02 149 5555 ถึง 60

 

ระวัง! อย่าเป็นคนสติแตก

ระวัง! อย่าเป็นคนสติแตก

หลายคนอาจจะเคยเป็นหรือเคยพบเห็นคนใกล้ตัวที่อยู่ๆ ก็ระเบิดอารมณ์โกรธเกรี้ยว ขาดสติ ทำอะไรแบบไม่ยั้งคิด ทั้งโดยการใช้คำพูดเสียหายด่ากราดคนไม่เลือกหน้า ออกกำลังด้วยการขว้างปาทำลายสิ่งของจนเสียหาย นั่งเซื่องซึมเหม่อลอยหรือร้องไห้คร่ำครวญกรีดร้องเหมือนคนเสียสติ จนคนรอบตัวหวาดผวาไม่กล้าเข้าใกล้ไปช่วงระยะเวลาหนึ่งเลยทีเดียว หากเคยเห็นหรือเคยเป็น..นี่เองที่เรียกว่า คนสติแตก

ภาวะสติแตกเป็นคำเรียกทั่วไปที่แสดงถึงภาวะทางจิตใจ อาการทางร่างกายและพฤติกรรมที่แสดงออกชั่วคราวเพื่อทำการตอบสนองต่อความวิตกกังวลหรือความเครียดอย่างรุนแรง ซึ่งแม้จะไม่ถูกนับรวมว่าเป็นโรคทางจิตเวช แต่ถือเป็นสัญญาณเตือนของอาการเจ็บป่วยทางจิตใจที่เรารู้จักกันดี เช่น โรคซึมเศร้า โรคแพนิค หรือโรคไบโพลาร์ ที่ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องตามลำดับ

แรงผลักดันที่ทำให้คนเราตกอยู่ในความเครียดรุนแรงเกินปกติจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ระเบิดอารมณ์จนแตกเป็นเสี่ยงๆทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวนั้น มักมีสาเหตุจากการเผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และมีผลทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างที่คาดหวัง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เกิดความรู้สึกผิดหวังเสียใจต่อเรื่องบางเรื่องอย่างรุนแรง นั่นเอง

เรื่องที่ทำให้รู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดความเครียดและความกดดันของคนเราอาจแตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดหนีไม่พ้นความคับข้องใจในชีวิตเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว ความรัก การงาน การเงิน การเรียนหรือสุขภาพ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกะทันหัน เช่น คนที่รักจากไป ตกงาน เงินไม่พอใช้จ่าย รู้ว่าป่วยเป็นโรคร้ายแรง บางคนมีปากเสียงกับคนในครอบครัว หรือได้รับการดูถูกเหยียดหยามจนรู้สึกด้อยค่า

มีบางเรื่องที่ดูเหมือนจะไกลตัวออกไปแต่ทำให้คนเราสติแตกได้เช่นกัน การถูกรุกล้ำกรอบความคิดหรือความแน่นแฟ้นของความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน การท้าทายความเชื่อในระเบียบความดีงามทางสังคมหรือความชื่นชอบทางการเมืองจนเกิดการลุกฮือขึ้นทำร้ายกัน ก็มีตัวอย่างให้เห็นถึงภาวะขาดสติของผู้คนมาแล้วมากมาย ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนมีผลบั่นทอนสภาพจิตใจของคนเราแทบทั้งสิ้น

แม้จะมีคำอธิบายได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกลไกป้องกันตัวเพื่อความอยู่รอดตามธรรมชาติของคนเราเมื่อเกิดความเครียดรุนแรงและไม่รู้ว่าจะระบายออกมาได้อย่างไร สมองจะช่วยปรับสภาพการรับรู้ชั่วคราวโดยการเปลี่ยนแปลงระดับสารเคมีในสมองซึ่งส่งผลให้เกิดการรับรู้ที่แตกต่างออกไปในขณะนั้นเพื่อพาเราออกจากสภาวะที่กดดัน โดยหาวิธีปลดปล่อยพลังงานออกไปหรือหยุดนิ่งเหม่อลอยคิดถึงเรื่องที่มีความสุข

แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากตกอยู่ในภาวะสติแตกที่สะท้อนออกมาจากพฤติกรรมซึ่งรับมือได้ยากและไม่เป็นที่พึงประสงค์ของคนรอบตัวและเพื่อนร่วมงานจนทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก เนื่องจากการจมอยู่กับความวิตกกังวลและความรู้สึกสิ้นหวัง ขาดพลังงานและแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตประจำวัน ล้วนมีผลต่อสถานะความน่าเชื่อถือ สมรรถภาพในการทำงาน และความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับบุคคลอื่นด้วย

นอกจากนี้ อาการทางร่างกายที่ตอบสนองต่อความเครียดรุนแรงยังส่งผลกับปัญหาสุขภาพในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นภาวะความดันโลหิตสูง ระบบลำไส้และทางเดินอาหารแปรปรวน โรคอ้วนจากความอยากอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ด้วยเหตุนี้ หากรู้สึกว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในภาวะสติแตกจนอาจเป็นอาการของโรคทางจิตเวช ก็ควรพบจิตแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณีเรื่องราวอาจไม่ได้ดูแย่อย่างที่คิดและไม่จำเป็นว่าต้องเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจเสมอไป คงไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรที่คนเราจะรู้สึกว่ามีบางเรื่องที่ไม่สามารถรับมือหรือจัดการกับปัญหาและความเครียดในชีวิตได้ในบางครั้ง การยอมรับความเป็นไปและตั้งสติไม่ปล่อยอารมณ์ข้ามเขตอันตราย ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตสักเล็กน้อยก็ดูจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ลองทำตามคำแนะนำ 5 ข้อต่อไปนี้

1.ยิ้มรับความเป็นไป ประเมินตัวเอง รู้จักปล่อยวางและยืดหยุ่นกับความคาดหวังให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แยกแยะและตระหนักถึงสิ่งที่สามารถเราควบคุมได้และไม่ได้ออกจากกัน ยิ้มรับความเป็นไปหากมีบางสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมหรือมีสิ่งที่พยายามทำเต็มความสามารถแล้วแต่ไม่เป็นดังที่หวัง

2.สร้างความมั่นใจในตัวเอง พยายามหลีกเลี่ยงหรือออกจากสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด แล้วจัดสรรเวลาทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ตัวเองชื่นชอบ ที่มีความสนใจ หรือสิ่งใหม่ๆที่ได้ท้าทายพลังความคิดและความสามารถเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจและตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง

3.สร้างช่องทางระบายความเครียด ภาวะสติแตกเป็นการระบายความเครียดตามกลไกทางร่างกายที่สามารถเลี่ยงได้เมื่อเราสร้างช่องทางระบายอื่นขึ้นมาแทน เช่น พูดคุยกับคนที่รักและห่วงใยเราซึ่งสามารถให้แง่คิดดีๆมากกว่ายุยง อาจเดินทางท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมผ่อนคลายที่สร้างรอยยิ้มและความสุข

4.ฝึกฝนความคิดและสมาธิ มองโลกในแง่ดีและคิดแต่สิ่งดีๆเสมอ ทุกปัญหามีทางออกให้ค่อยๆคิด ค่อยๆแก้ไขไปทีละเรื่อง การหมั่นฝึกฝนสมาธิด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การอยู่กับปัจจุบันด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออกช้าๆ จะช่วยให้จิตใจสามารถจดจ่อกับตัวเองและสิ่งที่ทำจนมีสติรู้ตัวคิดดีทำดีได้

5.ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและการพักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากจะช่วยสร้างเสริมสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงเพื่อลดความกังวลจากการเจ็บป่วยแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วยการมุ่งมั่นใส่ใจในการดูแลตัวเองอีกทางหนึ่งด้วย

คำแนะนำ 5 ข้อข้างต้นนี้ เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกายและจิตใจของเราได้ผ่อนคลาย หลีกหนีจากความเครียดและความวิตกกังวลไปได้ อย่างไรก็ตามยังมีอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจมหาศาลคือ ความเข้าใจของคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดที่จะช่วยประคับประคองให้ทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ได้

1 April 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 96587

 

Preset Colors