02 149 5555 ถึง 60

 

ภัยเงียบที่มาพร้อมกับความเจิดจ้าของแสงอาทิตย์

ภัยเงียบที่มาพร้อมกับความเจิดจ้าของแสงอาทิตย์

ทนไหวไหม...ถามใจดู เมื่ออุณหภูมิประเทศไทยทะลุ 40 องศาไปแล้ว และทำท่าว่าจะร้อนได้อีกตลอดฤดูร้อนอันยาวนานของปีนี้

ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา “ฤดูร้อนปี 2562 จะร้อนกว่าปี 2561 และร้อนกว่าปกติประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส” โดยตัวเลขอุณหภูมิสูงสุดสามารถทำนิวไฮท์ได้จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม

ความร้อนระดับนี้มีผลอย่างไรกับสุขภาพของเราบ้าง เป็นสิ่งที่หลายคนอาจเริ่มรับรู้ได้ แต่ยืนยันชัดๆ จากกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขว่า “คนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคจากความร้อนเพิ่มขึ้นทุกปี”

สภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชากรโลก หากไม่มีมาตรการใดๆ คาดว่าคนไทยจะเสียชีวิตจากความร้อนเพิ่มถึง 6,000 ราย ในปี พ.ศ.2593 และ 14,000 ราย ในปี พ.ศ.2623

สำหรับกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดโดยตรง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้อยู่โดดเดี่ยว เกษตรกร คนงานก่อสร้าง ตำรวจจราจร คนยากจน หญิงตั้งครรภ์ นักท่องเที่ยว และผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้งทั้งหลาย

แต่ใช่ว่าคนที่นั่งทำงานในห้องแอร์ หรือหมกตัวอยู่ในบ้าน จะผ่านพ้น ‘โรค’ จากความร้อนไปได้อย่างง่ายๆ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตแบบไม่รู้ตัว

ร้อนกาย

ได้ยินคำเตือนกันมาเยอะเกี่ยวกับ โรคลมแดด (Heat stroke) หรือภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป อันเกิดจากการสัมผัสกับอากาศที่ร้อนจัดหรือการออกกำลังกายเป็นเวลานานโดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ มีอาการที่สังเกตได้คือ ตัวร้อน อุณหภูมิร่ายกายถึง 41 องศาเซลเซียส บางคนมีเหงื่อออก ขณะที่บางคนอาจไม่มีเหงื่อออก ความดันเลือดลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆ เริ่มล้มเหลว กระสับกระส่าย มึนงง สับสน ชักเกร็ง หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิตในสุด

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นยังมีอีกหลายโรคที่สัมพันธ์กับความร้อน และเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายที่ควรรู้ เริ่มต้นจากอาการเบาๆ ของ ผื่นจากความร้อน (Heat rash หรือ Prickly heat) เกิดจากการที่เหงื่อออกแล้วไม่ระเหยแต่เปียกชื้นตลอดเวลา ทำให้เกิดการสะสมเหงื่อและอุดตัน จนท่อเหงื่อขยายออกและอักเสบเป็นผื่นแดง

อีกหนึ่งอาการที่หลายคนอาจไม่ได้สังเกต คือ บวมจากความร้อน (Heat edema) โดยเฉพาะที่ขา เป็นผลมาจากความร้อนทำให้เส้นเลือดขยายตัว สารน้ำในร่างกายไหลไปรวมอยู่บริเวณข้อเท้าและขาตามแรงโน้มถ่วง มักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันแรกที่สัมผัสอากาศร้อน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ความไม่สมดุลของเกลือในร่างกาย

ตะคริวจากความร้อน (Heat cramps) ก็พบได้บ่อยๆ เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหดตัวและเกร็งอย่างเฉียบพลันบริเวณ ขา แขน และท้อง ทำให้มีอาการเจ็บปวด เกิดจากการสูญเสียเหงื่อเป็นจำนวนมาก จนร่างกายสูญเสียเกลือแร่จากเลือดและกล้ามเนื้อ กรณีนี้หากดื่มน้ำปริมาณมากโดยไม่มีเกลือแร่ทดแทน จะทำให้ความเข้มข้นของเกลือแร่เจือจางลงไปอีก

สำหรับคนที่ไม่เคยชินกับอากาศร้อนเมื่อต้องไปอยู่ในสภาพอากาศร้อนในช่วงแรกๆ อาจเกิดอาการ ลมจากแดด (Heat syncope) ทำให้เป็นลมหมดสติได้ หรือไม่ก็ เพลียแดด (Heat exhaustion) ซึ่งล้วนมีสาเหตุจากการสูญเสียน้ำหรือเกลือแร่จำนวนมากไปกับเหงื่อ โดยการเพลียแดดจะยังคงมีเหงื่อออก อ่อนแ

แต่หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องจะเริ่มมึนงง ชัก หมดสติ ผิวหนังร้อน แห้งและเป็นสีแดง ซึ่งเป็นอาการนำก่อนจะกลายเป็นลมแดด (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เกิดขึ้นเมื่อกลไกการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายไม่อาจทำงานได้อีกต่อไป และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในลำดับต้นๆ ของกลุ่มโรคที่สัมพันธ์กับความร้อนโดยตรง

Heat-stroke

การช่วยเหลือเบื้องต้นคือ ให้นำผู้ที่มีอาการเข้าในร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ถอดเสื้อผ้า ใช้น้ำเย็นประคบบริเวณใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อน ใช้น้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาล

น.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากสภาพอากาศร้อนว่า เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน เช่น เล่นกีฬา และฝึกทหาร เป็นต้น

“ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง และอาจเสียชีวิตได้ จึงขอแนะนำให้งดหรือเลี่ยงออกกำลังกาย ทำงานหรือกิจกรรมกลางแดดจ้าเป็นเวลานาน ถ้าอยู่ในสภาพอากาศร้อนควรดื่มน้ำให้ได้ 1 ลิตร/ชั่วโมง สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฝ้าระวังและดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยเรื้อรังอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงอาจเสียชีวิตได้ง่าย”

ร้อนใจ

อุณหภูมิภายนอกว่าร้อนแล้ว ลองเช็คอุณหภูมิในใจกันดูสักหน่อยว่าพุ่งสูงแค่ไหน

ทั้งนี้เพราะความเครียดจากความร้อนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต โดยการศึกษาปัญหาสุขภาพจิตที่สัมพันธ์กับความเครียดจากความร้อนในช่วงของการเกิดคลื่นความร้อนระหว่างปี พ.ศ.2536-2549 ในประเทศออสเตรเลีย พบการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยในที่เป็นโรคความจำเสื่อม ความผิดปกติทางจิตและอารมณ์อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ผลการศึกษายังบ่งชี้ว่า ความเครียดจากความร้อนยังสัมพันธ์กับอัตราการเพิ่มของพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและการฆ่าตัวตาย ในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนในประเทศอังกฤษและเวลส์ อีกหนึ่งงานวิจัยก็พบในทำนองเดียวกันว่า ความเครียดจากความร้อนทำให้เกิดความเครียดทางจิตใจในกลุ่มคนงาน เนื่องจากผลผลิตของงานลดลงและกิจกรรมประจำวันหยุดชะงักไป

มากกว่านั้น ความเครียดจากความร้อนยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไตจากภาวะขาดน้ำ ทั้งนี้ในภาวะร้อนจัด การระเหยของเหงื่อจำนวนมากจะทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ โดยเฉพาะโซเดียมและคลอไรด์ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณของของเหลวที่อยู่นอกเซลล์ลดลง อันเป็นการเพิ่มความเครียดต่อการทำงานของไตทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง นำไปสู่โรคไตในที่สุด และหากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และนิ่วในไต จะทำให้เป็นโรคไตวายง่ายขึ้น

ผลกระทบอีกประการคือ ความเครียดจากความร้อนจะทำให้เกิดความอ่อนล้า ซึ่งจะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและการบาดเจ็บได้ โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากความเครียดจากความร้อนทำให้เป็นลม สับสน หรือสมาธิเสียไป

นอกจากนี้การศึกษาในต่างประเทศยังพบว่า โรคหลายชนิดสัมพันธ์กับภาวะอากาศร้อนจัด ซึ่งแม้จะไม่เห็นทันทีในเวลาที่อุณหภูมิขึ้นสูงสุด แต่จะส่งผลระยะยาวทำให้เกิดโรคเรื้อรังหลายชนิด หรือส่งผลต่อโรคที่มีอยู่เดิม เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจและโรคไต ทั้งนี้เป็นเพราะการสัมผัสความร้อนนานๆ ทำให้อุณหภูมิแกนกลางสูงขึ้น เลือดจึงไหลไปสู่ผิวหนังมากขึ้น ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจและปอดลดลง จึงเป็นการเพิ่มความเครียดต่ออวัยวะเหล่านี้

ที่สำคัญ ความเครียดจากความร้อนยังส่งผลต่อระบบโลหิต โดยจะทำให้เกล็ดเลือด เม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เลือดมีความหนืดมากขึ้น ในภาวะที่รุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและความดันโลหิตสูงได้ นอกจากนี้การเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพื่อให้ระบายความร้อนออกไปมากขึ้น จะส่งผลให้มีการได้รับสิ่งคุกคามจากสิ่งแวดล้อม เช่น สารมลพิษอากาศและเกสรดอกไม้ที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้มากขึ้นด้วย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงความเครียดจากอากาศร้อนว่า ควรหลีกเลี่ยงการตากแดดและสถานที่ที่ร้อนอับ ดื่มน้ำให้มากๆ และหากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมที่ชอบ หากต้องออกไปนอกบ้าน “อย่าไปใส่ใจกับปัญหาการจราจรที่ติดขัดมากนักให้หากิจกรรมทำ อาทิ ฟังเพลง พูดคุยกับคนที่นั่งมาข้างๆ หรือบางคนที่มาคนเดียวก็ให้โทรหาเพื่อนหรือคนรัก เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดในสภาวะรถติดและอากาศร้อน”

ร้อนตาย

ไม่ใช่คำอุทาน แต่เป็นอุบัติการณ์ที่พบได้ทั่วโลกสำหรับการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับความร้อน ท่ามกลางสภาวะอากาศแปรปรวนที่ส่งผลให้อุณหภูมิทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

summer-heat1

ในรายงานของกรมอนามัยเรื่อง ‘ความร้อน ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพที่ป้องกันได้’ อ้างถึงการศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิสูงในช่วงเกิดคลื่นความร้อนมีความสัมพันธ์กับการตายแบบเฉียบพลัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาเผชิญกับคลื่นความร้อนอย่างรุนแรงในเดือนกรกฎาคม 2538 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 700 ราย ในนครชิคาโก โดยอุณหภูมิสูงสุดของวันอยู่ที่ 34-40 องศาเซลเซียส ในเดือนกรกฎาคม 2549 ในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนมากระหน่ำในแคลิฟอร์เนีย พบว่า มีการตายเพิ่มขึ้นไปจากภาวะปกติที่ไม่มีคลื่นความร้อนระหว่างเดือนมิถุนายนและสิงหาคมถึง 665 ราย

ในยุโรประหว่างคลื่นความร้อนกระหน่ำทั่วยุโรปในปี 2546 พบว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มจากการตายพื้นฐานเฉลี่ยในระหว่างที่ไม่มีคลื่นความร้อนช่วงปี 2541-2545 ใน 16 ประเทศ ถึง 70,000 ราย โดยประเทศที่ตายมากที่สุด คือ ฝรั่งเศส มากถึง 15,000 ราย และต่อมาคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นอีกในปี 2549 ทำให้มีการตายเพิ่มขึ้น 2,000 ราย

ในประเทศออสเตรเลียเกิดคลื่นความร้อนในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 เป็นผลให้เกิดการตายเพิ่มขึ้น 75 ราย และการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 45 ราย ในเมืองบรีสเบน และในเดือนมกราคม 2552 อุณหภูมิขึ้นสูงสุดถึง 43 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 3 วัน เกิดการตายที่เกินไปจากค่าเฉลี่ยการตาย 5 ปี ในเมืองวิคตอเรีย 374 ราย ประเมินว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตที่เกินไปจากปกติ ที่สัมพันธ์กับความร้อนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และอาศัยอยู่ในเมืองหลวงของประเทศออสเตรเลีย 1,100 ราย

ในประเทศจีน พบว่า อุณหภูมิสูงสุดรายวันในเมืองเซี่ยงไฮ้ระหว่างที่เกิดคลื่นความร้อนในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2541 เกิดการตายที่เกินไปจากการตายพื้นฐานระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน จำนวน 258 ราย ในประเทศอินเดียประเมินว่า เกิดการตายที่สัมพันธ์กับความร้อน จำนวน 1,658 คน ในเดือนมีนาคมพ.ศ.2541 และ 1,539 คน ในปี พ.ศ.2546

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ช่วงฤดูร้อน (มีนาคม-พฤศภาคม) ระหว่างปี 2558-2561 มีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 56, 60, 24 และ 18 ราย ตามลำดับ

ปีนี้แม้จะยังไม่มีตัวเลขออกมา แต่เชื่อแน่ว่า...หลายคนคงรู้สึกได้ถึงภัยความร้อนที่กำลังคุกคามความปกติสุขในการดำเนินชีวิต และอันตรายที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด!

25 April 2562

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 5546

 

Preset Colors