02 149 5555 ถึง 60

 

ป่วยอัลไซเมอร์..รู้เร็ว ช่วยชะลอ-ยืดอายุได้

ป่วยอัลไซเมอร์..รู้เร็ว ช่วยชะลอ-ยืดอายุได้

อย่างที่รู้กันดีว่าคนอายุหลัง 65 ปีขึ้นไปนั้นเสี่ยงต่อการเป็น “โรคสมองเสื่อม” หรืออัลไซเมอร์กว่าคนวัยอื่นๆ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะความเสื่อมของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะที่สำคัญอย่างสมอง หรือแม้ปัจจัยอื่นรวมด้วย อย่างผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง กระทั่งโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ที่ไปกระตุ้นอาการของโรคให้เป็นมากขึ้น ที่สำคัญหากในครอบครัวมีผู้สูงอายุที่ป่วยจำเป็นได้รับการดูแลจากลูกหลาน ซึ่งบางครั้งอาจกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในครอบครัว ตลอดจนคุณภาพชีวิตของทั้งลูกหลานและผู้ป่วย

พญ.ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคสมองและระบบประสาท รพ.เวชธานี มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม และการดูแลรวมถึงสังเกตอาการเบื้องต้นไว้น่าสนใจ ว่า “สาเหตุของโรคสมองเสื่อมนั้น ร้อยละ 80% เกิดจากภาวะเสื่อมของสมองเอง ซึ่งเป็นไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือบางครั้งการที่คนไข้มีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย อย่างการที่ท่านป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคสมองเสื่อมและการที่สมองเสื่อมแล้ว ก็จะนำมาสู่ภาวะโรคอัลไซเมอร์หรืออาการหลงลืมได้ในที่สุด ทั้งนี้ ระยะเริ่มต้นของการโรคสมองเสื่อมนั้นมีคอนเซ็ปต์ให้จำอย่างง่ายๆ คือ อันที่ 1.พฤติกรรมของคนไข้จะเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีภาวะซึมเศร้า ถามไม่ตอบ เก็บตัว 2.ความทรงจำเริ่มเปลี่ยนแปลง เช่น ถามเรื่องเดิมซ้ำๆ ลืมกุญแจบ้านในที่แปลกๆ เช่น ตู้เย็น ตู้ปลา 3.จากที่เคยชอบแต่งตัวก็ไม่ชอบอาบน้ำ หรือปล่อยเนื้อตัวให้สกปรกเลอะเทอะ กระทั่งบางคนกินข้าวได้ช้าลง หรือแม้แต่การติดกระดุมเสื้อด้วยตัวเองไม่ได้ 4.อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป มีลักษณะอาการก้าวร้าวมากขึ้น โมโหง่าย หรือหงุดหงิดง่ายขึ้น ทั้งนี้อาการที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวเอง แต่จะสร้างความหงุดหงิดและรำคาญให้ลูกหลานหรือผู้ดูแล

“ทั้งนี้ ผู้สูงวัยที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อม และเมื่ออายุ 70 ปีก็จะเสี่ยงเป็นโรคนี้ 5% และหากอายุ 75 ปีก็จะเสี่ยงต่อการป่วยคิดเป็นร้อยละ 10% และอายุ 85 ปี มีความเสี่ยงของโรคอยู่ที่ 25% โดยลูกหลาน 4 คนจะต้องดูแลผู้สูงวัยป่วยอัลไซเมอร์ 1 คน ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้บ้านเราจะต้องเผชิญกับโรคดังกล่าว ประกอบปัจจุบันจำนวนของเด็กที่เกิดใหม่ลดน้อยลง ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวและนำมาสู่การรักษาเบื้องต้นให้กับผู้ป่วย เพราะบางรายที่ป่วยความจำเสื่อมซึ่งมาจากการขาดวิตามิน D12 จากการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง สามารถรักษาโรคสมองเสื่อมให้หายได้ (ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมซึ่งมาจากปัจจัยการขาดวิตามินจากโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณร้อยละ 10-20)

สำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อมนั้น โดยการลดปัจจัยเสี่ยงก่อโรคเป็นวิธีที่ดีสุด เนื่องจากโรคนี้เป็นสิ่งที่แก้ไขหรือรักษาด้วยยาไม่หายขาด 100% ดังนั้นผู้สูงอายุควรงดดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ อีกทั้งการออกกำลังกายสม่ำเสมอ สามารถช่วยชะลอโรคความจำเสื่อมได้ เช่น การเดิน, การว่ายน้ำ, การปั่นจักรยาน หรือการเล่นเกมคิดเลข เล่นเกมจับคู่ กระทั่งการฝึกสมองด้วยการลบเลขไปเรื่อยๆ เช่น 100-97 = 93, 93-7 = 86 ฯลฯ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้สูงวัยคิดหรือใช้สมอง หรือแม้แต่การเล่นไพ่นกกระจอก เป็นต้น ส่วนการบริโภคแปะก๊วยที่ช่วยเรื่องความจำ แม้ยังไม่มีข้อมูล 100% ว่าช่วยได้ แต่ทั้งนี้หมอไม่ได้ห้าม เพราะสามารถรับประทานเป็นตัวเสริมได้ ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันภาวะโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ ยังไม่มีข้อมูลออกมาระบุว่าได้ประโยชน์จริง”

พญ.ศุภมาศบอกอีกว่า “หากลูกหลานพบอาการที่ปัจจัยก่อโรคสมองเสื่อมข้างต้น ให้รีบพาผู้สูงวัยมาพบแพทย์ด้านสมองโดยด่วน เพื่อนำไปการวินิจฉัยและรักษาแบบประคับประคอง แต่หากในรายที่มีอาการมาก แพทย์จะรักษาโดยการตรวจด้วยเครื่องสแกนสมองหรือ MRI เพื่อตรวจดูความเสื่อมของสมองว่าอยู่ในระดับใด ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจได้รับยารักษาเพื่อชะลออาการเสื่อมของสมอง หากว่าตรวจพบภาวะผิดปกติได้ในระยะแรก ทั้งนี้ก็เพื่อชะลอโรคและยืดอายุของผู้ป่วยให้ยืนยาวขึ้น ร่วมกับการดูแลภายนอกด้านอื่นๆ จากลูกหลานที่ต้องอาศัยความเข้าใจ ที่สำคัญผู้สูงวัยนั้นอย่ากลัวการแก่ เพราะมนุษย์เราทุกคนต้องอายุมากขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ที่สำคัญก็ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องสมองเสื่อมและเป็นอัลไซเมอร์มากเกินไป เพราะผู้ใหญ่ที่มีภาวะความเครียดสูงจะเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์ได้ในที่สุด

อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด การยอมรับและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย เป็นตัวป้องกันโรคสมองเสื่อมที่ดีที่สุดว่าไหมค่ะ.

14 August 2562

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1776

 

Preset Colors