02 149 5555 ถึง 60

 

รู้จัก..โรคย้ำคิดย้ำทำ ความคิดซ้ำๆ ที่นำสู่การกระทำเดิมๆ

รู้จัก..โรคย้ำคิดย้ำทำ ความคิดซ้ำๆ ที่นำสู่การกระทำเดิมๆ

ปิดน้ำหรือยัง ปิดแก๊สหรือยัง...ถอดปลั๊กหมดแล้วใช่ไหม!? เป็นพฤติกรรมที่หลายคนต้องคอยตรวจเช็กความเรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินเรานั่นเอง แต่ถ้าหากคุณเป็นคนที่กังวลกับเรื่องแบบนี้มากจนเกินไปจนรู้สึกไม่มีสมาธิจะทำงานทำการใดๆ แม้ว่าจะตรวจสอบดีแล้ว แต่คุณก็ยังคงคิดวนเวียนต่อไปไม่เลิกว่าทำหรือยัง หลงๆ ลืมๆ และชอบคิดซ้ำๆ ทำซ้ำๆ หากมีอาการแบบนี้คุณ ควรรีบตรวจเช็กตัวเองให้ดีเลยว่ากำลังเสี่ยงจะเป็น “โรคย้ำคิดย้ำทำ” หรือไม่

โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ Obsessive-Compulsive Disorder (OCD)

เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดซ้ำๆ ทำให้เกิดความรู้สึกกังวลใจ และมีการตอบสนองทางความคิดด้วยการทำอะไรซ้ำๆ เพื่อลดความกังวลนั้น

ผู้ป่วยเป็นโรคนี้มักจะรู้ตัวว่าพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำของตัวเองไม่มีเหตุผล เสียเวลา แต่ก็ไม่สามารถหยุดความคิดและพฤติกรรมนั้นๆ ได้ ทำให้เกิดความเครียด บางรายอาจมีโรคซึมเศร้าพ่วงมาด้วยเลยก็ได้

สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำนี้เกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน คือ

-ความผิดปกติทางสมอง และระบบประสาทที่มีการทำงานบกพร่อง

-สาเหตุทางพันธุกรรม ที่อาจถูกถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูก

-สภาพแวดล้อม ผู้ป่วยอาจเจอเหตุการรุนแรงในวัยเด็ก ถูกทารุณกรรมทั้งทางกายและทางใจ หรือปัญหาชีวิตที่รุณแรงก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำจะมีการแสดงอาการตามชื่อโรคเลย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.อาการย้ำคิด คือ มีความคิดวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็เกิดจากการจินตนาการไปเองว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น ส่วนใหญ่มักจะมีพื้นฐานมาจากความกลัวของผู้ป่วยเอง ถึงแม้ตัวผู้ป่วยจะรู้ซึ้งอยู่แก่ใจก็ตามว่าสิ่งที่คิด สิ่งที่กังวลนั้นไร้สาระ ไม่มีเหตุ แต่กลับไม่สามารถหยุดความคิดนั้นได้

ตัวอย่างความคิดซ้ำๆ ที่เกิดจากโรค เช่น

-คิดว่าลืมล็อกประตูบ้าน ลืมปิดเตาแก๊ส

-กลัวความสกปรก เชื้อโรค หรือกลัวการสัมผัสสิ่งของหรือตัวผู้อื่น

-ไม่สบายใจเวลาเห็นของไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นหมวดหมู่

2.อาการย้ำทำ คือ การตอบสนองความคิดความกังวลนั้นด้วยการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ลดความไม่สบายใจหรือความกลัวนั้นลง โดยตัวผู้ป่วยเองก็ไม่สามารถหยุดการกระทำของตัวเองได้เช่นเดียวกับความคิด ทำให้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก บางคนถึงกับเครียดจนทำงานไม่ได้ หรือกลัวการออกไปข้างนอกเลยทีเดียว

ตัวอย่างการทำซ้ำๆ ที่เกิดจากโรค เช่น

-ตรวจเช็กประตูบ้าน หรือเตาแก๊ส เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ลืมปิด บางคนถึงขั้นที่ย้อนกลับจากที่ทำงานมาตรวจดูเลยทีเดียว

-ล้างมือหรืออาบน้ำบ่อยเกินไป บางทีอาจใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หรือสวมถุงมือเวลาที่ต้องออกนอกบ้าน

-จัดสิ่งของให้เป็นระเบียบ แยกเป็นหมวดหมู่ หันไปทางเดียวกันอยู่เสมอ

ถึงแม้ว่าโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันนี้ก็มียาที่สามารถช่วยบรรเทา และควบคุมอาการอยู่เช่นกัน รวมถึงการรักษาโดยการบำบัดด้วย

การใช้ยาโดยปกติยาที่แพทย์มักใช้กับผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำนี้มักจะใช้ยาในกลุ่มแก้โรคซึมเศร้า ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบซีโรโทนิน (Serotonin) ยากลุ่มนี้มักจะมีผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ยาคลายกังวลเพื่อช่วยลดอาการวิตกของผู้ป่วย รวมถึงยาต้านโรคจิตซึ่งมักใช้ควบคู่ไปกับยาแก้ซึมเศร้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษานั่นเอง

การบำบัด วิธีการนี้แม้จะยุ่งยากกว่าการใช้ยาและต้องใช้เวลานาน แต่ก็เป็นวิธีที่ดี เพราะเป็นการแก้จากพฤติกรรมและความคิดของผู้ป่วยให้สามารถเลิกคิดไปเอง และชินกับสิ่งที่กลัว เช่น ให้ผู้ป่วยจับสิ่งของที่เขาคิดว่าสกปรก ทิ้งไว้สักพักแล้วค่อยให้ล้างมือ จากนั้นก็ทำซ้ำๆ โดยเว้นระยะห่างในการให้ล้างมือไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้ป่วยชินและต่อสู้กับความกลัวได้

โดยการใช้วิธีบำบัดนี้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากสิ่งที่ผู้ป่วยกลัวไม่มาก แล้วค่อยเพิ่มระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ให้เวลาปรับตัว การที่จะเปลี่ยนความคิดคนให้เลิกกลัวในสิ่งที่เขากลัวนั้นยาก แต่ถ้าให้เวลากับการปรับตัวมากพอ เขาก็จะเริ่มชินและปรับตัวได้ ทำซ้ำๆ ทำให้ผู้ป่วยชินชากับความกลัวที่มากเกินไปนั้นบ่อยๆ แล้วสักวันเขาก็จะเลิกกลัวไปเอง โดยคนรอบข้างที่คอยช่วยฝึกให้ผู้ป่วยก็ต้องมีความอดทนด้วยเช่นกัน เพราะหากใช้อารมณ์หรือมีความเครียดก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยหมดกำลังใจในการรักษา

การจะหาวิธีป้องกันตนเองจากโรคนี้ยังไม่แน่ชัดนัก แต่การรีบไปพบแพทย์และหาทางรักษาเมื่อพบว่าตนเองมีอาการก็ช่วยลดความรุณแรงของโรคได้ นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการลดความรุณแรงที่สามารถทำเองได้ด้วย

-รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

-ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ออกไปทำงาน ไปเจอเพื่อน เจอสังคม

-เลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวนั้น และทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ

-เรียนรู้วิธีการรับมือกับโรค ปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ มีความอดทนกับการเข้ารับการบำบัดและฝึกตัวเอง

-กินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และเมื่อพบว่ารับมือไม่ไหวให้รีบพบแพทย์ทันที

14 March 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 46573

 

Preset Colors