองและเน้นที่ไลฟ์สไตล์เป็นหลัก

แนวทางการรักษาแบบ Integrative Medicine เป็นอย่างไร

มีหลักการว่า แพทย์กับคนไข้ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หมอต้องรู้ถึงไลฟ์สไตล์ของเขา ชีวิต ครอบครัว เป็นอย่างไร ทำไมถึงมีอาการแบบนี้ แล้วก็ปรับบางอย่างเพื่อให้ร่างกายเขาดีขึ้นและเขาสามารถรักษาตัวเองได้ เป็น Self Healing ในขณะเดียวกันการแก้ปัญหานั้นต้องไม่สุดโต่งจนเกินไป จนไม่เอาการแพทย์แผนปัจจุบันมาใช้ หากต้องนำมาประกอบกัน หมอต้องพูดคุยหรือใช้การเขียนก็ได้

ยังมีศาสตร์การรักษา Anti-aging ซึ่งจะคาบเกี่ยวกัน มีหลักการ 3 อย่าง คือ Integrative Medicine, Anti-aging และ Functional Medicine ซึ่งมีหลักการคล้ายกันในเรื่องการรักษาคนไข้ที่ไม่ใช่แค่บำบัดแต่อาการ เช่นคนไข้ปวดหัว ส่วนใหญ่คนไข้ที่นี่มักจะแบบไปโรงพยาบาลมาแล้ว คือหาไม่เจอ เราก็ต้องไปหาแล้วว่าทำไมเขาปวดหัวเรื้อรัง เกี่ยวกับกล้ามเนื้อหรือกระดูก หรืออาจมาจากลำไส้

ตอนนี้การแพทย์กำลังกล่าวถึง “ลำไส้” ว่าเป็นตัวการสำคัญของโรคต่าง ๆ

ใช่ค่ะ เมื่อตรวจเช็คประวัติต่าง ๆ แล้วก็มาถึงเรื่องลำไส้ ทำไมทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง ยกตัวอย่างว่าไปตรวจมาแล้ว ทำ MRI แล้ว ตรวจทุกชนิด เหมือนที่หมอเป็นตอนวัยรุ่น เราไม่มีโรคประจำตัว มีผิดปกตินิดหน่อยในทางการแพทย์ถือว่าไม่เป็นอะไร แต่ตอนนี้เมื่อเรามองย้อนกลับไปในเวลานั้นเราจะรู้แล้วว่าเป็นอะไร เพราะเรามีความผิดปกติของลำไส้ ซึ่งแพทย์ปัจจุบันก็ยังไม่ยอมรับนะคะ แต่อีกไม่กี่ปีเขาจะยอมรับ ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า Intestinal Permeability หรือภาวะ ลำไส้รั่ว เรียกย่อ ๆ ว่า Leaky Gut ลำไส้รั่วไม่ได้รั่วออกมานอกช่องท้องแต่รั่วเข้าไปในร่างกายเรา ทั้งลำไส้ใหญ่และเล็ก ที่ไปเกี่ยวกับภาวะจิตเวชได้ ซึ่งถ้ามองย้อนตอนที่หมอเป็นนั้นเราเป็น IBS หรือโรคลำไส้แปรปรวนนั่นเอง

ลำไส้รั่ว จึงไม่ใช่แค่ส่งผลให้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย อ่อนเพลีย เวียนหัว ฯลฯ

ลำไส้แปรปรวนอาจเกี่ยวเนื่องกับความเครียดด้วย แต่ตอนที่หมอเป็นไม่ถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล เราปวดเรื้อรัง เป็นภูมิแพ้ ซึ่งคนยุคนี้มักเป็นกัน เป็นโรคคนสมัยใหม่ พอศึกษามากเข้าหมอพบอาการที่อธิบายไม่ได้ เช่น กดกล้ามเนื้อตรงนี้ตรงที่อักเสบ แต่พอกดปุ๊บจะร้าวไปถึงไหล่หรือไปถึงหลัง ซึ่งอธิบายไม่ได้ด้วยอาการของเส้นประสาท หรือกดจุดตรงนี้ทำไมถึงเรอ เมื่อยี่สิบปีที่แล้วจะไม่เชื่อเลย เช่นเดียวกับเมื่อพูดถึง “ภาวะลำไส้รั่ว” คือลำไส้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ หมอยกตัวอย่างเหมือนเราผ่าไส้ออกมาดูข้างในมีเซลล์ที่ยึดต่อกัน มีรูเล็ก ๆ ของช่องลำไส้ที่ติดกันสองด้าน อาหารจะเข้ามาด้านบน พอเข้ามาผ่านลำไส้ที่มีเซลล์เหมือนอิฐแดงก่อเป็นกำแพง เป็นก้อน ๆ ต่อ ๆ กัน ความสำคัญคือช่องที่มันต่อกันนี้จะต้องปิดสนิทดี ทำหน้าที่เป็นตัวกรอง เหมือนผ้าขาวบางกั้นไว้ พออาหารผ่านเข้ามาก็จะย่อยให้ดีก่อนผ่านเข้าไปเพราะช่องมันเล็ก แต่ถ้าเกิดมีภาวะอะไรก็แล้วแต่ทำให้ช่องนี้เสียไปมันก็จะเกิดเป็นช่องที่ผ่านทะลุไปได้ คือการรั่วของลำไส้ ช่องที่ทำหน้าที่เป็นตัวกรองมันขาดหรือมันกว้างขึ้น ทำให้อะไรที่เข้ามาก็จะถูกดูดซึมไปหมด มันขาดหน้าที่ที่จะป้องกันการดูดซึมในสิ่งที่ไม่ควรจะดูดซึมให้เข้าไปในร่างกาย เช่น การกินอาหาร ต้องย่อยถึงหน่วยเล็กที่สุด ถ้าเป็นโปรตีนก็กรดอะมิโนถึงจะเข้าผ่านไปได้ ต้องผ่านช่องนี้ก่อน แต่พอลำไส้เสียอาหารยังย่อยไม่จบเลยมันก็ผ่านเข้าไปในเส้นเลือด ร่างกายก็จะต่อต้านทันทีโดยส่งเม็ดเลือดขาวออกมาโจมตี ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือสิ่งผิดปกติใด ๆ มีเชื้อโรคอะไรมามันก็โจมตีหมด ถ้าระบบภูมิคุ้มกันร่างกายดีมันแอ็คทีฟดี ตลอดการกินอาหาร 3 มื้อมันต่อต้านหมด ในที่สุดระบบภูมิคุ้มกันอาจกลายเป็นโจมตีตัวเอง คุ้นมั้ยอย่างโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (SLE) หรือโรคในกลุ่มรูมาตอยด์ จากการที่ร่างกายเราส่งเม็ดเลือดขาวออกมาตลอด 3 มื้อ ในที่สุดภูมิคุ้มกันก็อ่อนแอลง ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังหลายอย่าง หรือการที่ออกมามากเกินไปทำให้เกิดการอักเสบ มีอาการมากมาย ไม่ใช่แค่ปวดท้อง อาการมีเป็นร้อย ๆ อย่าง อันนี้เป็นแบบทั่ว ๆ ไป ตั้งแต่ปวดท้อง ข้ออักเสบ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ลำไส้แปรปรวน จนถึงผิวหนังอักเสบเรื้อรัง

แสดงว่าถ้าลำไส้เสียจะส่งผลถึงสารพัดโรค

แต่เราต้องสืบให้ได้ถึงอาการทางร่างกายที่เป็นแบบนี้มาจากตัวต้นเหตุนี้หรือเปล่า ทีนี้ต้นเหตุก็มีหลายปัจจัยด้วยที่ทำให้ลำไส้รั่ว ตั้งแต่อาหาร เครียด ยา โลหะหนัก สารพิษ เชื้อโรค พักผ่อนไม่พอ ออกกำลังมากหรือน้อยไป เช่น บางคนเป็นไมเกรน กินยามา 20 ปี มีเด็กคนหนึ่งมาอาการท้องผูก ไม่ถ่ายเลยต้องกินยาตลอด เราก็หาจิ๊กซอว์หลักให้เจอ หมอจะเป็นนักสืบที่ต้องหาไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่หมอพบว่าจะเริ่มมาจากลำไส้ถึงมากกว่า 50% พอสอบประวัติแล้วมีโรคเรื้อรังต่าง ๆ รักษาแล้วไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ต้องมาดูที่ลำไส้ก่อน เรื่องลำไส้ เป็นศาสตร์โบราณที่พูดถึงมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอะไรให้มาดูลำไส้ เพราะมันเป็นทางที่ร่างกายรับของภายนอกเข้ามา

แล้วลำไส้รั่วส่งผลถึงสภาวะจิตได้อย่างไร

ปัจจุบันนี้มีการศึกษาที่มากขึ้นไปอีกพบว่า จุลินทรีย์ในลำไส้ ส่งผลถึงสภาวะจิตและโรคซึมเศร้า ขอเล่าย้อนไปหน่อยว่ามีการศึกษาเรื่องยีน (Genetic) ในมนุษย์มาหลายสิบปีแล้ว เรียกว่า Geno Project ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ เพื่อศึกษาลึกไปถึงยีนในชนชาติต่าง ๆ พ่อแม่ลูก ในตัวเรามียีนอะไร แล้วเขาก็สงสัยว่าในมนุษย์ทุกคนมีจุลินทรีย์ เชื้อรา ไวรัส พยาธิ เป็นจุลินทรีย์ธรรมดาที่อยู่ในท้องเรา มีในปากและตามผิวหนังด้วย เป็นจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์และเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเรา กลายเป็นว่าจุลินทรีย์ที่อยู่ในตัวเราอาจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมหลาย ๆ อย่าง ยกตัวอย่าง วันนี้เราอยากกินขนมมาก อาจเป็นเพราะจุลินทรีย์ในตัวเราส่งผลต่อฮอร์โมน การศึกษานี้เรียกว่า Micro Bio Project ศึกษากันจบไปเฟส 2 แล้ว และพบว่ามันเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมของคน หลังจากศึกษามาเกิน 10 ปี ก็พบว่า จุลินทรีย์ในร่างกายของแต่ละคนแต่ละเชื้อชาติไม่เหมือนกัน ในแต่ละช่วงชีวิตด้วยนะ เช่น เด็กที่ผ่าท้องตลอดกับเด็กที่คลอดธรรมชาติมีจุลินทรีย์ที่แตกต่างกัน แล้วเขาก็ตามไปพบว่า ในเด็กที่คลอดธรรมชาติมีโอกาสเป็นภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กผ่าคลอด หรือทดลองเอาจุลินทรีย์จากคนที่เป็นโรคอ้วนเอาไปใส่ในหนูทดลอง หนูก็จะอ้วน แต่ถ้าใส่จุลินทรีย์จากคนปกติหนูก็ไม่เป็นไร เป็นต้น

ปัจจุบันได้ศึกษาลึกลงไปอีกถึงขนาดเอาไปรักษาโรค เช่น โรคลำไส้ติดเชื้อบางอย่างที่รักษายาก ก็ทดลองนำอุจจาระของคนปกติไปใส่ให้คนที่เป็นโรคติดเชื้อลำไส้อักเสบโดยที่ไม่ได้รักษาอย่างอื่น แค่เอาอุจจาระในคนปกติไปใส่ในท้อง คนไข้ก็หายจากโรค ศาสตร์พวกนี้ไปไกลมาก อีกหน่อยไปโรงพยาบาลอาจต้องระบุถึงพันธุกรรม เป็น Personalize Medicine ดูว่ายีนเป็นยังไง อาจผิดปกติกับยาตัวนี้ หรือตรวจอุจจาระเพื่อดูลึกไปถึงจุลินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันเริ่มใช้จุลินทรีย์ในการรักษาแล้ว

ลำไส้รั่วถึงขนาดทำให้เกิดโรคซึมเศร้า

ในโรคคนเมืองและโรคซึมเศร้า ในแง่ของลำไส้ คนมักไม่ค่อยนึกถึงเพราะคิดว่าเป็นเพราะสภาวะจิต หรือมีปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อจิตใจ แต่จากประสบการณ์ที่หมอเจอ การรักษาคนเป็นภาวะซึมเศร้าบวกกับการใช้วิธีการนี้แล้วเขาดีขึ้น แต่ไม่ได้ตัดยาเขานะคะ ในงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับลำไส้ในวารสารทางการแพทย์ก็มีเยอะนะ แต่เขาจะสนใจกันหรือเปล่า เมื่อหมอเจอคนไข้แบบนี้เราก็แก้ไปประกอบกับยาที่เขาใช้รักษา อย่างที่เรารู้ว่าโรคนี้มีหลายปัจจัย ไม่ใช่ความเครียดอย่างเดียว ด้านร่างกายเกี่ยวกับอาหาร และลำไส้ที่ผิดปกติทำให้สารเคมีในลำไส้เสียไป สถิติคนเป็นโรคนี้ทั่วโลกเยอะมากนะคะ เกิดถึง 300 ล้านคนทั่วโลก คนเมืองเป็นเยอะกว่า ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย คนกรุงเทพก็เกิน 5%

การซึมเศร้ามีหลายระดับคือ ซึมเศร้าธรรมดา ภาวะนี้เป็นทุกคนเดี๋ยวก็ออกมาได้ แต่ถ้าเป็นโรคจะมีอาการอย่างน้อยกี่อย่าง หรืออาการอื่น ๆ เช่น เชื่องช้าลง ไม่มีพลังงานในการดำรงชีวิต มีอาการทางการแพทย์บ่งชี้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งต้องรักษา ปกติแพทย์จะให้ยาไปหลั่งสารเคมีในสมอง คล้ายยาคลายเครียด เป็นการปรับสารเคมีในสมองและต้องรักษาเป็นเวลานาน ในการรักษาแบบผสมผสานหมอจะพบว่าภาวะซึมเศร้าเกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สารเคมีในสมองไม่สมดุล หมอทางจิตเวชจะให้ยาปรับสารเคมีในสมอง แต่ถ้าเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น สมองมีปัญหาแล้วไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และอีกอย่างคือภาวะลำไส้ที่ไม่ปกติ ทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้ผิดปกติไป มีการศึกษาพบว่าจุลินทรีย์ในลำไส้นอกจากทำหน้าที่ย่อยอาหารแล้วจะมีการหลั่งของสารสื่อประสาทเหมือนในสมองเลย ทางการแพทย์เรียกว่า Second Brain หรือสมองอันที่สอง เพราะสามารถหลั่งสารเหมือนในสมองได้ สารพวกนี้อธิบายเรื่องเกี่ยวกับจิต ประสาท อารมณ์ การนอน ความรู้สึก ในร่างกายคนเรามีเส้นประสาทซึ่งเชื่อมจากหัวเป็นเส้นประสาทปกติ เรียกว่า Vagas Nerve เมื่อก่อนเราจะคิดแยกร่างกายเป็นส่วน ๆ หัวก็หัว ท้องก็ท้อง ไม่เกี่ยวกัน แต่ความจริงไม่ใช่ เส้นประสาทที่เชื่อมกันส่งต่อถึงกันและกันได้ เรียกว่าประสาทอัตโนมัติ เช่น เครียดคิดว่าเป็นเรื่องของจิตของสมอง แต่ทำให้เราปวดท้อง บางคนเครียดก็ท้องเสียเพราะมันเชื่อมกันอยู่ หรือบางคนท้องผูก อาการหงุดหงิดจะตามมา ปัจจุบันลงลึกถึงจุลินทรีย์ที่ขาดความสมดุล ซึ่งนอกจากทำหน้าที่ย่อยอาหารแล้วมันยังกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารอื่น ๆ เช่น สารต้านการอักเสบ สารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งหลั่งออกมาในลำไส้ แต่พอหลั่งในลำไส้ก็จะส่งผลถึงร่างกายได้ พอเกี่ยวเนื่องกับลำไส้เลยกลายเป็นว่า โรคหลายอย่างเช่นซึมเศร้า เกิดจากจุลินทรีย์ขาดสมดุล และเริ่มมีการทดลองในสัตว์ทดลอง เช่น เอาจุลินทรีย์ในลำไส้ของคนไข้โรคซึมเศร้าไปฉีดให้หนูทดลองกิน หนูก็มีภาวะผิดปกติทางจิต แต่ถ้าเอาจุลินทรีย์ในคนปกติไปฉีดหนูก็ปกติ และมีการศึกษาอีกเยอะว่าในคนไข้จริง ๆ ถ้าเอาจุลินทรีย์ไปรักษาอาการจะดีขึ้นดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า อาหารมีส่วนสำคัญเมื่อกินเข้าไปในลำไส้ของเรา

กว่าจะหาเจอว่ากินอะไรแล้วไม่ถูกกับตัวเองก็ต้องทดสอบหลายอย่าง

อย่างที่เรารู้ว่าอาหารบางอย่างไม่ดี เช่น แอลกอฮอล์มีส่วนทำลายลำไส้ ยาบางชนิดทำลายผนังลำไส้ หรือนอนไม่พอ ออกกำลังกายมากหรือน้อยไป ผนังเสียหมด แต่ถ้าร่างกายเยียวยาตัวเองได้ก็จบ แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องรักษายาว มีหลายปัจจัยมากที่ทำให้ลำไส้เสีย หมอต้องคุยกับคนไข้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวหรอก หลัก คืออาหาร ซึ่งคือไลฟ์สไตล์ของคนนั่นแหละ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า “อาหารแพ้” ซึ่งภาวะการแพ้ก็มีแพ้แบบเฉียบพลัน เป็นผื่น หายใจไม่ออก หรืออันตรายถึงชีวิต เรามักรู้ตัวเอง เช่นแพ้ถั่ว แพ้นม แต่อาการแพ้แบบแฝงคือไม่รู้ว่าตัวเองแพ้ บางคนกินเข้าไปแล้วเกิดอาการเพลีย ซึม หรือกินแล้วหงุดหงิด จนถึงกินแล้วมีภาวะซึมเศร้าก็มี หมอจะรู้ด้วยการคุยกับคนไข้ ในงานวิจัยเรื่องภาวะซึมเศร้า พบอีกอย่างคืออาการวิตกกังวล (Panic) ถ้ารักษาดี ๆ หาสาเหตุเจอก็หายแต่ต้องใช้เวลา โดยเริ่มจากอาหารแล้วค่อย ๆ แก้ เราต้องหาจนเจอแล้วมาแก้ไขแต่ละส่วน บางคนมีหลายอย่าง บางคนมีสารพิษ เจอโลหะหนัก อาหารการกิน เพราะร่างกายขับไม่ได้ เราอาจเจอทุกอย่างเหมือนกันแต่ร่างกายบางคนขับไม่ได้ สารพิษ โลหะหนัก หรือเชื้อโรคที่ไม่หายไปจากตัว เช่น ติดเชื้อเรื้อรังแล้วมันไม่หายไปจากตัว เชื้อราที่รักษาแล้วรักษาอีกแล้วมันไม่หาย

ในแต่ละวันคนเรากินอาหารมากมาย แล้วจะทดสอบได้อย่างไร

วิธีสมัยใหม่คือเจาะเลือด ตรวจอาการแพ้ในอาหาร 220 ชนิดได้ แพงแต่ก็จะรู้ได้ในแง่การดูแลระวังเรื่องการกิน การเจาะเมื่อพบมีหลักคือหยุดกิน ต่อไปคือต้องซ่อมแซมลำไส้ด้วยวิตามินเกลือแร่ และเสริมส่วนที่ขาดเช่น จุลินทรีย์ที่ดีที่เราขาด เป็นการรักษาตามหลักการ แต่หมอว่า วิธีที่ทำให้มนุษย์อายุยืนคือกินน้อยลง และการออกกำลังกาย ช่วยได้เยอะ อีกอย่างหน้าที่ของหมอคือ กระตุ้นให้คนไข้มีไลฟ์สไตล์ที่ดี จะทำให้ร่างกายเขาเยียวยาตัวเอง เช่น ถ้าเราทำงานจนเหนื่อยเราพักเดี๋ยวก็หาย หรือถ้าเศร้ามีคนคุยด้วยก็จะดีขึ้น ก็จะไม่มีอาการซึมเศร้า แต่บางคนไม่มีกระบวนเยียวยาตัวเอง (Process Healing) หมอก็ต้องแก้ไขไปตามอาการแต่ไม่ได้หยุดยา

มีคนไข้ซึมเศร้าที่มาหาหมอแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ส่วนใหญ่จะมาหาด้วยเรื่องอื่นไม่ใช่ภาวะซึมเศร้า เช่นหนึ่งร้อยคนมาหาด้วยเรื่องซึมเศร้า แต่จริง ๆ มีไม่ถึง 10% จะมาด้วยเรื่องอื่นบวกกับภาวะซึมเศร้า เช่น เริ่มมาจากอาการปวดก่อน หรือรู้สึกไม่มีแรง เหนื่อย พอเริ่มซักประวัติไปพบว่าไปหาหมอจิตเวช กินยาซึมเศร้าอยู่ก็มี มีอีกกรณีคือรักษาอาการวิตกกังวล (Panic) หมอจะเริ่มเจาะถึงปัญหาต่าง ๆ แล้วรักษาไปเรื่อย ๆ แต่เขายังกินยาอยู่นะ จนในที่สุดอาการดีขึ้น ส่วนหนึ่งหยุดยาได้ แล้วคนไข้จะเริ่มควบคุมตัวเองได้ในเรื่องต่าง ๆ ต้องคุยกัน โดยเริ่มจากอาหาร

ถ้าไม่อยากเจาะเลือด คุณหมอก็มีการตรวจสอบอาหารแพ้ในอีกวิธีหนึ่ง

เจาะเลือดราคาแพง มีอีกแบบเรียกว่า ศาสตร์การแพทย์ฝรั่งโบราณ เพื่อดูพลังงานในอาหารว่าอันไหนเหมาะกับเราหรือไม่เหมาะ เช่น ถ้านมไม่เหมาะจะมีพลังงานเกิดขึ้นจากวิธีการตรวจ เรียกว่า Kinesiology เป็น Energy Medicine จากอาหารที่เป็นพลังงานอย่างหนึ่ง อาหารหรือสสารในโลกล้วนมีพลังงาน เป็นอะไรที่มองไม่เห็นแต่เรารู้ว่ามันมี ถ้าพลังงานไหนเหมาะกับเราก็จะเสริมให้เราแข็งแรงขึ้น มีหลักการ เช่น ถ้าแพ้นมเมื่อเจาะเลือดก็เห็นว่าเป็นนมเลย แต่ตรวจด้วยวิธีนี้ไม่ต้องเจาะเลือด เป็นศาสตร์โบราณด้วยการเหน็บหรือแนบอาหารกับตัว (อาหารใส่ในหลอดแก้วเล็ก วางไว้บริเวณคอหรือไหปลาร้า) แล้วยกแขนออกแรงต้านกับมือของหมอที่จะกดเบา ๆ ตรงต้นแขน ถ้ายกขึ้นแสดงว่าอาหารชนิดนั้นเหมาะกับเรา ถ้ายกไม่ขึ้นเลยหมายถึงอาการแพ้ หรืออาหารนั้นไม่เหมาะกับเรา เป็นพลังงานที่ไม่ถูกกัน

กินให้ถูก ให้พลังงานในอาหารเยียวยาตัวเอง พร้อมดูแลลำไส้ไปด้วย เพราะถ้าลำไส้รั่วใจดวงน้อยก็รั่ว เกิดภาวะซึมเศร้า โรคสมัยใหม่ที่ไม่มีใครอยากเป็น..

20 August 2562

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1796

 

Preset Colors