02 149 5555 ถึง 60

 

กฎหมายเฉพาะเพิ่มโทษ หยุด! ความรุนแรงในโรงพยาบาล

กฎหมายเฉพาะเพิ่มโทษ หยุด! ความรุนแรงในโรงพยาบาล

วัยรุ่นยกพวกตะลุมบอนเข้าทำร้ายคู่อริในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล นับวันยิ่งเกิดบ่อย และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่า “พื้นที่สันติภาพ” มีสัญลักษณ์เป็นพื้นขาวกากบาทแดง ในยามเกิดสงคราม ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย กำลังจะถูกทำลายลง...

สะท้อนถึงความเลวร้าย มักเกิดในโรงพยาบาลภาครัฐ กำลังกลายเป็นพื้นที่ “เสี่ยงภัย” ต่อผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ หน่วยรักษาพยาบาล ต้องปฏิบัติหน้าที่กันอย่างระแวง หวาดกลัวภัยอันตรายที่จะเข้ามาถึงตัว...ซ้ำร้าย...แต่ละวันยังต้องเผชิญผู้ป่วยและญาติที่มีอารมณ์ความรุนแรง ก้าวร้าวคุกคาม ไม่ว่าจะมาจาก คำพูด การทำร้ายร่างกาย หรือทำลายข้าวของอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะความไม่พอใจระหว่างรอการรักษา กลายเป็นปัญหาหมักหมมกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ในระยะสั้น...ระยะยาว

ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผช.เลขาธิการแพทยสภา ให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลทั่วประเทศถือเป็นพื้นที่สาธารณะ มีความปลอดภัยสูงสุด เพราะเป็นสถานที่ซึ่งให้การช่วยเหลือชีวิตคนเจ็บป่วย หรือผู้ประสบอุบัติเหตุตลอด 24 ชม. และไม่มีขั้นตอนคัดกรองในโรงพยาบาล เพราะทางการแพทย์มองว่า ทุกคนเข้ามาสถานที่แห่งนี้คือ...

ผู้บริสุทธิ์...เดือดร้อนใจ เดือดร้อนกาย ต้องให้การช่วยเหลือเร่งด่วน

ทว่า...กลับกลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรงในโรงพยาบาลทุกระดับ ทั่วประเทศ รวมถึงความรุนแรงต่อบุคลากรปฏิบัติหน้าที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งพบจากข่าวตามสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต...

ในลักษณะการทำร้ายด้วยวาจา ตั้งแต่การพูดจาว่ากล่าว ด่าทอ ดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม ข่มขู่ ตะคอก สัมผัสตัวโดยไม่มีเหตุอันควร ผลัก ดึง ลาก กระชาก เตะ ตบ ตี ขว้างปาใส่ด้วยวัตถุ

มีความรุนแรงถึงขั้นติดตามไปนอกโรงพยาบาลหลังเลิกงาน หวังทำร้ายร่างกายด้วยซ้ำ!

สาเหตุเพราะการใช้บริการอาจรอรับการตรวจนานเกินไป หรืออาจไม่ได้รับความประทับใจตามคุณภาพที่ต้องการ จนเกิดอารมณ์แสดงออกมาทางวาจา หรือทางร่างกายต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน...

บ่งชี้ให้เห็นว่า...ความรุนแรงต่อบุคลากรในโรงพยาบาลเกิดทุกวัน และมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลมีนโยบายเน้นให้สิทธิกับผู้ป่วย แต่ไม่มีข้อกำกับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยหรือญาติ

ทำให้ทุกคนมุ่งแต่จะเรียกร้องตามสิทธิตัวเอง ลืมมองถึงสิทธิบุคลากรทางการแพทย์ในขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นด้วย จนโรงพยาบาลกำลังเป็นสถานที่ทำงาน...“เสี่ยงอันตราย” ไม่มีความปลอดภัย

หากเป็นเช่นนั้นบุคลากรอาจปฏิเสธการทำงาน ถ้ามีเหตุอันเชื่อได้ว่า พวกเขาไม่ได้รับความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน

ผศ.นพ.เมธี ให้ข้อมูลต่ออีกว่า ปัจจุบันภัยคุมคามในโรงพยาบาลมีอันตรายมากที่สุด คือจากบุคคลภายนอกเข้ามาใช้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ก่อเหตุ ส่วนใหญ่มักเป็นวันรุ่นมึนเมาสุรา ก่อเหตุจากพื้นที่อื่น...มีคู่กรณีได้รับ บาดเจ็บถูกส่งเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล และตามมาทำร้ายซ้ำ

ยกตัวอย่าง...ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ พบมีกลุ่มวัยรุ่นฉลองสงกรานต์ เกิดเขม่นกับอีกฝ่าย จนทะเลาะวิวาท มีผู้บาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาล แล้วตามมาทำร้ายคู่อริ ตะลุมบอนกันต่อที่หน้าห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลกบินทร์บุรี โรงพยาบาลแก้งคร้อ โรงพยาบาลห้วยแถลง โรงพยาบาลบางสะพานน้อย

สาเหตุหนีไม่พ้นมาจาก...ดื่มสุรา... “น้ำเปลี่ยนนิสัย” จนมึนเมา...พอเริ่มเมาชักเพี้ยนเปลี่ยนนิสัย จากคนดีเปลี่ยนไปเป็นอีกคน กลายเป็นบ้าอาละวาด...มองเห็นงูเท่าแมลงวัน

“เมื่อเมาขาดสติ...ก็ไม่สนใจใคร...บุกเข้าไปทำร้ายผู้อื่นในสถานที่ราชการ ท้าทายกฎหมาย ทำลายความสงบสุขของสังคม เพราะโรงพยาบาลเป็นที่พึ่งของคนเจ็บป่วย มีเพียงแพทย์ พยาบาล ล้วนทำหน้าที่กันหนัก มีความเครียดพออยู่แล้ว แต่วัยรุ่นบุกเข้าทำร้ายคู่อริอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย”

สร้างความหวาดกลัว เกิดความเครียดเรื่องความปลอดภัยเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

“ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ 5 โรงพยาบาลนี้ที่เกิดเหตุใช้โรงพยาบาลเป็นสนามประลองกำลัง แต่ยังมีโรงพยาบาลตามอำเภอ ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นอีกมากมาย เริ่มเกิดเหตุถี่กว่าเดิม แบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่สนใจว่ามีประชาชนเดือดร้อน สร้างความเสียหายให้ทรัพย์สินทางราชการมากมาย” ผศ.นพ.เมธีว่า

จะเห็นได้ว่า...การก่อเหตุความรุนแรงในสถานที่ราชการถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ที่ผ่านมาไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และไม่มีการดำเนินการจับกุม จริงๆแล้วเรื่องนี้ต้องกล่าวโทษ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้บริหารโรงพยาบาล อาจจะไม่ต้องการลงโทษผู้ก่อเหตุ ส่วนใหญ่มักจบแบบสไตล์คนไทยคือ

การประนีประนอมยอมความ หรือการไกล่เกลี่ย...ลงเอยด้วย “การขอโทษ” และไม่ดำเนินคดี

และ...มีบางกรณี สถานพยาบาลประสงค์ที่จะดำเนินคดีลงโทษ แต่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติไม่ดำเนินการ กลับเรียกผู้ก่อเหตุมาพูดคุยให้จบเรื่องแบบง่ายๆ ทำให้ผู้ก่อเหตุคิดว่าก่อเหตุรุนแรงแค่ไหน

บทสุดท้ายก็เรียกมา “พูดคุยขอโทษ มอบดอกไม้ ก็จบเรื่องไป”

เทียบกับโรงพยาบาลต่างประเทศ มีความปลอดภัยขั้นสูงสุด และประชาชนบ้านเขาให้เกียรติบุคลากรทางการแพทย์ หากมีความรุนแรงต้องดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดทันที จะไม่ยอมปล่อยให้เกิดขึ้น...

สิ่งสำคัญมีการเก็บข้อมูลความรุนแรงในโรงพยาบาลทุกรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ สรุปสาเหตุแก้ปัญหาให้ถูกจุด หรือออกข้อกฎหมายมาบังคับใช้...

เช่น ประเทศสิงคโปร์ หรือประเทศจีน มีกฎหมายเฉพาะเรื่องทำร้ายบุคลากรในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ หรือในโรงพยาบาล ไม่ว่าด้วยการข่มขู่ หรือใช้สถานพยาบาลก่อเหตุความวุ่นวาย มีบทลงโทษแยกออกมาจาก กฎหมายอาญา หรือเรียกกันว่า “กฎหมายเฉพาะ...เพิ่มโทษหลายเท่า”

ย้อนมาที่ประเทศไทย มีกฎหมายบทลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น แต่ไม่มีกฎหมายเฉพาะในการป้องกันบุคลากร หรือสถานพยาบาล ส่งผลให้เกิดปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายตามมา...

สิ่งที่แพทยสภาต้องการมากที่สุด เรื่องการเก็บตัวเลขความรุนแรงในโรงพยาบาล เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด นำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายและออกกฎหมายเฉพาะ เพราะไม่ต้องการให้มีความสุ่มเสี่ยงเกิดกับบุคลากร มีความหวาดอันตราย อาจมีผลต่อศักยภาพการทำหน้าที่ลดลงตามมาด้วย

ในช่วง 10 ปีมานี้ เคยมีเหตุวัยรุ่นใช้อาวุธปืนยิง และใช้มีดคมไล่ฟันกันในห้องฉุกเฉินบ่อย ทำให้แพทย์ พยาบาลหลายคนเกรงกลัว ยอมลาออก หรือย้ายไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมักใช้มาตรการป้องกัน ด้วยการขอความร่วมมือ แต่ไม่เคยได้รับผลตอบรับ ยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น เมื่อขอความร่วมมือกันไม่ได้ก็ต้องใช้กฎหมายมาบังคับใช้ เพราะความปลอดภัยของบุคลากร รวมถึงผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลถือว่ามีความสำคัญที่สุด

...ไม่อยากให้มีใครถูกลูกหลง เกิดการสูญเสีย ค่อยมีมาตรการป้องกัน “วัวหายล้อมคอก”

ทางออกที่ดีที่สุดคือ บังคับใช้กฎหมายเท่าที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด ผู้บริหาร ต้องแสดงจุดยืนในการปกป้องบุคลากรอย่างแน่ชัด ประสานกันระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจ ว่าต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และประสานงานกับอัยการ ศาล เพื่อหาแนวทางการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

ถ้ายังแก้ไม่ได้...ก็คงถึงเวลา อาจต้องคิดถึงการออกกฎหมายเฉพาะแบบต่างประเทศ

เข้ามาช่วยทำให้ “แพทย์”...“พยาบาล” มีความอุ่นใจ และจะเป็นผลดีต่อ “ผู้ป่วย” ตามมา.

22 April 2562

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2630

 

Preset Colors