02 149 5555 ถึง 60

 

เก็บตกวัยแสบสาแหรกขาด#เมื่อลูกเป็นPerfectionism

เก็บตกวัยแสบสาแหรกขาด#เมื่อลูกเป็นPerfectionism/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วดิฉันเขียนถึงละครเรื่องวัยแสบสาแหรกขาดโครงการ 2 มีพ่อแม่หลายคนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องลูกค่อนข้างหลากหลาย แต่มีกรณีหนึ่งที่ทำให้ดิฉันอยากเขียนถึงคือเรื่องที่แม่คนหนึ่งกำลังเผชิญปัญหาลูกเข้าข่ายเป็น Perfectionism

ยิ่งเมื่อเธอได้ดูละครเรื่องวัยแสบสาแหรกขาดในตอนที่เดินเรื่องผ่านเด็กสาวชื่อ นางสาววีธารี (วี) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นเด็กหญิงที่ดูเพียบพร้อม สมบูรณ์แบบทุกอย่าง เรียนเก่ง ครอบครัวดี มีผลการเรียนดีเยี่ยม จนถึงขนาดเพื่อนๆ เรียกเธอว่า “วีหนึ่ง” แต่ปัญหาที่วีมีคือ ต้องการเป็นที่ 1 ตลอดเวลาและแพ้ใครไม่ได้ มีลักษณะของ Perfectionism ทำให้กดดันตัวเองตลอดเวลา ทั้งเรื่องการเรียน กีฬา ทำทุกอย่างต้องดีที่สุด ความกดดันตัวเองของวีทำให้เพื่อน ๆ ในห้อง กังวลว่าวีจะฆ่าตัวตาย แต่นับว่าโชคดีที่คุณครูได้เข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงที และพาวีเข้าโครงการพิเศษของโรงเรียน เพื่อรีบหาทางช่วยเหลือและคลี่คลายปัญหา

“แม่ผู้นี้” บอกว่าเธอดูละครเรื่องนี้เห็นเด็กสาววี แล้วเหมือนเป็นกระจกสะท้อนลูกสาวของเธอ !

ตอนนี้เธอกำลังเป็นแม่ของลูกสาวที่ต้องย้อนกลับมาดูตัวเอง ว่าเธอเป็นแม่แบบไหนกัน ?

และการหยุดคิดเพื่อตั้งคำถามว่าเธอเป็นแม่แบบไหนกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดใจที่จะยอมรับและพร้อมจะแก้ไขปัญหา เพื่อช่วยเหลือลูกของเธอ

Perfectionism “โรคมนุษย์สมบูรณ์แบบ” คนที่เป็นโรคนี้จะเป็นคนที่ไม่สามารถยืดหยุ่นมาตรฐานอะไรได้ อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม และชีวิตเต็มไปด้วยไม้บรรทัด

เด็กที่มีลักษณะนิยมความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionism มักจะเป็นคนที่เข้มงวดและเคร่งครัดเกินไป ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ ทำอะไรอยู่ในกรอบ ถึงแม้จะดูเป็นเด็กมีวินัย ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบสูง รู้จักวางแผนเป็นขั้นตอน แต่ไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดได้ เมื่อมีอุปสรรคขัดขวาง เขาจะรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจ บางคนแสดงความคับข้องใจออกมาด้วยความก้าวร้าว เพราะไม่สามารถยอมรับต่อสถานการณ์ที่ผิดไปจากที่วางแผนไว้ได้ สุดท้ายก็สะสมเป็นความเครียดและกดดันตัวเองโดยไม่รู้ตัว จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของตัวเด็กเอง

ข้อมูลจาก Medical News Today ระบุว่าจากการศึกษาของ โธมัส เคอร์แรน (Thomas Curran) จากมหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ และคณะได้อธิบายถึงอันตรายของการเป็น Perfectionism ที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิต ว่า สิ่งที่ตามมาจากการยึดติดในความสมบูรณ์แบบ คือปัญหาด้านสุขภาพจิต ได้แก่ ความกังวล ความกดดัน และอาจส่งผลต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ค้นพบว่ามากกว่าครึ่งของคนที่ฆ่าตัวตายเป็นพวกรักในความสมบูรณ์แบบหรือเพอร์เฟค และยังมีการศึกษาอื่นที่พบว่า การฆ่าตัวตายของวัยรุ่นและคนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวมาจากความคาดหวังในตัวเองสูงไป

Curran และคณะ ยังศึกษาด้วยวิธีการเก็บข้อมูลจากนักศึกษามหาวิทยาลัยมากกว่า 40,000 คน ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ตั้งแต่ปี 1989 จนถึงปี 2016 แล้วพบว่า ช่วงวัยรุ่นมีอัตราการเป็น Perfectionism ได้ถึง 33%

อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และก่อให้เกิดแนวโน้มที่ทำให้เลือกฆ่าตัวตายก่อนวัยอันควร และยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วอีกด้วย เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเป็นไบโพลาร์คือ ความวิตกกังวล

นอกจากส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายอีกด้วย การที่ยึดติดกับผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบและการคาดหวังสูง ส่งผลให้เกิดความเครียดตลอดเวลา จนอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นโรคในกลุ่มโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้

เด็กไทยในยุคนี้มีภาวะความเสี่ยงต่อโรคนี้กันมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็ได้รับผลมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการคาดหวังของคนเป็นพ่อแม่ที่ส่งผลโดยตรงต่อลูกที่กลัวทำให้พ่อแม่ผิดหวัง

และส่วนใหญ่มักเป็นความคาดหวังเรื่องการเรียน !

ก่อนหน้านี้เคยมีผลวิจัยการดำเนินชีวิตและทัศนคติเด็กไทย โดยมูลนิธิเพื่อคนไทยเมื่อปี 2557 พบว่าเด็กไทยกว่า 90% ประสบภาวะความเครียด โดยเฉพาะเรื่องการเรียนที่ใช้คะแนนและการสอบเป็นตัวชี้วัด ซึ่งไม่เพียงแค่สอบวัดผลในชั้นเรียน สอบระหว่างภาค สอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ยังลงไปถึงการสอบเข้าของเด็กชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาด้วย

และงานวิจัยยังระบุอีกด้วยว่าทัศนคติเด็กไทยพบภาพสะท้อนสังคม คือ ครอบครัวไทยเน้นปลูกฝังเด็กที่การเรียนมากที่สุด โดยเด็ก 99% ให้คำนิยามเกี่ยวกับความสำเร็จ คือ การได้ผลการเรียนที่ดี หน้าที่การงานที่ดี เงินเดือนที่ดี เด็กไทยยุคนี้จึงถูกครอบงำด้วยทัศนคติที่กลัวว่าจะด้อยกว่าคนอื่นตลอดเวลา ส่งผลให้การใช้ชีวิตส่วนใหญ่จมหายไปกับตำราเรียน การบ้านที่มีอยู่มากมาย จนเด็กไม่ได้วิ่งเล่นสนุกสนานตามวัย

สิ่งที่ตามมา คือ ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งก่อนการสอบ และหลังการประกาศผล ยิ่งเด็กคนไหนสอบตกหรือพลาด ยิ่งเสมือนชีวิตล้มเหลว โดนต่อว่าอับอาย เด็กบางคนอาจรับไม่ได้จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมก็มีให้เห็น

“แม่ผู้นี้” เช่นกัน เธอเล่าให้ฟังว่าลูกสาวเธอเป็นคนหัวดี และเธอก็เชื่อว่าถ้าลูกของเธอตั้งใจจริง ลูกเธอจะสามารถเป็นหมอได้แน่ และเธอก็ยอมรับว่าเธอใส่ความคาดหวังไปที่ตัวลูกสาวเต็มๆ ตอนนี้เธอมารู้สึกสะดุดตัวเองจากการดูละครเรื่องวัยแสบสาแหรกขาดโครงการ 2 และลูกสาวของเธอก็กำลังประสบปัญหาเดียวกับวีหนึ่ง

แล้วสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรรับมือล่ะ ?

หนึ่ง -ปรับทัศนคติของตัวเองก่อน

สิ่งแรกที่ต้องทำคือพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องปรับใจและทัศนคติของตัวเองก่อนว่าชีวิตลูกเป็นของเขา พ่อแม่ ผู้ปกครองมีหน้าที่ในการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ส่งเสริมพัฒนาการอย่างรอบด้าน ให้เขาได้เติบโตสมวัยและรู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ทำสิ่งใดได้ดี และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในแบบของเขา อย่าพยายามคิดว่าลูกเป็นของเราหรือยัดเยียดให้ต้องทำตามที่พ่อแม่ต้องการเท่านั้น การทำความเข้าใจและยอมรับในตัวลูกมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างภูมิต้านทานในตัวลูก

สอง - ฝึกให้ลูกชนะได้ก็แพ้ได้

พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าในทุกเรื่องมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ การชนะในวันนี้ไม่ได้หมายว่าความจะชนะตลอดไป เพราะเมื่อมีคนชนะก็ย่อมต้องมีคนแพ้เสมอ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีโอกาสชนะและแพ้ได้เท่า ๆ กัน ผู้ชนะก็ควรชื่นชมผู้แพ้ ในขณะเดียวกัน เมื่อแพ้ก็ควรยินดีกับผู้ชนะ ลูกต้องรู้จักการเป็นทั้ง “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” แล้วลูกจะเข้าใจความรู้สึกและไม่ยึดติดกับการต้องเป็นผู้ชนะเท่านั้น และเมื่อแพ้ ก็ต้องไม่สิ้นหวัง ต้องมีพลังและทัศนคติที่จะผลักดันให้มีความพยายามในครั้งต่อไป

สาม-มองลูกด้วยสายตาความเป็นจริง

ต้องประเมินศักยภาพลูกของเราด้วยสายตาที่เป็นจริง ไม่ใช่สายตาที่พ่อแม่อยากให้เป็น เพราะมันจะมีความแตกต่างกันมาก ถ้าลูกของเราไม่ใช่เด็กหัวดีประเภทหน้าห้อง ก็ควรส่งเสริมให้ลูกตั้งใจเรียนให้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ และมีความสุขกับการเรียน อย่าพยายามกดดันเปลี่ยนตัวตนของลูกด้วยการให้ลูกเรียนพิเศษเพื่อจะได้เรียนเก่งเหมือนคนอื่น เปลี่ยนเป็นส่งเสริมให้ลูกเรียนหนังสืออย่างมีความสุข ไม่กดดัน โดยพ่อแม่เข้าไปมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เขารับผิดชอบต่อการเรียนของตัวเอง ทำให้เต็มที่ และให้ความมั่นใจกับลูกว่า ไม่ว่าผลการเรียนออกมาจะเป็นอย่างไรถ้าลูกทำเต็มที่แล้ว พ่อแม่ก็ภูมิใจในตัวลูก

สี่-ลดความคาดหวังลง

กรณีที่ลูกเรียนเก่งอยู่แล้ว ก็มักเป็นที่คาดหวังของพ่อแม่ อยากให้ได้เรียนที่ดีๆ ได้เกรดดีๆ แต่สำหรับคนที่เรียนไม่ดี พ่อแม่ก็ควรลดความคาดหวังลง ไม่ต้องถึงขนาดเคี่ยวเข็ญมาก เพราะจะทำให้ลูกไม่ต้องกดดันมากจนเกินไป เขายังสามารถเดินตามความฝันของเขาได้เต็มที่แบบไม่ต้องเครียด

ห้า- อย่าเปรียบเทียบ

กรณีครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน พ่อแม่ต้องระมัดระวังความรู้สึกของลูกอีกคนด้วย ถ้าจะชื่นชมลูกคนโตก็ควรสอนให้ลูกอีกคนชื่นชมยินดีและให้กำลังใจพี่คนโตด้วย และพยายามทำให้อยู่บนความพอดีพอเหมาะ ไม่ใช่ออกนอกหน้า โดยไม่ได้สนใจความรู้สึกของลูกอีกคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ ด้วยหรือแม้แต่นำไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ก็ไม่ควรทำ เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความสามารถเฉพาะตัว และมีพื้นนิสัยที่แตกต่างกันอยู่แล้ว

หก- เรียนรู้แบบมีเป้าหมาย

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่สามารถปลูกฝังและสอดแทรกไปกับการเรียนรู้เรื่องแพ้-ชนะ คือ ความมุ่งมั่นที่จะไปสู่เป้าหมาย โดยใส่ใจในรายละเอียดระหว่างทางด้วย ให้เขาได้เห็นความสำคัญของทักษะชีวิตในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ความอดทน ความพยายาม การเรียนรู้ความผิดพลาด ฯลฯ รวมไปถึงการฝึกให้เขามีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอย่างมีแบบแผน

จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่ยืนยันว่าเด็กกลุ่ม perfectionism แก้ไขได้หากพื้นฐานความเข้าใจภายในครอบครัวดีและอยู่ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองจะใช้สายตาแบบไหนในการมองลูก

นี่ก็เป็นอีกสารัตถะชวนคิดที่ได้มาจากละครน้ำดีเรื่องนี้

24 April 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2535

 

Preset Colors