02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์ ห่วงยุค 5G คนไทยเสี่ยงภาวะ “สมองเป็นสนิม” เหตุพึ่งไอที ใช้สมองน้อยลง เซลล์ประสาทเสื่อมสลาย

จิตแพทย์ ห่วงยุค 5G คนไทยเสี่ยงภาวะ “สมองเป็นสนิม” เหตุพึ่งไอที ใช้สมองน้อยลง เซลล์ประสาทเสื่อมสลาย

จิตแพทย์ ห่วงยุค 5G อาจทำคนไทยเสี่ยงภาวะ “สมองเป็นสนิม” ไม่รู้ตัว เหตุพึ่งเทคโนโลยี ใช้สมองคิด จดจำ ตัดสินใจน้อยลง ชี้ หากสมองไม่ถูกใช้งานเซลล์ประสาทจะเสื่อมสลายและตายในที่สุด แต่หากฝึกใช้สมองจะผลิตเซลล์ประสาทใหม่ขึ้นเรื่อยๆ แนะ 4 วิธีฝึกลับสมอง

เพราะพึ่งความอัจฉริยะไฮเทคมากไป การใช้สมองเพื่อคิดและจำน้อยลง อาทิ ใช้จีพีเอสช่วยนำทาง บันทึกเบอร์โทรศัพท์ในมือถือ ย้ำควรใช้เท่าที่จำเป็น ควรเพิ่มการฝึกกระตุ้นการใช้สมองทั้งในชีวิตประจำวันและการใช้เกมประเภทช่วยฝึกสมอง อาทิ เกมจับผิดภาพ จิกซอว์ เกมไขว้คำศัพท์ เกมสะกดคำ ระบุหากสมองไม่มีการฝึกกระตุ้นใช้งานเรื่อยๆ จะมีผลให้เซลล์ประสาทที่มีเสื่อมสลายไป เสี่ยงเกิดสมองเสื่อมเร็วขึ้น ขณะนี้พบผู้สูงวัยสมองเสื่อมกว่า 8 แสนคน ส่วนใหญ่รักษาไม่หายขาด

วันนี้ (28 เม.ย.) นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้จัดโครงการพัฒนาระบบมาตรฐานการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน หมู่บ้าน ที่ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมและมีปัญหาด้านพฤติกรรมและจิตใจร่วมด้วย ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งปัญหาด้านพฤติกรรมและจิตใจ เป็นอาการที่เกิดตามมาหลังจากป่วยโรคสมองเสื่อม พบได้สูงถึงร้อยละ 90 ไม่ใช่โรคแสร้งทำของผู้ป่วย และอาจสร้างความเครียดให้ญาติและครอบครัวได้ จึงต้องให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเข้าใจ เพื่อป้องกันปัญหาผู้ป่วยถูกทารุณกรรมและถูกทอดทิ้งจากความไม่เข้าใจของการเจ็บป่วย โดยช่วงปี 2562 จะนำร่องพื้นที่ 2 อำเภอใน จ.สุรินทร์ คือ อ.เมือง และ อ.สีขรภูมิ เพื่อเป็นต้นแบบก่อนขยายผลครอบคลุมทุกพื้นที่ในเขตสุขภาพที่ 9 ในปีหน้า

นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ปัญหาโรคสมองเสื่อม เป็นภัยเงียบทางกายที่มาพร้อมกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ปี 2557 พบผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อม คือ สมองสูญเสียความสามารถในการจำ การคิด สติปัญญา อารมณ์ มีพฤติกรรมและบุคลิกภาพเปลี่ยนไป จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน ทำงานหรือเข้าสังคมได้ พบได้ร้อยละ 8.1 พบในผู้ชายร้อยละ 6.8 ผู้หญิงร้อยละ 9.2 ยิ่งอายุมากยิ่งพบมากเป็นเงาตามตัว เฉพาะเขตสุขภาพที่ 9 คาดว่า จะมีผู้สูงอายุสมองเสื่อมประมาณ 89,000 คน จากผู้สูงอายุ 1.1 ล้านกว่าคน ส่วนภาพรวมทั่วประเทศคาดว่าจะมีกว่า 800,000 คน จากผู้สูงอายุ 10.6 ล้านกว่าคน สาเหตุเกิดจากหลายประการ แต่ที่พบบ่อยและไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงยาชะลอไม่ให้เสื่อมเพิ่ม อันดับ 1 กว่าร้อยละ 80 เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ รองลงมาเกิดจากโรคหลอดเลือดในสมอง ทำให้เนื้อสมองตาย ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตหลังป่วยประมาณ 8 ปี

“สมองเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ประกอบด้วย เซลล์ประสาทมากกว่า 1,000 ล้านเซลล์ ทำงานตลอดเวลาทั้งการควบคุมความคิด ความจำ การตัดสินใจ การเคลื่อนไหว ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ กำกับการเต้นของหัวใจ การหายใจ การย่อยอาหาร การพักผ่อน ปกติเซลล์สมองจะมีโอกาสเสื่อมลงเมื่อเราอายุ 40 ปีขึ้นไปเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ แต่ปัจจุบันมีงานวิจัยพบว่า เซลล์ประสาทจะถูกผลิตสร้างขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ ตลอดเวลาไม่มีหยุด ตราบใดที่มีการฝึกการใช้สมองบ่อยๆ ในทางตรงกันข้ามหากสมองไม่ถูกใช้งาน เซลล์ประสาทจะเสื่อมสลายและตายไปที่สุด” นพ.กิตต์กวี กล่าว

นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า น่าเป็นห่วงว่า การใช้ชีวิตในยุคที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารเจริญก้าวหน้าและใช้ประโยชน์หลายสิ่งในชิ้นเดียว โดยเฉพาะยุค 5 จีที่กระแสกำลังมาแรง ซึ่งจะมีความก้าวหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น เมืองอัจฉริยะ รถยนต์ไร้คนขับ การใช้ระบบจีพีเอส (GPS) ช่วยนำทาง รวมทั้งการใช้เครื่องคิดเลข การบันทึกเบอร์โทรศัพท์ในมือถือ เป็นต้น การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้บ่อยๆ อาจทำให้การใช้สมองเพื่อคิด จดจำ ตัดสินใจน้อยลงเรื่อยๆ และเกิดสภาวะที่คนไทยเรียกว่า สมองเป็นสนิมอย่างไม่รู้ตัวได้ ซึ่งจะมีความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วขึ้น ประชาชนจึงต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง และต้องไม่ลืมฝึกให้สมองแข็งแรงอยู่เสมอ

พญ.อัญชลี ศิริเทพทวี รอง ผอ.ด้านการแพทย์ และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานการบริการผู้สูงอายุ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า วิธีการฝึกสมองเพื่อลดการเกิดสนิมและชะลอการเสื่อม ประชาชนทุกวัยต้องเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทำตั้งแต่ตอนนี้ มีข้อแนะนำ 4 ประการ ดังนี้ 1.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิค คือมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องกันตั้งแต่ 15 นาทีขึ้นไปต่อครั้งอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เดินเร็ว จะให้ผลทำให้การไหลเวียนเลือดดี กระตุ้นการสร้างเซลล์สมอง และปรับสมดุลย์ของสารเคมีในสมอง ช่วยสลายความเครียดไปในตัว ทำให้อารมณ์แจ่มใส

2. ฝึกลับคมสมอง ฝึกกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด เพื่อเพิ่มความสามารถการทำงานให้สมอง เช่น การคิดเลข บวก ลบ คูณ หาร ที่ไม่ใช่เลขจำนวนมากๆ เช่น การคิดค่ากับข้าว ซื้อของใช้รายวันเป็นต้น อาจคิดในใจ คิดในกระดาษ ควรพึ่งเครื่องสมองกลเท่าที่จำเป็น ฝึกการจำเพลงโดยการฟัง ไม่ต้องดูตามเนื้อเพลง ฝึกท่องสูตรคูณ ท่อง ก.ไก่ ฝึกวาดรูป ฝึกการสวดมนต์ เป็นต้น รวมทั้งการฝึกสมองโดยการใช้เกมต่างๆ(Games for the brain) ที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ เช่น เกมจับคู่สิ่งของที่มีความสัมพันธ์กันเช่น จานกับช้อน กระดาษกับดินสอปากกา เป็นต้น, เกมจับผิดภาพที่เหมือนกัน จะทำให้ผู้ที่ดูใช้สมองในการพิจารณาหาความแตกต่างของภาพให้ได้ ซึ่งได้ทั้งความสนุกและความภาคภูมิใจ สามารถเล่นคนเดียวและเล่นเป็นกลุ่มได้ ส่วนวัยเด็กและวัยรุ่นเกมที่ใช้เล่นฝึกกระตุ้นสมองได้ดี เช่น เกมสะกดคำ เกมตัวต่อภาพหรือจิ๊กซอว์ (Jigsaw ) เกมไขว้คำศัพท์ (Crossword) เป็นต้น สามารถเล่นในคอมพิวเตอร์ก็ได้ และยังมีเกมโซโดกุ ซึ่งจะเป็นตัวเลข สามารถเล่นได้ทุกวัย การเล่นเกมประเภทกระตุ้นสมองทุกวัน จะเป็นการออกกำลังกายสมอง กระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองทำงานได้ดี และมีการสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่องด้วย

3. ฝึกทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ เช่น ใช้มือข้างไม่ถนัดจับช้อนทานข้าว จับปากกาหรือดินสอเขียนหนังสือ หรือจับแปรงสีฟันแปรงฟัน ขับรถเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง เป็นต้น

และ 4. กรณีที่เป็นผู้สูงอายุ ควรเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ไม่ควรอยู่จับเจ่าที่บ้านคนเดียว เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย และมีการพบปะพูดคุยกัน การได้สังสรรค์กับผู้อื่น จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้ดีขึ้น

29 April 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2466

 

Preset Colors